เตือนผู้เดินทางโดยรถโดยสารในช่วงปีใหม่ระวังถูกเอาเปรียบ ผู้บริโภคมีสิทธิเลือกใช้รถโดยสารที่มีคุณภาพ เพื่อความปลอดภัยและเป็นธรรม

ภาพข่าวระวังรถโดยสารเอาเปรียบ 01

เตือนผู้เดินทางโดยรถโดยสารในช่วงปีใหม่ระวังถูกเอาเปรียบ จากการขายตั๋วเกินราคา ไม่ให้ตั๋วโดยสาร นำรถเสริมที่ไม่ได้รับอนุญาตมาวิ่ง และขายตั๋วเก้าอี้เสริม ด้านผู้บริโภคมีสิทธิเลือกใช้บริการรถโดยสารที่มีคุณภาพ ตามสิทธิของผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ แนะตรวจสอบอุปกรณ์ความปลอดภัยบนรถและคาดเข็มคัดนิรภัยป้องกันอุบัติเหตุ

​            นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ในช่วงปีใหม่จะมีการเดินทางกลับภูมิลำเนาหรือท่องเที่ยวต่างจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นรถส่วนตัวหรือรถโดยสารสาธารณะต่างๆ ซึ่งเป็นช่วงที่ต้องระวังอุบัติเหตุเป็นอย่างมาก เนื่องจากสถิติของการเกิดอุบัติเหตุทางถนนค่อนข้างสูง โดยสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ ปี 2563 ระหว่างวันที่ 27 ธ.ค. 63 - 2 ม.ค. 64 เกิดอุบัติเหตุรวม 3,421 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 373 ราย ผู้บาดเจ็บ 3,499 คน ส่วนสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 ระหว่างวันที่ 29 ธ.ค. 63 - 4 ม.ค. 64 เกิดอุบัติเหตุรวม 3,333 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 392 ราย ผู้บาดเจ็บ 3,326 คน เป็นตัวเลขที่ลดเพียงเล็กน้อย แต่จำนวนผู้เสียชีวิตกลับเพิ่มมากขึ้น

​            รวมถึงผู้บริโภคต้องระวังไม่ให้ผู้ประกอบการรถทัวร์เอาเปรียบ เนื่องจากมีผู้ที่ต้องการเดินทางจำนวนมากในช่วงปีใหม่ ทำให้เกิดการเอาเปรียบได้ง่าย ทางมูลนิธิฯ พบปัญหาเกี่ยวกับรถโดยสารในช่วงเทศกาลหลายเรื่องที่ควรระวัง อย่างปัญหาการขายตั๋วเกินราคา หรือมีคนซื้อตั๋วมาแล้วนำไปขายต่อราคาแพงขึ้นในช่วงเทศกาล ที่เรียกว่า ตั๋วผี ซึ่งเป็นปัญหาที่เจอบ่อย มีลักษณะคือ มักจะขายนอกจุดที่ซื้อตั๋วตามสถานีขนส่ง คนรีบกลับบ้านก็ยอมซื้อ จึงควรระวังตั๋วผีด้วย และยังพบปัญหาบริษัทรถทัวร์ไม่ให้ตั๋วโดยสาร อย่างรถตู้ก็จะให้แต่หมายเลขบัตรคิว พอขึ้นรถก็จะเก็บบัตรคิวนั้น เมื่อเกิดอุบัติเหตุบริษัทรถทัวร์อ้างว่าผู้บริโภคไม่ได้นั่งรถของบริษัท เพราะไม่มีหลักฐานการซื้อตั๋ว ปัญหานี้เป็นการรณรงค์ให้รถโดยสารต้องมีตั๋วโดยสารที่เป็นสัญญาให้ผู้บริโภค สิ่งที่ดีที่สุดคือการมีหลักฐานในการขึ้นรถโดยสารสาธารณะเก็บเอาไว้ เช่น ผู้บริโภคต้องเก็บตั๋วโดยสาร ต้องมีหลักฐานการซื้อ ปัจจุบันการซื้อตั๋วรถโดยสารต้องใช้บัตรประชาชนซื้อ เพื่อยืนยันตัวตนและจะยืนยันตัวตนผู้โดยสารเมื่อขึ้นรถด้วย ปัญหานำรถเสริมที่ไม่ได้รับอนุญาตมาวิ่งในเส้นทางนั้น ซึ่งตามระเบียบกรมการขนส่งแล้วต้องขออนุญาตว่าจะนำรถ เลขทะเบียนอะไรบ้าง ที่จะมาวิ่งในเส้นทางนี้ จะง่ายในการจัดการเวลาที่เกิดปัญหาหรือเกิดอุบัติเหตุ แต่เมื่อเอารถมาวิ่งโดยไม่ขออนุญาต หากเกิดอุบัติเหตุก็อ้างว่าไม่ใช่รถของบริษัทตัวเอง เนื่องจากไม่มีหลักฐาน และบางครั้งจะพบปัญหารถทัวร์ขายตั๋วเก้าอี้เสริมให้ผู้โดยสารในราคาเท่ากับคนอื่นที่นั่งเก้าอี้ปกติ แล้วเก้าอี้เสริมนั้นไม่มีอุปกรณ์ความปลอดภัย

​            ทางด้านผู้บริโภคมีสิทธิในการที่จะเลือกใช้บริการรถโดยสารที่มีคุณภาพ เพื่อความปลอดภัยและเป็นธรรม ตามสิทธิของผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ 10 ข้อ จากประกาศของศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน โดยจะกล่าวถึง 5 ข้อ เนื่องจาก 5 ข้อหลังเป็นสิทธิการเรียกร้องค่าเสียหาย และมีการคุ้มครองตามพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ

​            1. ผู้ใช้บริการมีสิทธิที่จะได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับบริการรถโดยสาร รวมทั้งความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ถูกต้องเป็นจริงครบถ้วน โดยสถานีขนส่งต้องมีประกาศเงื่อนไขในการให้บริการ คือ เส้นทางการเดินรถ อัตราค่าโดยสารและบริการอื่น สถานีรับส่งผู้โดยสาร จุดจอดระหว่างทางเส้นทาง เวลาและจำนวนเที่ยวของการเดินทาง

​            2. ผู้ใช้บริการมีสิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในด้านสัญญาและราคาค่าบริการ คือ ห้ามเรียกเก็บค่าโดยสารเกินราคา ห้ามปฏิเสธผู้โดยสาร ห้ามทิ้งผู้โดยสาร

​            3. ผู้ใช้บริการมีอิสระในการเลือกใช้บริการ รถโดยสารด้วยความสมัครใจ และปราศจากการชักจูงอันไม่เป็นธรรม คือ ห้ามเรียกผู้โดยสารโดยส่งเสียงอื้ออึง ก่อความรำคาญ ต้อนผู้โดยสาร หรือหลอกผู้บริโภคว่าเข้าจังหวัดที่เป็นทางผ่าน แต่จริงๆ แล้วไม่เข้า ตัวอย่างเช่น รถทัวร์กรุงเทพฯ – ประจวบฯ ผู้บริโภคต้องการไปสมุทรสาคร จึงหลอกว่าเข้าจังหวัดนั้น แต่เมื่อปลายทางคือ ประจวบฯ รถทัวร์ไม่มีสิทธิ์รับคนกลางทาง เพราะข้างรถเขียนไว้ “ไม่รับผู้โดยสารระหว่างทาง”

​            4. ผู้ใช้บริการมีสิทธิที่จะได้รับการบริการจากรถโดยสาร และผู้ให้บริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน คือ ผู้ประกอบการขนส่งต้องมีใบอนุญาต รถที่ใช้ในการขนส่งต้องมีสภาพมั่นคงแข็งแรง การจัดตั้งสถานีขนส่งต้องได้รับอนุญาต บุคคลากรประจำรถต้องมีใบอนุญาต เช่น ผู้ขับรถ ซึ่งบนรถโดยสารสาธารณะจะต้องมีข้อมูลของคนขับในบัตรสีเหลือง เพื่อให้ผู้บริโภคเอาไว้เป็นข้อมูลในการตรวจสอบ ในบัตรจะระบุชื่อ หมายเลขใบอนุญาต เลขทะเบียนรถของผู้ขับรถโดยสาร เพราะการที่จะขับรถได้ คนขับต้องได้รับการอนุญาตการขับรถโดยสาธารณะตามระเบียบของใบขับขี่ มีการตรวจสอบคดีอาญา และตรวจสอบเรื่องอื่นๆ

​            5. ผู้ใช้บริการมีสิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยในทุกๆ ด้าน จากการใช้บริการรถโดยสาร คือ รถทุกคันที่วิ่งต้องได้มาตรฐาน มีสภาพมั่นคงแข็งแรง และมีอุปกรณ์ที่ดูแลเรื่องความปลอดภัยของผู้บริโภค อย่างเช่น มีค้อนทุบกระจก ถังดับเพลิง และที่สำคัญคือ เข็มขัดนิรภัย ที่ผู้ประกอบการจะต้องมีในรถทุกคัน และก็ต้องรณรงค์ให้ผู้บริโภคคาดเข็มขัดนิรภัย เพราะผู้บริโภคมีความผิดถ้าไม่คาดเข็มคัดนิรภัย โดนปรับ 5,000 บาท ผู้บริโภคจึงควรตรวจสอบอุปกรณ์ความปลอดภัยและคาดเข็มคัดนิรภัย

​            ในส่วนของการเยียวยาความเสียหายเมื่อเกิดอุบัติเหตุ จะมีการคุ้มครองตามพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ซึ่งปรับวงเงินในการคุ้มครอง ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 ในกรณีที่ผู้ประสบภัยไม่ใช่คนขับ ค่าเสียหายในการรักษา คือ 80,000 บาท เสียชีวิต 500,000 บาท ส่วนคนขับ ค่าเสียหายเบื้องต้นกรณีรักษาตัวจะจ่าย 30,000 บาท เสียชีวิต 35,000 บาท เพราะต้องรอพิสูจน์ถูกผิด โดยถือว่าคนขับเป็นบุคคลที่ทำประมาท อยู่ที่ว่าคนขับฝ่ายไหนประมาท

info สิทธิพรบผู้ประสบภัยจากรถ เล็ก

​            หากผู้บริโภคพบปัญหา ร้องเรียนได้ที่ศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารและรับเรื่องร้องเรียน สายด่วน 1584 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือหากเกิดอุบัติเหตุ ต้องการความช่วยเหลือในการเรียกร้องค่าเสียหาย สามารถติดต่อขอคำปรึกษาได้ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โทรศัพท์ : 02-2483734-7 Line id : @ConsumerThai หรือร้องทุกข์ออนไลน์ที่ https://www.consumerthai.com/

Tags: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, รถโดยสารระหว่างจังหวัด, รถโดยสาธารณะปลอดภัย , ความปลอดภัย

พิมพ์ อีเมล