9 ต.ค.นี้ศาล พิพากษาคดีผู้ซื้อรถยนต์ยี่ห้อเชฟโรเลตฟ้องผู้ประกอบการ

581008 newscar29 ตุลาคมนี้ เวลา 9.00 น. ศาลแพ่งรัชดา พิพากษาคดีกรณีผู้ซื้อรถยนต์ยี่ห้อเชฟโรเลต ครูซ และแคปติวา ยื่นฟ้องบริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทผู้ให้เช่าซื้อรถยนต์ เป็นคดีผู้บริโภคเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2557

โดยขอให้ศาลมีคำสั่ง นั่นคือ 1.ขอให้รับผิดชอบคืนเงินดาวน์และค่างวดการเช่าซื้อที่ชำระไปแล้วทั้งหมด 2.ขอให้บริษัทฯ รับผิดชอบค่าใช้สอยรถยนต์ต่อผู้ให้เช่าซื้อเต็มจำนวนแทนผู้บริโภค เนื่องจากสาเหตุที่ต้องบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและเรียกเงินคืนนั้นเพราะสินค้าชำรุดบกพร่องจากการผลิต ไม่ใช่จากการใช้งานปกติของผู้บริโภค 3.ขอให้ศาลห้ามบริษัทฯ จำหน่ายรถยนต์รุ่นพิพาท และให้เรียกเก็บสินค้าดังกล่าวจนกว่าจะได้เปลี่ยนแปลงให้มีความปลอดภัย แต่หากแก้ไขไม่ได้นั้นห้ามผลิตหรือนำเข้ามาจำหน่าย 4.ขอเรียกค่าเสียหายต่อจิตใจที่ต้องหวาดกลัว วิตกกังวล ตลอดเวลาในการใช้รถยนต์พิพาท

จากการที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้รับเรื่องร้องเรียนจากกลุ่มผู้ซื้อรถยนต์ยี่ห้อเชฟโรเลต ครูซ และ แคปติวา ผลิตโดยบริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด จำหน่ายโดย บริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 25 ราย ที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากความชำรุดบกพร่องของสินค้า จนทำให้เกิดปัญหาต่างๆ เช่น รถคันเร่งค้าง เครื่องเร่งเองโดยไม่ได้เหยียบคันเร่ง รถพุ่งไปข้างหน้าเอง ในขณะจอดติดเครื่องยนต์ ระบบเกียร์อัตโนมัติมีอาการกระตุกรุนแรง ในขณะเปลี่ยนเกียร์ ระบบเกียร์ล็อค ไม่ยอมเปลี่ยน โดยล็อคอยู่ที่เกียร์เดิมตลอดเวลา เป็นต้น

ผู้เสียหายได้เรียกร้องให้บริษัทฯ แก้ไขซ่อมแซมให้รถยนต์ใช้งานได้ตามปกติ บริษัทฯ ได้ดำเนินการซ่อมแซมตามที่ผู้เสียหายแจ้งหลายครั้ง ภายหลังการซ่อมเมื่อนำรถยนต์มาใช้งานยังพบอาการผิดปกติเหมือนเดิม จนต้องจอดไว้เพราะเกรงจะเกิดอุบัติเหตุได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิต

วันที่ 15 สิงหาคม 2556 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมด้วยผู้บริโภคที่เสียหายจากกรณีนี้ เข้ายื่นหนังสือต่อเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อขอให้ สคบ.ดำเนินการกับผู้ประกอบการดังต่อไปนี้
1. เรียกผู้ประกอบการมาเจรจาไกล่เกลี่ยภายใน 7 วัน
2. หากเจรจาไม่ได้ขอให้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ดำเนินการฟ้องคดีแทนผู้บริโภค

3. ขอให้ คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ใช้อำนาจตามมาตรา 36 แห่ง พระราชบัญญัติคุ้มครอง ผู้บริโภค พ.ศ. 2522 (แก้ไขฉบับที่ 3 ) ดังนี้

3.1 ขอให้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินการทดสอบหรือพิสูจน์โดยทันที

3.2 ขอให้คณะกรรมการออกคำสั่งห้ามขายรถยนต์เชฟโรเลต รุ่นที่มีการร้องเรียนเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะทราบผลการพิสูจน์ เพราะความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นของรถยนต์อาจก่อให้เกิดอันตราย

3.3 ขอให้คณะกรรมการฯ มีคำสั่งให้บริษัทรับซื้อรถยนต์คืน หากพิสูจน์ได้ว่ารถยนต์มีความชำรุดบกพร่องจนก่อให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

จากการเรียกร้องดังกล่าวทำให้มีการทดสอบรถยนต์ที่สนามแก่งกระจานเซอร์กิต จ.เพชรบุรี ในเดือนตุลาคม 2556 โดยคณะทำงานสืบค้นข้อเท็จจริงซึ่งแต่งตั้งโดย สคบ.มีผู้เสียหายที่สมัครใจนำรถยนต์เข้าทดสอบในครั้งนั้นทั้งหมด 12 คันและทุกคันเป็นรถยนต์รุ่น เชฟโรเลต ครูซ ที่ผลิตในปี 2011-2012 จนกระทั่งได้มีผลการทดสอบว่ารถทุกคันมีปัญหาชำรุดบกพร่องจริง

แต่การเยียวยาความเสียหายตามหลักเกณฑ์ของ สคบ. กลับให้หักค่าเสื่อมราคารถยนต์สูงถึง 40% (20% ในปีที่หนึ่ง 12% ในปีที่สอง และ 8% ในปีที่สาม) ซึ่งไม่แตกต่างจากการขายรถมือสองที่เต๊นท์รับซื้อรถ เพราะการที่ตัดสินใจจ่ายเงินซื้อรถใหม่มาขับก็หวังจะได้รถยนต์ที่มีคุณภาพ มีสมรรถนะและมีความปลอดภัย ใช้งานได้หลาย ๆ ปีตามอายุการใช้รถยนต์ทั่วไปโดยไม่มีปัญหา แต่กลับกลายเป็นว่าซื้อรถมาเพื่อซ่อม และต้องกังวลว่าจะเกิดอาการขัดข้องในระหว่างขับขี่จนอาจนำไปสู่อุบัติเหตุ

วันที่ 22 เมษายน 2557 ผู้ฟ้องคดีทั้ง 7 ราย เข้ายื่นฟ้องคดีผู้บริโภคกับบริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ศาลแพ่งรัชดา ผลการพิจารณาจะเป็นอย่างไรต้องติดตาม

พิมพ์ อีเมล