มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เร่งรัดให้กระทรวงดิจิทัล ออกกฎหมายควบคุมแพลตฟอร์มธุรกิจออนไลน์จากต่างประเทศ กรณีเงินหายจากบัญชี ชี้รัฐยังไม่มีมาตรการควบคุมแต่ปล่อยให้ขาย และไม่มีระบบแจ้งเตือนแพลตฟอร์มที่มีความเสี่ยงให้กับผู้บริโภค ซึ่งควรต้องคุ้มครองผู้บริโภคมากกว่าให้ผู้บริโภคดูแลกันเอง
จากกรณีที่ผู้บริโภคกว่า 10,700 ราย ได้รับความเสียหาย จากการที่เงินหายจากบัญชีโดยไม่ทราบสาเหตุ เมื่อ 17 ตุลาคม 2564 แบงก์ชาติและสมาคมธนาคารไทยได้ออกมาชี้แจงว่า ไม่ได้เกิดจากการรั่วไหลข้อมูลของระบบธนาคาร แต่เกิดจากมิจฉาชีพสุ่มข้อมูลบัตร และนำไปสวมรอยทำธุรกรรมผ่านร้านค้าออนไลน์ต่างประเทศที่ไม่มีการใช้ One Time Password (OTP) และออกมาตรการแก้ไข 4 ข้อในวันที่ 19 ตุลาคม 2564 นั้น
ด้านนางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า เครื่องรูดบัตร EDC หรือเครื่องแสกนจ่ายโดยแอปพลิเคชันที่ผูกกับบัญชีธนาคาร จะมีการยืนยันตัวตนด้วยการเซ็นสลิป หรือใส่รหัสผ่าน แต่การทำระบบธุรกรรมออนไลน์ที่ใช้การผูกบัญชี ใช้แค่เลขบัตรและเลขหลังบัตรเท่านั้น ซึ่งธนาคารอาจจะต้องไปตรวจสอบสาเหตุของข้อมูลรั่วไหลได้อย่างไร เนื่องจากผู้บริโภคบางรายที่เสียหายก็ไม่ได้ผูกบัญชีกับร้านค้าออนไลน์ และรัฐต้องออกมาตอบว่าจะออกมาตรการการจัดการปัญหาเรื่องนี้ไม่ให้เกิดขึ้นอีกอย่างไร หากปัญหาเกิดจากแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์ต่างประเทศตามที่หน่วยงานรัฐชี้แจง แสดงถึงการที่รัฐยังไม่มีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคและควบคุมแพลตฟอร์มต่างประเทศที่ทำธุรกิจออนไลน์ในพื้นที่ประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันยังพบปัญหาถูกหลอกลวงซื้อสินค้าจากผู้ขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มต่างประเทศ เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ อินสตาแกรม ที่มีผู้ประกอบธุรกิจขายสินค้าออนไลน์มากมาย แต่รัฐไม่สามารถตรวจสอบผู้ประกอบการได้ และไม่มีระบบแจ้งเตือนผู้บริโภคว่าแพลตฟอร์มใดมีความเสี่ยง ทั้งที่ แพลตฟอร์มเหล่านี้มาทำธุรกิจในประเทศไทย ซึ่งขณะนี้ไม่มีระบบหรือกฎหมายที่ควบคุมธุรกิจดังกล่าว ฉะนั้นจึงต้องคุ้มครองผู้บริโภคที่ในการซื้อสินค้ามากกว่าออกมาบอกในเชิงให้ผู้บริโภคดูแลกันเอง ปัจจุบันปัญหาที่เกิดขึ้นยิ่งมีความซับซ้อนมากขึ้น อาจทำให้เกิดปัญหาแบบเดิมในอนาคต หากไม่มีกฎหมายมาควบคุม ธุรกิจและคุ้มครองผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าจากแพลตฟอร์มต่างประเทศ โดยขอให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเร่งออกกฎหมายควบคุมแพลตฟอร์มธุรกิจออนไลน์ต่างประเทศและคุ้มครองผู้บริโภคในการซื้อสินค้าออนไลน์ เพื่อป้องกันปัญหาเรื่องระบบข้อมูลของผู้บริโภคที่รั่วไหลออกไปต่างประเทศและสามารถตรวจสอบตัวตนของผู้ทีทำธุรกิจออนไลน์ได้ และขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาตรการให้สถาบันการเงินมีระบบการป้องกันความปลอดภัยในการใช้บัตรเครดิตและบัญชีธนาคาร รวมถึงการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้บริโภค
ในส่วนของการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นจากกรณีเงินหายจากบัญชี ผู้บริโภคต้องยกเลิกการใช้บัตร อายัดบัตรในกรณีที่เจอปัญหา ผู้ที่ใช้บัตรเครดิตต้องแจ้งบริษัทว่าไม่ได้เป็นผู้ใช้บัตร ให้บริษัทเรียกคืนเอาเงินเข้าระบบเอง และเปลี่ยนการใช้บัตร เพราะระบบนั้นถูกบันทึกไว้ด้วยบัตรเครดิตที่เจอปัญหา ส่วนบัตรเดบิต ธนาคารมีหน้าที่คืนเงิน เนื่องจากเป็นเรื่องของสัญญาฝากทรัพย์ ผู้ที่รับฝากทรัพย์ต้องดูแลทรัพย์สิน หากผิดสัญญาต้องคืนเงินให้กับผู้บริโภคโดยทันที
หากมีข้อสงสัยต้องการสอบถามเพิ่มเติมหรือต้องการความช่วยเหลือ สามารถติดต่อได้ที่เบอร์ 02-2483734-7 หรือ Line id : @ConsumerThai