เขียนโดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค. จำนวนผู้ชม: 5510
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคออกโรงชวนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ ชนเฉลิมชัยเดินหน้าเลิกใช้พาราควอตและสารเคมีอันตรายทั้ง 3 ชนิด แจง “ฉลาดซื้อ” ไม่เคยทดสอบปูนาที่ใช้ทำน้ำปู๋ แต่ตรวจปูดองเค็มซึ่งเป็นปูเลี้ยงที่ใช้ทำส้มตำ
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า รู้สึกสะท้อนใจที่นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ตัดสินใจเลือกข้างบริษัทสารเคมีและจะเดินหน้าทบทวนการยกเลิกพาราควอต ของคณะกรรมการการวัตถุอันตราย
"อยากให้รัฐมนตรี ก.เกษตรฯ คิดทบทวนให้ดีที่ออกมาหนุนการยกเลิกการแบนสารพิษ
เพราะที่ผ่านมา นโยบายพรรคประชาธิปัตย์และกระทรวงพาณิชย์ที่พรรคดูแลอยู่
ก็เน้นนโยบายเกษตรอินทรีย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงหาเสียง
ทีมเศรษฐกิจของพรรคชูนโยบายแบนสามสารพิษ
พวกเรายังอยากเห็นพรรคประชาธิปัตย์มีที่เหยียบที่ยืนในสังคมไทย
มิใช่ผิดคำพูดตลอดกาล"
มูลนิธิจะรณรงค์และประสานงานองค์กรผู้บริโภคทุกภูมิภาคให้เดินหน้าการยกเลิกสารเคมีอันตรายทั้งสามตัวให้ได้ โดยจะร่วมมือกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคเหนือ เก็บตัวอย่างน้ำปู๋มาทดสอบ
การตกค้างของพาราควอตในกบหนอง ปูนา หอยกาบน้ำจืด และปลากะมัง ได้รับการยืนยันโดยข้อมูลของ ผศ.ดร.นพดล กิตนะ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่พบพาราควอตตกค้างในตัวอย่างปูนาระหว่าง 24 - 56 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม พบในกบหนอง 17.6 - 1,233.8 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม พบในปลากะมัง 6.1-12.5 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม และพบในหอยกาบน้ำจืด 3.5 - 7.7 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม สำหรับน้ำปู๋ซึ่งนิยมนำมาประกอบอาหาร เช่น น้ำพริกน้ำปู แกงหน่อไม้ ตำส้มโอ ตำกระท้อน เป็นต้น นั้นพบว่าบางชนิดมีพาราควอต สูงถึง 200 เท่าจากมาตรฐานที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กำหนดไว้ไม่เกิน 5 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม
ส่วนการที่มีผู้นำข้อมูลของ “ฉลาดซื้อ” ไปอ้างว่าไม่พบพาราควอตในปูนานั้น ขอยืนยันว่าศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อไม่เคยทดสอบปูนาหรือน้ำปู๋ ที่ผ่านมาเป็นการสุ่มตัวอย่างปูดองเค็ม (ที่ใช้ในการทำส้มตำ) จำนวน 16 ตัวอย่าง จากตลาดสด 14 แห่ง ระหว่างวันที่ 19-20 ธันวาคม 2561 ในพื้นกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ไม่ใช่การทดสอบน้ำปู๋หรือปูนาจากพื้นที่ภาคเหนือแต่อย่างใด