ตัวแทนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ศูนย์การค้าเซ็นเตอร์วัน ช็อปปิ้งพลาซ่า และร้านหนังสือดอกหญ้า ยื่นหนังสือต่อประธานศาลฎีกา ขอความเป็นธรรมทบทวนคำขออนุญาตฎีกา กรณีเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากเหตุเพลิงไหม้ระหว่างการชุมชนุมปี 2553 ตามที่ประธานศาลฎีกาเปิดรับฟังความเห็นประชาชน
จากกรณีเมื่อ 19 พฤษภาคม 2553 ซึ่งเป็นช่วงระหว่างเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้มีคนร้ายหลายคนบุกรุกเข้าไปในอาคารศูนย์การค้าเซ็นเตอร์วันเพื่อลักทรัพย์และวางเพลิง จนเพลิงลุกลามไปยังอาคารที่อยู่บริเวณใกล้เคียง ทำให้อาคารศูนย์การค้าเซ็นเตอร์วัน ร้านหนังสือดอกหญ้าและอาคารสำนักงานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับความเสียหาย
ผู้เสียหายทั้งสามจึงเรียกร้องให้บริษัทประกันภัย ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่บริษัทประกันภัยทั้งสามเพิกเฉย ผู้เสียหายจึงฟ้องร้องบริษัทประกันภัยดังกล่าวให้รับผิดชดให้ค่าเสียหายตามกรมธรรม์ประกันภัย ผลปรากฏว่า ศาลชั้นต้นได้พิพากษาให้บริษัทประกันภัยทั้งสามชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับเซ็นเตอร์วัน และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคต่อมาบริษัทได้มีการยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ผลปรากฏว่าศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยว่าเป็นการก่อการร้าย บริษัทประกันภัยจึงไม่ต้องรับผิด ดังนั้น ผู้เสียหายจึงยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาพร้อมฎีกา ไปยังศาลฎีกา ซึ่งศาลมีคำสั่งยกคำร้องและไม่รับฎีกาของผู้ร้องทั้งสาม เพราะมองว่าปัญหาของผู้ร้องทั้งสาม ไม่เป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัย และไม่เป็นปัญหาซึ่งเกี่ยวพันกับประโยชน์สาธารณะนั้น
ล่าสุด (3 ตุลาคม 2562) นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) พร้อมนายรัชพล ไกรจิรโชติ กรรมการผู้จัดการบริษัท พีเพิล พลาซ่า จำกัด ของศูนย์การค้า “เซ็นเตอร์ วัน ช็อปปิ้ง พลาซ่า” และนางสาวนิดา ตันติพินิจวงศ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ปั๊ม สเตชั่น คอร์เปอเรชั่น จำกัด ของร้านหนังสือดอกหญ้า ซึ่งเป็นผู้เสียหายจากเหตุการณ์ดังกล่าว ได้เดินทางไปยังศาลฎีกาเพื่อขอความเป็นธรรมในการทบทวนการขออนุญาตฎีกา ต่อประธานศาลฎีกาและคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ว่าจะมีแนวทางใดบ้างที่จะได้รับการเยียวยาในความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยมีนายธีระพงศ์ จิระภาค รองประธานศาลฎีกาเป็นผู้รับแทน
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการ มพบ. กล่าวถึงสาเหตุที่เดินทางไปขอความเป็นธรรมในการทบทวนการขออนุญาตฎีกาว่า เนื่องจากในเหตุการณ์เดียวกันนั้น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้รับความเสียหายในลักษณะเดียวกับมูลนิธิฯ ศูนย์การค้าฯ และร้านหนังสือดอกหญ้า จากนั้น ตลท. จึงยื่นขอฎีกาต่อศาลฎีกาและได้อนุญาตให้ฎีกา โดยมีการพิจารณาปัญหาตามฎีกาของ ตลท. ในเรื่องความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไว้ เกิดจากภัยประเภทใด และได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยตามฟ้องหรือไม่ จำเลยต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์หรือไม่ เพียงใดนั้น จนได้ข้อสรุปว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับ ตลท. นั้นเป็นปัญหาซึ่งเกี่ยวพันกับประโยชน์สาธารณะ และเป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัย ตาม พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2561 มาตรา 52 (เดิม) และข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วย การดำเนินกระบวนพิจารณาและการปฏิบัติตามหน้าที่ของเจ้าพนักงานคดีในคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ข้อ 40 ท้ายสุดมีคำพิพากษาให้บริษัทประกันภัยร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ซึ่งพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่ใช่การก่อการร้ายและเป็นภัยที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย
“พวกเราขอชื่นชมท่านประธานศาลฎีกาที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเสนอข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่อกระบวนการยุติธรรม 3 องค์กรจึงได้มายื่นเรื่องดังกล่าวให้ท่านประธานศาลฎีกาได้รับทราบ และขอความเป็นธรรมทบทวนการขออนุญาตฎีกาในครั้งนี้” นางสาวสารีกล่าว
นายรัชพล ไกรจิรโชติ กรรมการผู้จัดการบริษัท พีเพิล พลาซ่า จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันศูนย์การค้าฯ มูลนิธิฯ รวมถึงร้านหนังสือดอกหญ้า ยังไม่ได้รับการเยียวยาจากความเสียหายที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม หากทั้ง 3 องค์กรได้รับอนุญาตให้ฎีกาเช่นเดียวกับคดีของ ตลท. ก็น่าจะทำให้ได้รับการชดเชยเยียวยาความเสียหายเช่นกัน