เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2562 ที่ศาลากลาง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี เครือข่ายภาคประชาชน 12 องค์กร ประกอบด้วย มูลนิธิข้าวขวัญ มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิสุขภาพไทย มหาวิทยาลัยรังสิต เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพ (ขสช.) ประชาชน เครือข่ายผู้ป่วย (Healthy Forum) และ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน(กป.อพช.) ร่วมกันสรุปภาพรวมกิจกรรม “เดินเพื่อผู้ป่วย : กัญชารักษาโรค” 20 วันของการเดินจากพิจิตรถึงสุพรรณบุรี พร้อมจัดงานเสวนา ภายใต้หัวข้อ “นโยบายและกฎหมายเพื่อกัญชา ทางการแพทย์”
รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า ปัญหาอุปสรรคเรื่องกัญชาที่เกิดขึ้นขณะนี้ ทำให้มีข้อสงสัยว่าหน่วยงานรัฐต้องการผูกขาดกัญชาไว้ให้กลุ่มทุน โดยยกข้ออ้างว่ากัญชาต้องปลอดสารเคมีปนเปื้อนเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งเป็นข้ออ้างที่ไร้สาระ เพราะยังปล่อยให้พืชผักที่คนไทยกินทุกวันปนเปื้อนสารเคมีมีพิษ การกำหนดว่ากัญชาต้องปลูกในโรงเรือนปิด เป็นการสร้างต้นทุนสูง ที่มีแต่กลุ่มทุนทำได้ ถ้ารัฐยังเห็นกัญชามีคุณค่า มีสรรพคุณทางยา ต้องเปิดทางให้ประชาชนเข้าถึงการใช้ ซึ่งทำให้เราพึ่งตนเองได้ และสามารถสู้กับยาต่างชาติได้ ในระยะเร่งด่วนที่ยังไม่มีวัตถุดิบที่ปลูกได้เอง
“ขอเสนอให้นำกัญชาที่ ปปส.ยึดมา จำนวน 22 ตัน ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์อ้างว่าตรวจแล้วพบสารพิษปนเปื้อนใช้ได้แค่7 กิโลกรัม ขอให้นำมาสกัดเป็นน้ำมันกัญชาก่อน ค่อยตรวจว่าในน้ำมันกัญชามีสารปนเปื้อนเกินมาตรฐานหรือไม่ และหากใช้สูตรกัญชา3% ในน้ำมันมะพร้าว97% จะมีสารปนเปื้อนเกินมาตรฐานหรือไม่ ถ้าตรวจแล้วพบสารปนเปื้อนเกินมาตรฐาน เราจะยกเลิกเฉพาะส่วนที่มีสารปนเปื้อนเกินมาตรฐาน พร้อมเสนอให้ปลดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด และเสนอให้กระจายการปลูกกัญชาเป็นโครงการ 1 ตำบล 1แปลง หรือ1วัด 1แปลง โดยมีเกษตรตำบล หรืออำเภอร่วมกับรพสต.เป็นผู้กำกับดูแล นอกจากนี้เสนอให้รัฐบาลมี นโยบายให้กัญชาอยู่ในสิทธิบัตรทอง โดยผู้ป่วยสามารถรับกัญชาจากโรงพยาบาลของรัฐได้ หากรัฐบาลไม่รับข้อเสนอการเปิดทางให้ประชาชนเข้าถึงกัญชาเพื่อการแพทย์ ย่อมทำให้เกิดข้อสงสัยว่ารัฐบาลต้องการสร้างอุปสรรคการเข้าถึงยากัญชาเพื่อจะได้นำเข้ากัญชาจากบริษัทยาต่างชาติที่เคยมาขอสิทธิบัตร แต่ไม่สำเร็จ ใช่หรือไม่” อดีต สปช. กล่าว
ศ.นพ. ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมการปฏิรูประบบสาธารณสุข กล่าวบนเวทีเสวนาว่า ตนได้ศึกษาและทำวิจัยโรคทางสมองมา 17 ปีเต็ม ได้พบว่าปัจจุบันยารักษาโรคทางสมองมีข้อจำกัดมาก โรคทางสมองไม่มียาใดๆ หยุดยั้งและรักษาได้ เพียงแต่บรรเทาอาการให้ดีขึ้น ยาที่ใช้รักษาทำให้คนไข้รู้สึกกระฉับกระเฉง คณะทำงานภายใต้สภากาชาดไทย พบว่ามีผู้มาลงทะเบียนเพื่อต้องการรักษาโรคต่างๆ โดยใช้กัญชากว่า 130,000 คน และมีผู้ครอบครองกัญชา มาแสดงตนถึง 33,000 คน เนื่องจากการรักษาปัจจุบันไม่ตอบโจทย์ คนไข้จึงต้องหาวิธีรักษาทางเลือกอื่นมาทดแทน
“ยาที่ใช้รักษาโรคทางสมอง อาทิ โรคพาร์กินสัน โรคสมองเสื่อม เป็นต้น ค่อนข้างราคาสูง เมื่อเปรียบเทียบกับน้ำมันกัญชา ตำรายาต่างประเทศระบุว่ากัญชามีฤทธิ์ต้านการอักเสบของสมองภายนอกที่เป็นต้นเหตุของการเกิดโรคมะเร็งและอีกหลายโรค ผมไม่ได้มั่วว่ากัญชารักษาได้หลายโรค แต่หน้าที่ของหมอคือต้องช่วยคนไข้ ยกตัวอย่าง ใน 1 ปีที่ผ่านมา ผมมีคนไข้โรคอัลไซเมอร์ 108 คน ไม่สามารถพูดคุยติดต่อสื่อสารกับผู้อื่นได้ แต่หลังจากใช้น้ำมันกัญชาเพียง 1 เดือน พบว่าคนไข้กลุ่มดังกล่าวสามารถพูดคุยกันรู้เรื่อง ดังนั้นกัญชาถ้าใช้เป็นคือยามหัศจรรย์ และไทยคือที่เดียวในโลก ที่มีกัญชามานาน เราควรนำกัญชามาใช้เป็นยาเสรีเพื่อรักษาอาการป่วย ที่สำคัญทุกบ้านที่มีผู้ป่วยต้องสามารถปลูกกัญชาได้”ศ.นพ. ธีระวัฒน์ กล่าว
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า หลังผ่านการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี เราต้องเดินหน้าหาทางออก และทวงสัญญากับพรรคการเมืองที่ใช้กัญชามาเป็นนโยบายหลักในการหาเสียง ตนเห็นงานวิจัยกัญชาที่คืบหน้าแต่ไม่สามารถนำมาผลิตหรือนำมาให้ประชาชนใช้ได้ นี่คือความเจ็บปวดที่สุด ถ้าอีก 10 ปี ต้องมารอผลวิจัยในมนุษย์ เราจะแพ้ต่างชาติ ดังนั้นตนจึงขอเสนอทางออกของกฎหมายที่สามารถทำได้เลยดังนี้ 1. ขอให้กัญชา และกระท่อม หลุดมาจากกฎหมายยาเสพติด 2.ขอให้น้ำมันกัญชาไทยที่ไม่แยกสารสกัด ใช้เป็นยาแผนโบราณทั้งหมด และ3.ผู้ป่วยที่มีใบรับรองแพทย์ คลินิกแพทย์แผนไทย โรงพยาบาลรัฐ และเอกชน มีสิทธิปลูกกัญชา พร้อมให้ใบอนุญาตวัดปลูกเพื่อการแพทย์ได้ นอกจากนี้ต้องอนุญาตให้เกษตรกรปลูกเพื่อส่งออก ถ้ากฎหมายเอื้อตามข้อเสนอไทยจะมีความมั่นคงทางด้านอาหารและยา
ศุภชัย ใจสมุทร รองเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า พรรคของเรามีนโยบายอย่างชัดเจน ในเรื่องกัญชา ซึ่งเกิดจากความตั้งใจจริง วันนี้ตนได้เห็นพลังจากประชาชนที่ออกมาเดินเพื่อผู้ป่วยและผลักดันให้กัญชาออกจากกฎหมายยาเสพติด ตนอยากให้ประชาชนเชื่อว่าพรรคจะรักษาสัญญาที่ให้ไว้ เพราะเรามีเป้าหมายเดียวกัน คือปลดล็อคกัญชาให้ผู้ป่วยเข้าถึงในการรักษา พร้อมต่อต้านสัมปทานผูกขาดกัญชา เราพร้อมที่จะรับข้อเสนอและร่วมดำเนินการ
วิวัฒน์ ศัลยกำธร (อาจารย์ยักษ์) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ กล่าวว่า เป้าหมายสูงสุดของการเดินเพื่อผู้ป่วย ไม่ใช่เพียงการปลดล็อคกัญชาออกจากยาเสพติด แต่เป็นการเข้าถึงการใช้ยาของประชาชน คนที่รู้เรื่องกัญชาดีที่สุดคือชาวบ้าน แต่ผู้มีอำนาจควบคุมเป็นหน่วยงานของภาครัฐ ดังนั้นการยื่นแก้ไขกฎหมายเราต้องศึกษากฎหมายให้ลึกซึ้ง มิเช่นนั้นกฎหมายที่ประชาชนร่วมกันร่าง จะถูกผู้มีอำนาจกดเอาไว้ ประชาชนจะไม่ได้ผลประโยชน์ ดังนั้น เรื่องนโยบาย กฎหมายและตัวอย่างความสำเร็จเป็นเรื่องที่สำคัญมาก
ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา(กพย.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ปัจจุบันหลายประเทศนำกัญชามาผลิตเพื่อซื้อขายมากมาย โดยมีเป้าหมายเพื่อยึดสิทธิบัตร แต่จะทำอย่างไรให้ รัฐบาลแก้ไขกฎหมายระหว่างประเทศที่บังคับให้กัญชาเป็นยาเสพติด พร้อมให้สิทธิชุมชนในการปลูกเพื่อการใช้เอง แต่ถ้าปลูกเพื่อการค้าต้องจดทะเบียน
……………………………………
ชมถ่ายทอดสด “นโยบายและกฎหมายเพื่อกัญชา ทางการแพทย์” http://bit.ly/2KxasxY