คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) ร่วมกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ Kick Off ขอ 10,000 รายชื่อ ทำกฎหมายสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ "ฉบับประชาชน" ประกบกับร่างของ สคบ. เพื่อให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการพิจารณากฎหมาย
เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2561 ในงานสมัชชาผู้บริโภคประจำปี 2561 นายจุมพล ชื่นจิตต์ศิริ ประธานคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) กล่าวว่า จากการดำเนินงานของ คอบช.ในการติดตามการทำกฎหมายองค์กรตัวแทนของผู้บริโภค ตามมาตรา 46 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ในระยะที่ผ่านมา คอบช.และเครือข่ายผู้บริโภคได้เข้าพบและยื่นหนังสือเสนอข้อเสนอแนะต่อการจัดทำร่างกฎหมายกับคณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาและจัดทำร่างกฎหมายตามมาตรา 46 ซึ่งจัดตั้งโดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพื่อให้จัดทำเป็นกฎหมายเฉพาะในระดับพระราชบัญญัติ ไม่นำไปอยู่ในพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค มีการจัดเวทีสภาผู้บริโภคแห่งชาติ มีการตั้งคณะทำงานจัดทำและขับเคลื่อนกฎหมาย มาตรา 46 ซึ่งประกอบด้วย คอบช. นักวิชาการ นักกฎหมาย และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค และยกร่างกฎหมายสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติฉบับประชาชนขึ้น
นอกจากนี้ ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึงธันวาคมปีที่ผ่านมา คอบช.ได้ร่วมกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ ของคณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาและจัดทำร่างกฎหมายตามมาตรา 46 ซึ่งได้จัดเวทีตามภูมิภาคต่างๆ เพื่อสะท้อนความต้องการและสิ่งที่ผู้บริโภคอยากเห็นจากการมีสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ อย่างไรก็ตาม คอบช,และเครือข่ายผู้บริโภคเห็นว่าการมีร่างพระราชบัญญัติฉบับของประชาชนเข้าไปร่วมพิจารณาด้วย จะทำให้กฎหมายฉบับนี้ไม่ถูกแก้ไข หรือเพิ่มสาระที่ไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของการมีกฎหมาย สามารถทำหน้าที่ปกป้องและคุ้มครองสิทธิให้กับผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง คอบช,และเครือข่ายผู้บริโภคจึงประสงค์จะริเริ่มเสนอร่างพรบ.สภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ พ.ศ... ประกบไปกับร่างของ สคบ.ด้วย
นายปฏิวัติ เฉลิมชาติ กรรมการ คอบช. เขตภาคอีสาน กล่าวว่า เมื่อวันที่ 13 มีนาคมที่ผ่าน คอบช. และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค จำนวน 12 คน ได้ไปยื่นหนังสือต่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อแจ้งเรื่องริเริ่มเสนอร่างพระราชบัญญัติสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ พ.ศ. ... โดยกระบวนการหลังจากนี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติจะมีการตรวจสอบหลักฐาน รูปแบบของร่างกฎหมาย วิเคราะห์ร่างพระราชบัญญัติว่าเป็นไปตามหลักการในรัฐธรรมนูญหรือไม่ และจะแจ้งกลับมายังคณะผู้ริเริ่ม เพื่อให้เริ่มการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย 10,000 รายชื่อ ดังนั้น เพื่อเดินหน้าขับเคลื่อนกฎหมายสภาองค์กรผู้บริโภคซึ่งเป็นองค์กรตัวแทนผู้บริโภคระดับประเทศให้เกิดขึ้น จึงต้องรวมพลังของผู้บริโภค และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายฉบับประชาชนในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเพื่อให้ร่างนี้เข้าไปร่วมพิจารณาพร้อมกับร่างกฎหมายของ สคบ. ที่ได้ส่งให้คณะรัฐมนตรีแล้วช่วงเดือนที่ผ่านมา และมีผู้แทนของผู้บริโภคเข้าไปเป็นคณะกรรมาธิการในชั้นพิจารณากฎหมายในรัฐสภา เพื่อชี้แจงเจตนารมณ์ของการทำกฎหมายนี้ และผ่านออกมาเป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้บริโภคอย่างแท้จริง เบื้องต้นคาดว่า หลังจากผ่านการตรวจร่างกฎหมาย จะสามารถล่ารายชื่อเพื่อเสนอ 10,000 รายชื่อได้ภายในสิ้นเดือนพฤษภาคมปีนี้ และขอให้ทุกคนช่วยกันติดตามการทำกฎหมายฉบับนี้
นายไพศาล ลิ้มสถิตย์ ศูนย์กฎหมาย สุขภาพ และจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะคณะทำงานยกร่างกฎหมายสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติฉบับประชาชน กล่าวว่า โดยร่างกฎหมายฉบับของประชาชน มีส่วนที่แตกต่างจาก ร่างของสคบ. ในหลายประเด็นสำคัญ เช่น การสนับสนุนของรัฐโดยให้งบประมาณต่อหัวประชากร เพิ่มเติมนิยามองค์กรผู้บริโภคประเด็นไม่ถูกจัดตั้งโดยรัฐ ให้มีกรรมการจากเขตพื้นที่ 13 เขต กำหนดให้บรรดารายได้ของสำนักงาน ไม่เป็นรายได้ที่ต้องนำส่งกระทรวงการคลัง ตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง และกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ หรือกฎหมายอื่น เพิ่มอำนาจหน้าที่ให้สนับสนุนให้เกิดสภาผู้บริโภคจังหวัด และเพิ่มคณะกรรมการวาระแรก โดยมีผู้แทนคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) จำนวน 1 คน และผู้แทนองค์กรหรือสถานสาธารณกุศลตามประกาศกระทรวงการคลังที่มีวัตถุประสงค์ด้านคุ้มครองผู้บริโภค จำนวน 4 คน เพื่อร่วมออกประกาศ กำหนดวิธีคัดเลือกคณะกรรมการสภาองค์กรผู้บริโภคชุดแรก ซึ่งเป็นฉบับที่ยกร่างขึ้นโดยผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน เพื่อให้สภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติมีอำนาจเป็นตัวแทน และมีพลังในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคตามเจตนารมณ์ในรัฐธรรมนูญ
นางสุภาพร ถิ่นวัฒนากูล รองประธาน คอบช./กรรมการผู้แทนเขต 5 ภาคเหนือ กล่าวว่า การมีสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ มีความสำคัญ เพราะจะเข้ามาให้ความช่วยเหลือองค์กรผู้บริโภค สร้างความเข้มแข็งให้แก่องค์กรผู้บริโภค ในรูปแบบต่างๆ เช่น การจัดตั้งสภาผู้บริโภคระดับจังหวัด รวมทั้งสนับสนุนการรวมกลุ่มผู้เดือดร้อนในด้านต่างๆ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมกับรัฐในการคุ้มครองผู้บริโภคได้เพิ่มขึ้น ในรอบปีที่ผ่านมา คอบช.ได้สนับสนุนการพัฒนากลไกคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ใน 44 จังหวัด ทำให้เกิดความร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่ในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคในรูปแบบสภาผู้บริโภคจังหวัด ซึ่งการมีสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ ทำให้ผู้บริโภคมีตัวแทนในระดับประเทศ ในการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐต่างๆ ซึ่งหากหน่วยงานรัฐส่วนกลางมีความร่วมมือที่ดีระดับนโยบาย ผลสืบเนื่องต่อหน่วยงานในระดับพื้นที่ซึ่งรับนโยบายก็ทำให้เกิดความเข้มแข็งกับการทำงานในพื้นที่ด้วย
แม้ในปัจจุบันที่โลกเข้าสู่ยุคดิจิทัล ความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีทำให้การบริโภคเปลี่ยนแปลงไป การซื้อขายผ่านจอมือถือ ทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ ทำให้ผู้บริโภคสะดวกสบายมากขึ้น แต่ก็ยังแฝงภัยตามมามากมาย มีการหลอกขายสินค้า หลอกให้โอนเงินซึ่งมีรูปแบบที่พัฒนาไปจนผู้บริโภคยังตามไม่ทัน ดังนั้น การมีสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนของผู้บริโภค ในการดำเนินการ ตรวจสอบ ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหาสินค้าและบริการออนไลน์ต่างๆ พร้อมแจ้งข่าวสารหรือเตือนภัยเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการดังกล่าวแก่ผู้บริโภค