มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคประกาศพร้อมช่วยเหลือผู้บริโภคถูก บ.มาสด้า ฟ้อง

600119 news

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคประกาศพร้อมช่วยเหลือผู้บริโภคถูก บ.มาสด้า ฟ้อง โดยมูลนิธิฯ เห็นว่าเป็นการ การใช้สิทธิของผู้บริโภคตามกฎหมาย พร้อมเรียกร้อง สคบ.ใช้อำนาจทดสอบรถ หากผิดจริงฟ้องแทนผู้บริโภค เน้นย้ำการมีกฎหมายรับผิดต่อชำรุดบกพร่องในสินค้าเป็นสิ่งจำเป็น สนับสนุนให้เกิดโดยเร็ว


ติดตามชมบันทึกการแถลงข่าว คลิกค่ะ

19 ม.ค 61 ห้องประชุม มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค - จากกรณีกลุ่มผู้เสียหายจำนวน 22 ราย จากการซื้อรถยนต์มาสด้า 2 รุ่น คือ รุ่น XD High Plus และ Sky Active ปี 2014 – 2016 มีอาการสั่นขณะเร่งความเร็วและเกิดอาการกระตุกขณะขับรถในช่วงความเร็ว 60 – 120 กม./ชม. นอกจากนี้ยังพบความผิดปกติระบบไฟแจ้งเตือนรถยนต์ทั้งคัน เมื่อนำรถเข้าศูนย์ซ่อมบำรุงช่างแจ้งว่าปัญหาเกิดจากเขม่า ทำการเปลี่ยนสปริงวาล์วกับระบบหัวฉีด และเปลี่ยนกล่อง Converter DCDC ให้ เมื่อนำรถกลับมาใช้กลับพบอาการเดิม จึงได้เข้าร้องเรียนที่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ขอให้บริษัทฯ ขยายเวลารับประกันและชี้แจงวิธีการแก้ไขปัญหาให้เป็นปกติ หากไม่สามารถแก้ไขได้ขอให้รับซื้อรถยนต์คืน และชดเชยค่าขาดประโยชน์จากการใช้งาน นอกจากนี้ยังร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และยื่นหนังสือให้บริษัทฯ หลังจากนั้น บริษัทได้ฟ้องผู้บริโภค ข้อหา ใช้สิทธิเกินส่วน

610119 news2

นายภัทรกร ทีปบุญรัตน์ ผู้เสียหายจากการซื้อรถยนต์มาสด้าและผู้ถูกบริษัทมาสด้าฟ้อง กล่าวว่าการออกมาเรียกร้องสิทธินั้นตนได้ทำด้วยความสุจริตใจและอยากให้บริษัทแก้ปัญหาที่เกิดเพียงเท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาหรือจงใจทำลายชื่อเสียงของบริษัท

“ปัญหาของรถเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุรุนแรงต่อชีวิต โดยเฉพาะผู้ใช้รถที่ไปเจอปัญหานี้ครั้งแรกบนถนนในจังหวะเร่งแซงซึ่งอันตรายมาก ได้ส่งรถเข้าซ่อมที่ศูนย์ฯแล้วแต่ก็แก้ปัญหาไม่ได้ ทำให้เราเสียเวลาและค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น จึงมีการตั้งกลุ่มทางเฟสบุ๊คชื่อว่า อำนาจผู้บริโภคช่วยเหลือผู้ใช้ Mazda Skyactiv เครื่องสั่น เร่งไม่ขึ้น ฯลฯ เพื่อรวมตัวกันเสนอแนวทางการแก้ปัญหาของรถ แต่กลับถูกฟ้องเมื่อเราลุกขึ้นมาใช้สิทธิ ก็อยากจะขอความเป็นธรรม” นายภัทรกรกล่าว

610119 news3
นายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
กล่าวว่ากรณีการออกมาฟ้องผู้บริโภคที่ออกมาใช้สิทธิว่าละเมิดใช้สิทธิเกินส่วนนั้น โดยยกข้อความจากเฟสบุ๊คว่าไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความไม่ตรงกับความจริงนั้น ตามหลักกฎหมายแล้ว ปกติการใช้สิทธิของตนเอง เป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมาย แม้จะทำให้ผู้อื่นต้องเดือดร้อนบ้างก็ตาม การที่จะเป็นการใช้สิทธิเกินส่วนต้องมีเจตนาหรือจงใจกลั่นแกล้ง โดยมุ่งประสงค์ให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นฝ่ายเดียว จึงจะเป็นการใช้สิทธิเกินส่วน ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงและเมื่อคดีสู่ศาลแล้ว ก็คงต้องให้ศาลวินิจฉัยว่าใช้สิทธิเกินส่วนหรือไม่

นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่าขณะนี้เรื่องดังกล่าวได้ถูกส่งให้กับ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อขอให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ แล้ว

“สิ่งที่ สคบ.ต้องดำเนินการตามคำร้องขอก็จัดเจรจาไกล่เกลี่ยกันระหว่างผู้ประกอบการและผู้บริโภคทั้ง 22 รายเพื่อให้ได้ข้อยุติ ซึ่งที่ผ่านมาเจรจาไปเพียงรายเดียวคือผู้ที่ถูกฟ้อง รวมถึงขอให้จัดการทดสอบรถยนต์ที่มีปัญหา ซึ่งเป็นปัญหาด้านความปลอดภัยต่อผู้บริโภคอีกหลายๆคนที่ยังไม่ได้ร้องเรียน และขอให้ สคบ.ใช้อำนาจตามหน้าที่ ของกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ฟ้องแทนผู้บริโภค ซึ่งถือเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคในเชิงรุกที่ต้องดำเนินการโดยรวดเร็ว และเป็นรูปธรรม ที่แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคได้รับความคุ้มครอง” หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคกล่าว

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่าการออกมาใช้สิทธิของผู้บริโภคเองนั้น ถือเป็นการพิทักษ์สิทธิและเป็นตัวอย่างให้กับผู้บริโภคท่านอื่นๆ

"ขอชื่นชมที่ผู้บริโภคออกมาใช้สิทธิและถือว่าเป็นผู้สะท้อนปัญหาสินค้าและการใช้บริการให้กับบริษัทดังกล่าว การที่บริษัทฟ้องผู้บริโภคที่ออกมาใช้สิทธินั้นถือเป็นการฟ้องเพื่อปิดปากผู้บริโภค แทนที่จะขอบคุณที่สะท้อนปัญหาและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อยกระดับสินค้าและบริการ ซึ่งผู้บริโภคที่ถูกบริษัทฟ้องมูลนิธิฯ ยินดีให้ความช่วยเหลือ"

พร้อมกล่าวถึงสิทธิผู้บริโภคที่จะเพิ่มขึ้น หาก พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า ประกาศใช้ ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่าง กม.ดังกล่าวไปแล้วเมื่อวันที่ 21 พ.ย. 60 ที่ผ่านมา ซึ่งจะครอบคลุมสินค้าใหม่ทุกประเภทซึ่งผู้บริโภคมีสิทธิเรียกให้ผู้ขายซ่อมแซมจำนวน 2 ครั้ง หรือเปลี่ยนสินค้าใหม่ หรือคืนเงินเต็มจำนวน ภายใน 6 เดือน โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจเป็นผู้พิสูจน์ว่าสินค้าไม่ได้ชำรุดบกพร่อง

"ขอสนับสนุนและผลักดัน พระราชบัญญัติความรับผิดต่อสินค้าที่ชำรุดบกพร่องเกิดขึ้นโดยไว เพื่อให้เท่าเทียมกับประเทศอื่นในอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ หรือฟิลิปปินส์ เพื่อให้สินค้าใหม่ได้รับความน่าเชื่อถือเรื่องมาตรฐานและมีการรับประกันการคืนสินค้าในกรณีชำรุดบกพร่องซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ในระบบการผลิตแบบอุตสาหกรรม" เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกล่าว

พิมพ์ อีเมล