วันที่ 29 ธ.ค. นายคงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ประสานงานโครงการรถโดยสารปลอดภัย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยว่า จากการรวบรวมข้อมูลสถิติอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะของเครือข่ายเฝ้าระวังรถโดยสารปลอดภัย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ในช่วงเดือนมกราคม – พฤศจิกายน 2560 พบว่ารถตู้โดยสาร เกิดอุบัติเหตุสูงสุดมากถึง 236 ครั้ง หรือ 21.5 ครั้ง/เดือน บาดเจ็บ 906 คน หรือ 82.4 คน/เดือน เสียชีวิต 113 คน หรือ 10.3 คน/เดือน
ขณะที่รถโดยสารสาธารณะขนาดใหญ่ มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุและการบาดเจ็บ-เสียชีวิตที่ลดลง คือ รถโดยสารประจำทาง 102 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 332 คน เสียชีวิต 26 คน รถโดยสารไม่ประจำทาง 57 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 353 คน เสียชีวิต 14 คน
“จากเหตุการณ์ความสูญเสียกรณีรถตู้โดยสารจันทบุรีไฟไหม้เมื่อ 2 มกราคม 2560 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตทันที 25 คน ภายหลังกรมการขนส่งทางบกได้ออกมาตรการเพิ่มความปลอดภัยในรถโดยสารสาธารณะ โดยเฉพาะการบังคับให้รถโดยสารสาธารณะติดตั้ง GPS ควบคุมพฤติกรรมของผู้ขับขี่และกำหนดความรับผิดของผู้ประกอบการที่ละเลยความปลอดภัยในรถโดยสารสาธารณะ ทำให้ภาพรวมของรถโดยสารสาธารณะมีความปลอดภัยมากขึ้น ทำให้อุบัติเหตุและความสูญเสียที่เกิดกับรถโดยสารสาธารณะขนาดใหญ่ลดลง
แต่รถตู้โดยสารมีอัตราการเกิดอุบัติเหตุที่สูงขึ้นกว่ารอบปีที่ผ่านมา สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุมาจากพฤติกรรมเสี่ยงและความประมาทของผู้ขับขี่ ความไม่พร้อมในการให้บริการของผู้ประกอบการ ขณะที่สาเหตุการบาดเจ็บและเสียชีวิต เกิดจากสภาพของรถตู้โดยสารที่ไม่เหมาะกับการบรรทุกผู้โดยสาร ซึ่งที่กล่าวมาล้วนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความรุนแรงจากอุบัติเหตุ และยังมีรถตู้โดยสารที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย บรรทุกผู้โดยสารเกิน ไม่มีเข็มขัดนิรภัยหรือมีแต่ไม่อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ พนักงานขับรถหวาดเสียว รวมถึงการไม่ตระหนักในความปลอดภัยของผู้บริโภคที่ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย” นายคงศักดิ์กล่าว
พร้อมกล่าวเพิ่มเติมว่าแม้จะมีการบังคับใช้กฎหมายด้านความปลอดภัยที่เข้มงวดในรถตู้โดยสารที่ทำให้บริการมีความปลอดภัยมากขึ้น แต่ยังมีรถตู้โดยสารบางส่วนที่ยังให้บริการด้วยความไม่ปลอดภัย รวมถึงมาตรการดังกล่าวยังไม่ครอบคลุมไปถึงกลุ่มรถตู้โดยสารส่วนบุคคลที่ถูกนำมาวิ่งรับจ้างไม่ประจำทาง ทำให้รถในกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย
“มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายผู้บริโภค 6 ภาค เห็นว่ารัฐควรมีมาตรการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงเพิ่มกลไกการจัดการตั้งแต่การคัดกรองและการตรวจสอบผู้ประกอบการขณะให้บริการ เข้มงวดกับการตรวจสภาพรถโดยสารให้มากยิ่งขึ้น มิใช่เพียงตรวจตามเทศกาลเท่านั้น ตลอดจนการสืบสวนสอบสวนหาสาเหตุที่แท้จริงของอุบัติเหตุ ในการแก้ไขปัญหาที่ถูกจุด เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคและการลดอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะอย่างจริงจัง” ผู้ประสานงานโครงการรถโดยสารปลอดภัยกล่าว
ภาพประกอบจาก อินเทอร์เน็ต