ศาลแพ่ง (ถนนรัชดาภิเษก) นัดไต่สวนคำร้องคดีแบบกลุ่ม กรณีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกับผู้เสียหาย 74 ราย ยื่นคำฟ้องและคำร้องขอดำเนินคดีแบบกลุ่ม กับ บริษัท วิซาร์ด โซลูชั่น จำกัด เหตุจำหน่ายกระทะที่มีคุณสมบัติไม่ตรงตามโฆษณา เรียกค่าเสียหายกว่า 1,650 ล้านบาท โดยทั้งสองฝ่ายขอเลื่อนนัดไต่สวนคดี พร้อมนัดเปิดเวทีเจรจา
วันนี้ (25 ก.ย.60) เวลา 13.00 น. ณ ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมกลุ่มตัวแทนผู้เสียหายจากการซื้อกระทะยี่ห้อโคเรียคิง รุ่นไดมอนด์ (Diamond Series) และรุ่นโกลด์ (Gold Series) ได้เดินทางมายังศาลแพ่งตามนัดไต่สวนเพื่อรับฟังการพิจารณาว่าจะรับคำร้องดำเนินคดีแบบกลุ่มกับ บริษัท วิซาร์ด โซลูชั่น จำกัด หรือไม่
โดยคู่ความทั้งสองฝ่ายได้แถลงต่อศาลร่วมกันว่าอยู่ระหว่างการเจรจาข้อตกลง ศาลจึงมีคำสั่งอนุญาตให้เลื่อนนัดไต่สวนคำร้องไปในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2560
นายสิษฐวัศ ภาคินสกุลพัฒน์ ทนายความผู้รับผิดชอบคดี กล่าวว่า “วันนี้ได้ขออนุญาตเลื่อนนัดไต่สวนเพราะอยู่ในระหว่างการเจรจากับคู่กรณี โดยศาลท่านได้อนุญาตให้เลื่อนนัดไต่สวนคำร้องไปในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 ซึ่งหากศาลท่านรับเป็นคดีแบบกลุ่ม ก็จะช่วยพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคได้ทุกราย เพราะเมื่อศาลมีคำตัดสินแล้ว ผู้บริโภคทุกคนก็จะได้รับการคุ้มครองสิทธิเช่นเดียวกันหมด”
นางสาวอรกัลยา พุ่มพึ่ง โจทก์ที่ 1 ผู้ใช้กระทะโคเรียคิง กล่าวว่า ตนอยากให้ศาลรับคดีนี้เป็นคดีแบบกลุ่ม เพื่อให้บริษัทรับผิดชอบต่อลูกค้าทุกคน ไม่ใช่แค่บางคนหรือบางกลุ่มที่ยื่นฟ้องคดี และรู้สึกผิดหวังกับหน่วยงานรัฐ ที่ปล่อยให้มีการโฆษณาขายสินค้าต่อไป ทั้งที่อยู่ในกระบวนการฟ้องไปแล้ว
นางสาวนลินทิพย์ ศุภกุลกิตติวัฒน์ ผู้ใช้กระทะโคเรียคิง กล่าวว่า ตนป่วยเป็นมะเร็งต้องการผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ และมีความเชื่อมั่นในสินค้ากระทะโคเรียคิงที่ส่งผลต่อสุขภาพของตนเอง แต่หลังจากที่ใช้งานแล้ว คุณภาพของกระทะไม่เป็นไปตามโฆษณาอย่างสิ้นเชิง กระทะมีการหลุดลอก การที่ตนเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มร่วมฟ้องคดีนี้ หวังว่าจะให้ผู้ผลิตรับผิดชอบต่อผู้ใช้งาน โดยเฉพาะผู้ใช้ที่มีความคาดหวังเรื่องสุขภาพ และเพื่อไม่ให้บริษัทอื่นเอาเป็นอย่างในการเอาเปรียบผู้บริโภค
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า “ก่อนหน้านี้ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้สั่งเปรียบเทียบปรับพร้อมให้บริษัทฯ โฆษณาแก้ไขความเข้าใจผิด แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการโฆษณาแก้ไขแต่อย่างใด แต่ยังมีการโฆษณาเพื่อการจำหน่ายสินค้าที่ลดราคาลงของตนเอง”
“มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงเดินหน้าสนับสนุนให้มีการฟ้องคดีแบบกลุ่ม หรือ Class Action หากศาลรับเป็นคดีแบบกลุ่มและมีคำตัดสินให้ชนะคดีแล้ว ผู้บริโภคทุกรายที่ซื้อกระทะจะได้รับการคุ้มครองสิทธิอย่างเป็นธรรมเช่นเดียวกันหมด และจะเป็นการใช้กฎหมายเพื่อสร้างบรรทัดฐานในการคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งป้องกันการโฆษณาที่เกินจริงต่อผู้บริโภค” นางสาวสารีกล่าว
ทั้งนี้ มีผู้เสียหายจำนวน 74 ราย ที่ได้ร่วมยื่นคำฟ้องในคดีนี้ โดยดำเนินเป็นคดีผู้บริโภคตามกฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551