เครือข่ายองค์กรผู้บริโคคัดค้านการขึ้นราคาค่าโดยสารบีทีเอส ชี้ผู้ว่าฯ กทม. ควรสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการและผู้สูงอายุ ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ผ่านมาแล้วกว่า 2 ปี ร้องขอบีทีเอสชะลอขึ้นค่าโดยสาร เนื่องจากรายได้จากระบบขนส่งมวลชนยังสูงถึงร้อยละ 196.9 เทียบคนไทยจ่ายค่าเดินทางระบบรางสูงกว่าญี่ปุ่นและสิงคโปร์
วันนี้ (31ส.ค.60) เวลา 13.30 น. ณ สำนักงานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) คัดค้านการขึ้นค่าโดยสาร BTS เหตุผู้พิการและผู้สูงอายุยังไม่สามารถใช้บริการได้เพราะไม่มีเครื่องอำนวยความสะดวกครบถ้วนตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดตามคดีแดงที่ อ.650/ 2557 เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2557 และจากผลประกอบการของบริษัทการดำเนินงานในไตรมาส 1 ปี 2560/61 ปรับตัวดีขึ้น 100.2% จากปีก่อน เป็น 3,110.3 ล้านบาท และมีรายได้จากระบบขนส่งมวลชนที่สูงมากถึง 196.9% จึงไม่มีเหตุให้ขึ้นราคา
นายมานิตย์ อินทรพิมพ์ ตัวแทนภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ ให้ความเห็นว่า “ปัจจุบันนี้สิ่งอำนวยความสะดวกยังไม่ครบถ้วน บางสถานีมีลิฟต์เพียงฝั่งเดียวของถนน ฝนตกน้ำท่วมลิฟต์ก็เสีย ในเมื่อสิ่งอำนวยความสะดวกยังไม่พร้อม เชื่อว่าบีทีเอสยังไม่มีความชอบธรรมที่จะขึ้นค่าโดยสาร” ขอเรียกร้องผู้ว่าฯ กทม.ให้พิจารณาทบทวนการอนุญาตให้ขึ้นราคาในครั้งนี้ และขอให้บีทีเอสชะลอการขึ้นราคาจนกว่าจะมีการดำเนินการให้มีเครื่องอำนวยความสะดวกในทั้ง 23 สถานี”
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า “มีสามเหตุผลที่คัดค้านการขึ้นราคาบีทีเอส หนึ่งจากงานวิจัยของ คอบช. ด้านบริการสาธารณะ เกี่ยวกับโครงสร้างราคาที่เป็นธรรมของรถไฟฟ้า พบว่าประเทศไทยมีค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่แพงกว่าเมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และสิงคโปร์ รวมทั้งค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสแพงกว่าค่าโดยสารรถไฟฟ้าอีก 2 สาย ถ้าหากคิดเทียบเคียงจาก 10 สถานีของรถไฟฟ้าบีทีเอส เราต้องจ่ายค่าโดยสารประมาณ 3 เหรียญ 41 เซนต์ ในขณะที่ชาวญี่ปุ่นในโตเกียวจ่ายเพียง 1 เหรียญ 91 เซนต์เท่านั้น ดูแล้วว่าประเทศไทยทำสัญญาสัมปทานส่วนใหญ่ผู้บริโภคเสียเปรียบตลอด”
“จากตัวอย่างการร้องเรียนจากการใช้บริการรถไฟฟ้าในการเดินทางของผู้บริโภคจากรัตนาธิเบศร์ ถึงสีลมหรือบางนา รวมแล้วมีค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 200 บาทต่อวัน ซึ่งราคาสูงเกินไปในการใช้บริการขนส่งต่อวัน ทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงบริการขนส่งสาธารณะทุกประเภทได้ โดยเฉพาะอยากเห็นราคาที่เป็นธรรมกับผู้บริโภคทุกคนที่ใช้บริการ ยกตัวอย่างประเทศมาเลเซียนั้น มีการจัดค่าเดินทางต่อวันให้ไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้ขั้นต่ำประชาชน สมมติว่าค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ค่าเดินทางก็ไม่ควรเกิน 30 บาทต่อวัน หรืออาจเลือกใช้วิธีจำกัดเพดานเช่นประเทศออสเตรเลีย ให้สามารถใช้บริการขนส่งมวลชนทุกประเภท และยังพบว่าคนไทยขึ้นรถไฟฟ้าแพงกว่าคนญี่ปุ่นและสิงคโปร์อีกด้วย” นางสาวสารีกล่าว
นางสาวสารี ยังกล่าวเสริมอีกว่า “การปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ใช้งบของกรุงเทพมหานคร ศาลพิพากษาให้บีทีเอสร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร ไม่ใช่ว่าบีทีเอสขึ้นค่าโดยสารแล้วจะเอามาสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก เพราะเป็นหน้าที่ของ กทม. และการที่บีทีเอสจะจัดซื้อขบวนรถเพิ่มก็สะท้อนว่า บีทีเอสมีบริการที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนผู้ใช้บริการ ซึ่งถือเป็นโอกาสดีที่จะทำกำไรอยู่แล้ว อยากเห็นการปฏิรูปอย่างจริงจังและเป็นระบบเพราะจะมีการสร้างรถไฟฟ้าเพิ่มอีกหลายสาย ทุกวันนี้เราต้องจ่ายหนี้ให้คนทำสัญญาสัมปทานที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค โดยเฉพาะที่ผ่านมาต้องจ่ายหนี้ให้กับการเอารัดเอาเปรียบที่แฝงมาจากการทำสัญญาสัมปทานมากเพียงพอแล้ว อย่างไรก็ตามเชื่อว่ากรุงเทพมหานครจะทบทวนไม่ให้ขึ้นราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอส”
นายวรกร ไหลหรั่ง ที่ปรึกษากฎหมายเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ กล่าวว่า “ขณะนี้ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษานานมากกว่า 2 ปี แต่การจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกก็ยังไม่แล้วเสร็จ ได้ขอให้ศาลปกครองสูงสุดบังคับคดี และรอการพิจารณาของศาลในเรื่องนี้”
ทั้งนี้ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ประกาศขึ้นค่าโดยสารเส้นทางสัมปทาน สายสุขุมวิท สถานีหมอชิต - สถานีอ่อนนุช และสายสีลม สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ - สถานีสะพานตากสิน ไม่รวมส่วนต่อขยายของกรุงเทพมหานคร อัตราค่าโดยสารใหม่เพิ่มขึ้นจากอัตราเดิม 1 – 3 บาท โดยปรับจากราคา 15 บาท – 42 บาท เป็น 16 บาท – 44 บาท จะเรียกเก็บอัตราเดินทางสถานีแรก 16 บาท, สองสถานี ราคา 23 บาท, สามสถานี ราคา 26 บาท, สี่สถานี ราคา 30 บาท, ห้าสถานี ราคา 33 บาท, หกสถานี ราคา 37 บาท, เจ็ดสถานี ราคา 40 บาท และแปดสถานีเป็นต้นไป ราคา 44 บาท โดยให้มีผลตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2560
หากพิจารณาจากผลกำไรของบริษัทบีทีเอส จะเห็นได้ว่า
- รายได้จากการดำเนินงานในไตรมาส 1 ปี 2560/61 ปรับตัวดีขึ้น 100.2% จากปีก่อน 1,553.5 ล้านบาท เป็น 3,110.3 ล้านบาท
- รายได้จากการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง (ไม่รวมดอกเบี้ยรับภายใต้สัญญาสัมปทาน) ในไตรมาส 1 ปี 2560/61 เพิ่มขึ้น 13.5% จากปีก่อน เป็น 473.7 ล้านบาท เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นตามสัญญาของรายได้ค่าเดินรถส่วนต่อขยายสายสีเขียวในปัจจุบันและจากสถานีสำโรง
- ยอดผู้โดยสารรวมในส่วนของรถไฟฟ้าสีเขียวสายหลักในไตรมาส 1 ปี 2560/61 จำนวน 58.0 ล้านเที่ยวคน เติบโต 2.8% จากปีก่อน(56.8 ล้านเที่ยว)
- รายได้ธุรกิจสื่อโฆษณาในไตรมาส 1 ปี 2560/61 เติบโต 36.8% หรือ 228.5 ล้านบาท จากปีก่อน 620.5 ล้านบาท เป็น ปัจจัยหลักของการเติบโตของรายได้มาจากผลประกอบการที่แข็งแกร่งทั้งจากธุรกิจสื่อโฆษณานอกบ้านและธุรกิจบริการด้านดิจิทัล
กรุงเทพมหานครควรพิจารณาทบทวนเหตุผลในการอนุมัติขึ้นราคาในครั้งนี้ เนื่องจากบริษัทมีผลกำไรอย่างต่อเนื่องจากกิจการของบีทีเอสและส่วนต่อขยายที่เชื่อมต่อจากการลงทุนของกรุงเทพมหานคร เพราะการขึ้นค่าโดยสารครั้งนี้ย่อมทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้น และกรุงเทพมหานครยังไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดตามคำพิพากษา คดีแดงที่ อ.650/ 2557 เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2557 อย่างครบถ้วน ในการจัดทำ สิ่งอำนวยความสะดวกใน 18 สถานี และจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกบนรถไฟฟ้า คือจัดให้มีที่ว่างสำหรับเก้าอี้เข็นคนพิการให้มีความกว้างไม่น้อยกว่า 120 เซนติเมตร และให้มีราวจับสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 80 เซนติเมตร บริเวณทางขึ้นลง และติดสัญญลักษณ์คนพิการไว้ทั้งในและนอกตัวรถคันที่จัดไว้สำหรับคนพิการ รวมทั้งหมด 23 สถานี โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษาโดยให้บริษัท BTS ให้ความร่วมมือให้เป็นไปตามคำพิพากษา
รวมทั้งรัฐบาลต้องเร่งปฏิรูป ให้มีการใช้บริการขนส่งสาธารณะให้มีทางเลือกสำหรับการเดินทางที่หลากหลายเพียงพอมากขึ้น มีการลงทุนทางโครงสร้างพื้นฐานในเมืองใหญ่ทุกเมืองอย่างต่อเนื่อง และทบทวนภาพรวมค่าบริการขนส่งสาธารณะให้ชัดเจน เพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการขนส่งสารสาธารณะทุกประเภทในราคาที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้และไม่มีภาระมากเกินสมควร