ศาลแพ่งพิพากษาให้เครื่องดื่มน้ำอัดลม เอส จ่ายค่าเสียหายให้ผู้บริโภคกว่า 2 ล้านบาท หลังพิสูจน์พบว่ากระบวนการผลิตสินค้าไม่ปลอดภัย ผู้บริโภคเสนอให้เยียวยาผู้บริโภคทันทีจะเป็นผลดีต่อผู้ประกอบการ
31 พ.ค. 60 ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยผลการพิทักษ์สิทธิให้กับผู้บริโภค กรณีได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคว่าเมื่อวันที่ 18 พ.ค. 57 ผู้บริโภคซึ่งเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ได้ทำงานพิเศษช่วงเย็นเป็นพนักงานร้านอาหารขณะนำขวดเครื่องดื่มน้ำอัดลมยี่ห้อดังกล่าวใส่ถาดไปเสิร์ฟให้ลูกค้าเกิดระเบิดขึ้น ทำให้เศษแก้วกระเด็นเข้าตาข้างซ้ายเป็นเหตุให้เลนส์ตาซ้ายแตกทำให้ตาบอด หลังการเกลี่ยไกล่ไม่ได้ผลจึงยื่นฟ้องเป็นคดีผู้บริโภค โดยฟ้องตาม พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551 เรียกค่าเสียหาย 10,897,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 บาท ต่อปี นับจากวันยื่นฟ้อง นั่นคือวันที่ 18 พ.ค. 58
หลังการพิจารณาคดีศาลได้พิพากษาเมื่อวันที่ 8 ก.พ.60 ให้จ่ายค่าเสียหายจำนวน 1,430,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ตั้งแต่วันเกิดเหตุไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยคิดดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้อง รวมทั้งชำระค่าสูญเสียความสามารถในการประกอบอาชีพทั้งปัจจุบันและอนาคตอีก 900,000 บาท โดยให้สงวนสิทธิ์ที่จะแก้ไขคำพิพากษาเกี่ยวกับค่าเสียหายอย่างอื่นที่ไม่ใช่ตัวเงิน รวมถึงค่ารักษาพยาบาลในอนาคตไว้จนกว่าจะรักษาเสร็จ ภายใน 5 ปี นับตั้งแต่มีคำพิพากษา
นายเฉลิมพงษ์ กลับดี ทนายความจากศูนย์ทนายอาสามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ผู้รับผิดชอบคดีกล่าวว่า การยื่นฟ้องในคดีนี้ ภาระการพิสูจน์อยู่กับผู้ประกอบการ ที่จะต้องพิสูจน์ว่าสินค้าของตัวเองปลอดภัย
“ในการสู้คดีนั้นสู้กันด้วยหลักวิชาการซึ่งพบว่าแม้จะมีการตรวจวัดแรงดันก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขวดน้ำอัดลม แต่มีการนำขวดเก่ากลับไปใช้ซ้ำ จะเลิกใช้ขวดที่ชำรุดก็ต่อเมื่อขวดชำรุดเห็นประจักษ์ ซึ่งขวดที่อาจมีการชำรุดเราจะมองด้วยตาเปล่าไม่เห็นเลย รวมถึงการขนส่ง การนำไปแช่ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิแบบเชียบพลัน การถูกกระแทกเวลาขนส่ง ล้วนส่งผลต่อการชำรุดของขวด เมื่อพิสูจน์ไม่ได้ศาลจึงตัดสินว่าเป็นสินค้าไม่ปลอดภัย” นายเฉลิมพงษ์กล่าว
นอกจากนี้ยังกล่าวเพิ่มเติมว่าเพื่อจะวิเคราะห์ได้รวดเร็วขึ้นผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากสินค้าไม่ปลอดภัยควรเก็บหลักฐานนั้นไว้ด้วย เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญได้พิสูจน์ รวมถึงหากมีบิลค่ารักษาพยาบาลต่างๆก็ควรเก็บไว้เพื่อใช้ประกอบการเรียกค่าชดเชยต่างๆได้
นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่าไม่เฉพาะผู้ประกอบการรายนี้เท่านั้น อยากให้รายอื่นๆตระหนักถึงเรื่องนี้ด้วย อยากให้มีกระบวนการเยียวยาผู้บริโภคที่รวดเร็วเพราะความเสียหายจากสินค้าอาจเกิดขึ้นได้
“การได้รับความเสียหายจากสินค้าอาจจะเกิดขึ้นได้ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วการชดเชยเยียวยาให้กับผู้บริโภคเป็นสิ่งที่จำเป็นที่ผู้ประกอบการต้องชดเชยให้กับผู้บริโภค ไม่ต้องให้ผู้บริโภคฟ้องแล้วถึงจะเยียวยา ถ้าผู้ประกอบการตระหนักถึงจุดนี้น่าจะเป็นผลดีที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในการใช้สินค้านั้นต่อไป และเป็นการยกระดับมาตรฐานสินค้าของตัวเองด้วย” นางนฤมลกล่าว