คอบช. พร้อมเครือข่ายผู้บริโภค ติง สนช. ร่างพรบ.คุ้มครองผู้บริโภค อาจขัดร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมเรียกร้องให้มีกฎหมายตั้งองค์กรตัวแทนผู้บริโภคที่เป็นอิสระ มีส่วนร่วมกับหน่วยงานรัฐคุ้มครองผู้บริโภค เทียบเคียงกับสภาอุตสาหกรรม หอการค้า
4 เม.ย. 2560 ตัวแทนคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) ร่วมกับ สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทุกภูมิภาคทั่วประเทศยื่นข้อเสนอในการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ... โดยเห็นว่าการแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ... อาจขัดกับการจัดทำร่างกฎหมายการรวมตัวของผู้บริโภค ตามมาตรา 46 แห่งร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมร่วมกันเรียกร้องให้มีกฎหมายตั้งองค์กรตัวแทนผู้บริโภคที่เป็นอิสระ มีส่วนร่วมกับหน่วยงานรัฐคุ้มครองผู้บริโภค เทียบเคียงกับสภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า ทั้งนี้มีผู้แทนของสภานิติบัญญัติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นตัวแทนรับหนังสือ
ผศ.ประสาท มีแต้ม กรรมการ คอบช. ผู้เชี่ยวชาญด้านบริการสาธารณะ กล่าวว่า คอบช. ได้ติดตามสถานการณ์ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาและเสนอแนะแนวทางการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้จัดทำรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การศึกษาและข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค และต่อมาได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นหน่วยงานหลักรับข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นั้น
คณะกรรมการฯ ได้มีการศึกษารายงานการพิจารณาดังกล่าว และเห็นว่าการแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ... อาจขัดกับจัดทำร่างกฎหมายจัดตั้งการรวมตัวกันของผู้บริโภค และการตั้งองค์กรเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ตามมาตรา 46 ของร่างรัฐธรรมนูญ เช่น การกำหนดให้มาตรา 62 ถึงมาตรา 67 จำกัดการรวมตัวขององค์กรผู้บริโภคให้เป็นเพียงคณะกรรมการองค์กรเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ประกอบด้วยกรรมการ 9 คน โดยเลือกจากสมาชิกของสมาคม หรือกรรมการของมูลนิธินำ และมีสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นสำนักงานเลขานุการซึ่งหากการทำหน้าที่ให้ความเห็นไม่สอดคล้องกับสคบ. จะมีการดำเนินการได้อย่างยากลำบากหรือไม่สามารถดำเนินได้
นางอรกัลยา พุ่มพึ่ง หัวหน้าศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค จ.ปทุมธานี กล่าวว่า องค์กรที่จะมีสิทธิในการรวมตัวกันเป็นคณะกรรมการ ถูกจำกัดให้เป็นสมาคมและมูลนิธิที่จะต้องได้รับการรับรองหรืออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เท่านั้น เท่ากับว่า การรวมตัวกันขององค์กรผู้บริโภคในรูปแบบอื่นๆ เช่น ชมรมคุ้มครองผู้บริโภค ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดต่างๆ สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค สภาผู้บริโภคจังหวัดต่างๆ ไม่มีสิทธิตามกฎหมายฉบับนี้ ทั้งที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 46 วรรคสอง กำหนดให้มีสิทธิรวมตัวกันเป็นองค์กรผู้บริโภคเพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค โดยไม่จำเป็นต้องเป็นรูปแบบสมาคมและมูลนิธิเท่านั้น แต่มาตรา 63 กลับเขียนให้มีเพียงองค์กรที่ต้องจดทะเบียนในรูปแบบสมาคมและมูลนิธิ
นางสาวบุญยืน ศิริธรรม กรรมการ คอบช. ตัวแทนผู้บริโภคเขตภาคตะวันตก กล่าวว่า ผู้บริโภคควรมีองค์กรที่เป็นตัวแทนผู้บริโภคอย่างแท้จริง เนื่องจาก ตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ในมาตรา ๖๔ กำหนดให้องค์กรผู้บริโภค ทำหน้าที่เพียงการให้ความคิดเห็นต่อส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรมหาชนหรือหน่วยงานอื่นของรัฐเพื่อพิจารณาในการตรากฎหมาย กฎและข้อบังคับและในการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของผู้บริโภคนั่นย่อมต้องมีส่วนร่วมกับหน่วยงานรัฐในการกำหนดนโยบาย มาตรการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เทียบเคียงกับสภาอุตสาหกรรม หอการค้า หรือภาคธุรกิจเอกชนในปัจจุบัน
นอกจากนี้ยังกล่าวเพิ่มเติมว่ากฎหมายฯ ตามมาตรา 46 ของร่างรัฐธรรมนูญ ควรมีการจัดทำเป็นกฎหมายเฉพาะในระดับพระราชบัญญัติ จึงไม่ควรนำไปอยู่ในพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค อันเป็นกฎหมายจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นหน่วยงานรัฐ เนื่องจาก เจตนารมณ์ของมาตรา 46 มุ่งหมายให้ผู้บริโภคมีองค์กรที่เป็นตัวแทนของผู้บริโภค ที่มีความเป็นอิสระในการทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค และเกิดพลังในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค