วันนี้ (17 ส.ค. 59) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจัดเสวนา หัวข้อ “ทำไมแพทยสภาต้องมีคนนอก” โดยมี น.ส.อินดา สุขมานิงซิงค์ (Ms.Indah Suksmaningsih) ตัวแทนจากสมาคมผู้บริโภคอินโดนีเซีย (Yayasan Lembaga Konsumen Indonesia -YLKI) ถอดประสบการณ์การคุ้มครองผู้บริโภคด้านการแพทย์ ในฐานะหนึ่งในคณะกรรมการแพทยสภาของประเทศอินโดนีเซีย
น.ส.อินดา กล่าวว่าระบบแพทยสภาของอินโดนีเซียนั้นได้ศึกษามาจากประเทศอังกฤษ โดยเป็นระบบกลไกแบบไตรภาคี (Tribunal) จาก 3 กลุ่ม ได้แก่ แพทย์อาชีพ แพทย์ที่มีความรู้ด้านกฎหมาย และนักกฎหมายที่เป็นคนนอก โดยมีการสัดส่วนกรรมการที่มาจากบุคคลภายนอกอย่างชัดเจน ได้รับการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีของรัฐ
“แพทยสภาของประเทศอินโดนีเซียเริ่มก่อตั้งในปี ค.ศ.2004 มีกลไก ที่คอยแก้ไขปัญหาข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างหมอและคนไข้ รวมถึงเป็นตัวเลือกในการร้องทุกข์มีบทบาทเป็นคนกลางในการไกล่เกลี่ยปัญหาระหว่างหมอและคนไข้ให้ได้รับความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย ซึ่งในกรณีที่พบว่าหมอทำการรักษาผิดพลาด ปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎระเบียบวิชาชีพแพทย์ ทำให้คนไข้เกิดความเสียหายหรือสูญเสีย ก็จะถูกยึดใบอนุญาตประกอบวิชาชีพแพทย์ชั่วคราวทันที และถูกส่งตัวให้ไปเข้ารับการอบรมทางด้านการแพทย์เพิ่มเติม ซึ่งปัญหาข้อพิพาทต่างๆ ส่วนหนึ่งมาจากการที่หมอไม่เคยอธิบายสาเหตุของความผิดพลาดให้คนไข้ได้เข้าใจอย่างชัดเจน ทำให้คนไข้หรือผู้เสียหายขาดการรับรู้สาเหตุของความผิดพลาดที่แท้จริง ซึ่งตรงนี้แพทยสภาก็จะทำหน้าที่เข้าไปอธิบายและทำความเข้าใจในรายละเอียดต่างๆ ตรงนั้น แต่ถ้าหากผู้ร้องเรียนไม่พอใจในแนวทางการตัดสิน ก็สามารถเลือกที่จะส่งเรื่องฟ้องร้องต่อศาลเพื่อขอความเป็นธรรมต่อไปได้” คณะกรรมการแพทยสภาของประเทศอินโดนีเซีย กล่าว
พร้อมกล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับงบประมาณบริหารจัดการว่ามาจากฝั่งหมอที่ยอมจ่ายเงินของตนเองเพื่อที่จะให้มีคนนอกเข้ามาร่วมในแพทยสภา แสดงให้เห็นว่าในประเทศอินโดนีเซียนั้น หมอเองก็ต้องการปกป้องคนไข้ให้ได้รับความเป็นธรรมจากการรับบริการทางด้านการแพทย์ให้มากที่สุดเช่นกัน
“การทำงานของกลไกระบบไตรภาคีนั้น เมื่อคนไข้ไม่พอใจ ถ้าต้องการความยุติธรรมก็สามารถเข้าสู่กระบวนการของศาลได้ ถ้ารู้สึกว่าแพทย์ทำผิดจรรยาบรรณหรือดูแลเราต่ำกว่ามาตรฐานที่ควรจะเป็น ก็ให้ไปร้องเรียนกับสมาคมแพทย์ หรือ มาร้องเรียนที่แพทยสภาก็ได้ ถือเป็นกลไกที่จะป้องกันประชาชน และสร้างมาตรฐานที่ดี แสดงให้เห็นว่าชาวอินโดนีเซียเองสามารถเลือกได้ ซึ่งรัฐบาลได้เลือกระบบที่มีสัดส่วนของคนนอกเข้าไปทำงานในแพทยสภา ซึ่งเป็นระบบที่ใกล้เคียงกับความเป็นธรรมมากที่สุด” น.ส.อินดากล่าว
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวกรณีประเด็นให้แพทยสภามีคนนอกว่า การที่มีคนนอกเข้าไปอยู่ในระบบแพทยสภาจะเป็นตัวช่วยสร้างความน่าเชื่อถือจากประชาชนให้กับแพทยสภามากยิ่งขึ้น
นางสาวสุวรรณา จิตประภัสสร์ กรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ในฐานะผู้ดำเนินรายการ กล่าวว่าในประเทศไทยนั้นอาจแตกต่างจากประเทศอินโดนีเซีย เพราะมีโรงพยาบาลเอกชนค่อนข้างมาก
“อยากให้ช่วยพิจารณาว่ากฎหมายของเราควรจะนำไปสู่จุดนั้นบ้างหรือไม่ จุดที่องค์กรวิชาชีพไม่ควรที่จะคุยและตัดสินกันเองโดยไม่ได้มีตัวแทนจากฝั่งประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม ในเมื่อวิชาชีพนั้นมีผลกระทบต่อประชาชนร้อยเปอร์เซ็นต์ อย่างเช่นกรณีหมอกับคนไข้ ซึ่งคนไข้เองควรมีสิทธิมีส่วนเข้าไปรับรู้รับฟังและร่วมกันตัดสินในกรณีต่างๆ ที่ถูกร้องเรียนเข้ามายังแพทยสภา ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องของทางกลุ่มผู้บริโภคให้แก้กฎหมายเพื่อความเป็นธรรมของระบบสาธารณสุขเมืองไทย” กรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติกล่าว