เครือข่ายผู้บริโภคสุดทน ผนึกกำลังสหภาพฯกฟผ. ร้อง สว. ตรวจสอบธรรมาภิบาล กพช.และกระทรวงพลังงาน

เครือข่ายผู้บริโภคสุดทน ผนึกกำลังสหภาพฯกฟผ. ร้อง สว.   รัฐปล่อยผีโรงไฟฟ้าบางคล้า ทำค่าไฟฟ้าเพิ่ม  ผนึกกำลังสหภาพฯกฟผ. ร้อง สว. ตรวจสอบธรรมาภิบาล กพช.และกระทรวงพลังงาน เร่งด่วน!

Consumerthai - วันนี้(31 ส.ค. 2553) -  เวลาประมาณ 13.30 น. อาคารรัฐสภา 1  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมเครือข่ายคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคภาคประชาชน จับมือสหภาพฯ กฟผ. รุกยื่นหนังสือ สว.รสนา โตสิตระกูล ประธานคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา เพื่อขอให้ตรวจสอบความไร้ธรรมาภิบาลของ รมต.พลังงานและข้าราชการระดับสูง พ่วงด้วยนายกรัฐมนตรีในฐานะประธาน กพช. ที่สั่งอุ้มโรงไฟฟ้าบางคล้าซึ่งหนีการต่อต้านของชาวบ้าน จ. ฉะเชิงเทรา ให้ย้ายมาตั้งที่ นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ อ.อุทัย จ.อยุธยา แถมออฟชั่นให้ขึ้นค่าไฟฟ้าได้อีกตลอดอายุสัญญาของโครงการ ท้ายสุดประชาชนรับกรรม

นายอิฐบูรณ์  อ้นวงษา ตัวแทนจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นางสาวบุญยืน  ศิริธรรม ตัวแทนจากเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคประชาชน และ นายศิริชัย  ไม้งาม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสหากิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(สร.กฟผ.) พร้อมคณะ ได้เดินทางมาที่อาคารรัฐสภา 1 เพื่อร่วมกันยื่นหนังสือต่อนางสาว รสนา  โตสิตระกูล ประธาน คณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา เพื่อขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการระดับสูงในกระทรวงพลังงาน , รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน , คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) และนายกรัฐมนตรีในฐานะประธาน กพช. กรณีการแก้ไขปัญหาการก่อสร้างโรงไฟฟ้าบางคล้า ที่ กพช. มีมติเห็นชอบให้ย้ายสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้าจากพื้นที่ตำบลเสม็ดใต้ อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา ไปยังนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และให้ปรับค่าไฟฟ้าที่ขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)เพิ่มขึ้นอีก 9.49 สตางค์ต่อหน่วย รวมเป็นค่าไฟฟ้าใหม่เท่ากับ 2.74 บาทต่อหน่วย ซึ่งกลุ่มผู้ยื่นหนังสือเห็นว่าไม่มีความเป็นธรรมและจะสร้างความเดือดร้อนต่อผู้บริโภคโดยรวม

น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ตัวแทนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคประชาชน  กล่าวว่า ขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการะดับสูง ว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนในการผลักดันให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าหรือไม่ และตรวจสอบการย้ายโรงไฟฟ้าบางคล้า  มีความจำเป็นต่อระบบกำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศเพียงใด  นอกจากนี้ปัญหาค่าไฟที่เพิ่มขึ้นมีข้อสังเกตว่าการอนุมัติให้สร้างโรงไฟฟ้า โดยย้ายสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้าที่มีประเด็นที่ต้องพิจารณาทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ที่ยังไม่มีการประเมินคุณภาพอากาศ และยังไม่มีการพิจารณาการดำเนินการตามมาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญจึงขอเรียกร้องให้กรรมาธิการดำเนินการตรวจสอบโดยเร่งด่วน มิเช่นนั้นปัญหาจะเกิดบานปลายในภายหลังในลักษณะเดียวกับนิคมอุตสาหกรรมมาบตา พุด

ด้านนางสางรสนา กล่าวว่า น่าสังเกตว่าการที่ย้ายสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้าจากบางคล้า มายังนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จ.พระนครศรีอยุธยานั้น ยังไม่มีการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แต่ปรากฏว่า กพช. กลับมีมติให้ย้ายโรงไฟฟ้า ดั้งนั้นเพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น รัฐบาลควรทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ก่อนที่จะดำเนินการอะไร นอกจากนี้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ สามารถที่จะใช้ช่องทางของรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 67 วรรค 2 ดำเนินการได้ เพราะเกี่ยวข้องกับเรื่องการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และในเรื่องการทำประชาพิจารณ์ด้วย

โดยเนื้อหาในหนังสือระบุว่า จากกรณีคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้มีมติครั้งที่ 2/2553 ครั้งที่ 131 กรณีการแก้ไขปัญหาการก่อสร้างโรงไฟฟ้าบางคล้า ขนาดกำลังการผลิต 1,600 เมกะวัตต์  ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงของบริษัท สยามเอ็นเนอยี่ จำกัด ที่มีบริษัท กัลฟ์เจพี จำกัด เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 99.94% โดยเห็นชอบให้ย้ายสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้าจากพื้นที่ตำบลเสม็ดใต้ อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา ไปยังนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และให้ปรับค่าไฟฟ้าที่ขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)เพิ่มขึ้นอีก 9.49 สตางค์ต่อหน่วย รวมเป็นค่าไฟฟ้าใหม่เท่ากับ 2.74 บาทต่อหน่วยนั้น

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคประชาชน และ สหภาพแรงงานรัฐวิสหากิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(สร.กฟผ.) เห็นว่า มติของกพช.ดังกล่าว ขาดธรรมาภิบาล ไม่มีความเป็นธรรมต่อประชาชนในฐานะผู้บริโภคเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมารับภาระค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นทั้งๆที่ไม่ได้เป็นผู้ที่ก่อปัญหา ทั้งนี้ปัญหาดังกล่าวมีประเด็นที่ต้องขอให้คณะกรรมาธิการฯ ดำเนินการตรวจสอบและรายงานผลตรวจสอบพร้อมข้อเสนอแนะส่งถึงรัฐบาลให้ดำเนินการแก้ไขปัญหานี้โดยเร็วเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน ดังนี้



1.ขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการระดับสูงในกระทรวงพลังงาน , รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน , คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) และนายกรัฐมนตรีในฐานะประธาน กพช. ว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมีธรรมาภิบาลหรือไม่ ที่ได้เห็นชอบในแนวทางการย้ายที่ตั้งโรงไฟฟ้า ซึ่งมีการขอปรับค่าซื้อขายไฟฟ้าที่สูงขึ้นอันเป็นตามข้อเสนอของบริษัท สยามเอ็นเนอยี่ จำกัด ทุกประการ ทั้งๆที่รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA)ของโครงการโรงไฟฟ้าบางคล้าไม่ได้รับความเห็นชอบภายในระยะเวลาที่กำหนดของสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(สัญญา PPA) ที่ กฟผ. ทำกับบริษัท สยามเอ็นเนอยี่ จำกัด  ซึ่งรัฐสามารถใช้เหตุดังกล่าวในการยกเลิกโครงการนี้ได้โดยไม่ต้องชดเชยค่าเสียหายให้แก่เอกชนแต่อย่างใด  อันจะทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไม่อยู่ในระดับที่สูงเกินควร และไม่ก่อภาระต่อประชาชน สังคม สิ่งแวดล้อมโดยรวม

2.ขอให้ตรวจสอบว่า โรงไฟฟ้าบางคล้าที่รัฐให้ย้ายสถานที่ไปที่จังหวัดอยุธยานี้ มีความจำเป็นต่อระบบกำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศเพียงใด จำเป็นต้องให้มีการก่อสร้างต่อไปหรือจะยกเลิกได้หรือไม่

3.ขอให้ตรวจสอบว่ามีเจ้าพนักงานของรัฐ และ/หรือหน่วยงานของรัฐ มีผลประโยชน์ทับซ้อนในการผลักดันให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้านี้ต่อไปหรือไม่

นอกจากปัญหาค่าไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นแล้ว คณะผู้ยื่นหนังสือยังมีข้อสังเกตว่า การอนุมัติให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าโดยให้ย้ายสถานที่ตั้งมายังนิคมอุตสาหกรรมโรจนะของ กพช. นั้น พิจารณาบนพื้นฐานของข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนรอบด้าน และเป็นการเร่งตัดสินใจเพื่อประโยชน์ของเอกชนแต่ฝ่ายเดียวโดยไม่ห่วงใยต่อประโยชน์ของประชาชนและสังคมโดยรวมเท่าที่ควร

เนื่องจากยังมีข้อสังเกตของคณะอนุกรรมการพิจารณาแนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาการก่อสร้างโรงไฟฟ้าบางคล้า ที่นายวรรณรัตน์  ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานแต่งตั้ง ในหลายประเด็นคือ ด้านสิ่งแวดล้อม ที่ยังไม่มีการประเมินคุณภาพอากาศในบรรยากาศที่อาจเกิดผลกระทบสะสมเนื่องจากการมีโรงไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้าใกล้เคียง ซึ่งอาจทำให้คุณภาพอากาศในบรรยากาศเกินค่ามาตรฐานและกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน และยังไม่มีการพิจารณาดำเนินการตามมาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน หากโครงการนี้เข้าข่ายเป็นโครงการที่มีผลกระทบรุนแรง แต่ กพช.ก็ยังตัดสินใจอนุมัติในท้ายที่สุด

ดังนั้นคณะผู้ยื่นหนังสือจึงเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมา-ภิบาล วุฒิสภา ตรวจสอบเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน มิเช่นนั้นอาจก่อให้เกิดปัญหาบานปลายในภายหลังลักษณะเดียวกับที่เกิดขึ้นในนิคมอุตสาหกรรมาบตาพุดได้



พิมพ์ อีเมล