ชี้รัฐทบทวนGMOs เหตุกระทบความมั่นคงทางอาหาร วอนสื่อชี้นำหยุดยั้งGMOsแทนปชช.

ภาคประชาสังคมร่วมกับองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชนเดินหน้าปฏิเสธการปลูกพืชจีเอ็มโอในพื้นที่เกษตรของไทย ชี้กระทบความมั่นคงทางอาหาร สื่อควรชี้นำหยุดยั้งแทนประชาชน วอนรัฐทบทวนนโยบายผลักดันจีเอ็มโอ หันสนับสนุนวิจัยพัฒนาพันธุ์พืชไทย

วันนี้ (17 ต.ค. 57) สภาเกษตรกรแห่งชาติ ร่วมกับ สมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ไทย สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เครือข่ายความมั่นคงทางอาหาร มูลนิธิกสิกรรรมธรรมชาติ และมูลนิธิชีววิถี (Biothai) จัดเวทีอภิปรายเรื่อง “เดินหน้า GMO บรรษัทกำไร ประเทศไทยล่มจม?” ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ

 

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ประธานกล่าวเปิดเวทีอภิปรายในครั้งนี้ว่า “การวิจัยพัฒนาการตัดแต่งพันธุ์กรรม (GMOs: Genetically Modified Organisms) เพื่อหาความรู้ให้มากยิ่งขึ้นไป แต่ไม่เกี่ยวกับเรื่องการนำมาส่งเสริมเกษตรกร หากจะนำมาส่งเสริมเกษตรกรต้องมีการศึกษาให้รอบคอบ และเตรียมการที่มากกว่านี้ เรื่องนี้อย่ารีบร้อนเพราะจะเป็นปัญหาต่อรัฐบาลที่ใหญ่มาก...”

 

ด้าน นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี เล่าถึงสถานการณ์ GMOs ว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยเคยมีการทดลองปลูกพืชจีเอ็มโอหลายครั้งแต่ก็ได้ยกเลิกไป เนื่องจากพบการหลุดรอดออกจากสถานีทดลองพืชจีเอ็มโอ จนนำมาสู่มติ ครม. ปี 2542 และ 2550 ที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกันว่า มิให้มีการปลูกจีเอ็มโอในพื้นที่เปิด ยกเว้นทดลองในพื้นที่ของรัฐโดยต้องประเมินผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม รับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ นักวิชาการอิสระและองค์กรสาธารณะประโยชน์ และต้องขออนุมัติเป็นกรณีๆ เท่านั้น
“สิ่งที่ต้องจับตาดูนอกจากเรื่องการปลูกพืชจีเอ็มโอ ก็คือการผลักดันกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพด้วย เพราะสถานการณ์ที่เรามี คนช. นั้นด้านหนึ่งก็มีความรวดเร็ว กฎหมายที่ดีก็สามารถออกมาได้โดยง่าย กฎหมายเลวก็สามารถออกมาง่ายเช่นกัน” ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าว

 

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ยังกล่าวถึงสถานการณ์การปฏิเสธอาหารจีเอ็มโอใน 64 ประเทศทั่วโลกว่า เกิดกระแสปฏิเสธจีเอ็มโอเมื่อ 15 ปีที่แล้ว และปัจจุบันมีแนวโน้มไม่เห็นด้วยกับการส่งเสริมอาหารจีเอ็มโอมากขึ้นและเรียกร้องให้มีการติดฉลากอาหารจีเอ็มโอ โดยเฉพาะในทวีปยุโรป ขณะที่สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศที่ผลักดันให้เกิดพืชจีเอ็มโอนั้นเริ่มเกิดกระแสไม่เห็นด้วยกับอาหารจีเอ็มโอมากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะในรัฐเมน คอนเน็ตติกัท และเวอร์มอนต์ เป็น 3 รัฐแรกของสหรัฐที่มีมาตรการบังคับติด นอกจากนี้งานวิจัยในอเมริการระบุว่าการปลูกจีเอ็มโอมิได้ทำให้มีผลผลิตมากไปกว่าพืชทั่วไป ขณะที่ราคาเมล็ดพันธุ์เพิ่มขึ้น และงานศึกษาจำนวนมากพบว่ามีการใช้สารเคมีปราบศัตรูพืชเพิ่มขึ้น  ผลการศึกษาล่าสุด 1 กรกฎาคม 2556 ของ Food&Water Wath พบว่า การปลูกพืชจีเอ็มโอในสหรัฐฯ ทำให้มีการใช้สารเคมีเพิ่มขึ้น 10 เท่า

 

ด้าน รศ.ดร.สุรวิช วรรณไกรโรจน์ คณะเกษตร ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ประเทศไทยต้องปฏิรูปยุทธศาสตร์เกษตรกรรม การเปิดเกมจีเอ็มโอของภาครัฐบาลเป็นยุทธศาสตร์ที่ผิดมหันต์ให้อภัยไม่ได้ พืชเหล่านี้ผลิตขึ้นเพื่อขายสินค้าราคาถูก ไม่ใช่ราคาแพง เกษตรกรรายย่อจะอยู่ไม่ได้ เพราะพื้นที่เกษตรมีน้อย รายได้เกษตรกรรมไม่พอ ทำให้เกิดเกษตรกรรายใหญ่ก็คือบรรษัท หากเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งเกิดอีกครั้งเกษตรกรรายย่อยจะไปอยู่ที่ไหน เพราะคนไทยก็ต้องกลับไปสู่ภาคเกษตรกร

 

รศ.ดร.ปิยะศักดิ์ ชอุ่มพฤกษ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และนักพันธุศาสตร์ กล่าวว่า ฐานพันธุกรรมเป็นทรัพยากรที่มีค่า ประเทศไทยมีความหลากหลายทางพันธุกรรมจำนวนมาก ขณะที่เรากำลังเล่นสงครามแย้งชิงยีน ภายใต้นโยบายที่สหรัฐฯมานำกำกับใช้ กำลังเปลี่ยนจากสงครามแย้งชิงยีนแย้งชิงสิทธิบัตรสงครามแก่งแย่งผลประโยชน์มาสู่สงครามการค้า ซึ่งผลประโยชน์ทั้งหมดถูกผูกขาดโดยบริษัทข้ามชาติเพียงไม่กี่บริษัท เราควรศึกษาพันธุกรรมทางชีวภาพที่มีความหลากหลายในประเทศ และเล่นเกมอินทรีย์

“กลไกของรัฐไม่ได้ทำให้เรามีความปลอดภัย หากวันหนึ่งเขาปลูกข้างนอกแล้วใครจะมาดูมาบังคับใช้กฎหมาย เมื่อเกิดผลกระทบทางการค้ากลับเกิดเป็น CS รายใหญ่ๆ เกิดพันธุกรรมรายใหม่ ต้องอาศัยความรู้ใหม่ ขาดกำลังคน และเพิ่มต้นขึ้นอีก นอกจากนี้จีเอ็มโอจะทำให้ฐานทรัพยากรเป็นร้อยๆ ปีพัง ระบบผลิตพัง มันมีเรื่องของความมั่นคงความเสถียรภาพ ความมั่นคงทางอาหารสำคัญยิ่งเป็นความมั่นคงหลักของชาติ คงไม่ยอมให้ชาวต่างชาติมายึดผลประโยชน์ ผมคิดว่าทำอย่างไรให้เกิดการพัฒนาเกษตรกรที่ยั่งยืน อันนี้เป็นคำตอบสุดท้ายที่ผมคิดว่าสำคัญ” รศ.ดร.ปิยะศักดิ์ กล่าว

 

ขณะที่ ดร.ทวีศักดิ์ ภู่หลำ บริษัทผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวาน กล่าวว่า เดิมเคยสนับสนุนการปลูกพืชจีเอ็มโอเพราะเห็นว่าเป็นเทคโนโลยีใหม่ แต่เมื่อเวลาผ่านไปเห็นว่าอาจทำให้เกิดการผูกขาด ดังกรณีฟิลิปปินส์ที่กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีล้มหายไป

“ผมยอบรับได้หากมีการนำอาหารจีเอ็มโอมาใช้เพื่อการปศุสัตว์ แต่คงยอมรับไม่ได้หากมีการทดลองในแปลงของเกษตรกร เพราะเชื่อว่าจะถูกกลุ่มทุนข้ามชาติผูกขาดได้ในอนาคต ควรนำเงินไปพัฒนาปรับปรุงพันธุ์พืชให้เกิดการแข่งขัน” ดร.ทวีศักดิ์ กล่าว

 

นายอุบล อยู่หว้า ผู้แทนเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก กล่าวว่า พืชจีเอ็มโอไม่มีความแม่นยำ หากกระจายไปในธรรมชาติไม่สามารถนำกลับมาได้ จะเผาโลกทั้งโลกทิ้งหรือ ผมเห็นว่าจีเอ็มโอเป็นรูปธรรมอันหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นความอ่อนแอของรัฐในการกำกับพฤติกรรมกลุ่มทุน เช่นเดียวกับเซเว่นอีเลฟเว่นที่ดำเนินธุรกิจขายอาหารตามสั่ง ในการปิดกั้นโอกาสของคนทั้งประเทศที่จะทำมาหากิน ถ้าจะพูดถึงความเข้มแข็งของประเทศต้องสนับสนุนให้เกษตรกรเป็นผู้ครอบครองเป็นเจ้าของมีอำนาจในปัจจัยการผลิตของตนเองในแต่ละถิ่นเลือกเพาะปลูกในพืชที่ต่างกัน

“อาหารเป็นวัฒนธรรมของมนุษย์ แต่บรรษัทเหล่านั้นกำลังยึดวัฒนธรรมไป พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องทำให้จีเอ็มโอกลายเป็นปัญหาความมั่นคงของชาติให้ได้ เเละต้องสนับสนุนพัฒนางานวิจัยร่วมกับเกษตรกร เพื่อค้นหาศักยภาพของเมล็ดพันธุ์พืชที่มีในแผ่นดินนี้จริงจัง" นายอุบล กล่าว

 

ขณะที่ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า รายงาน The Case Against GMOs An Environmental Investor’s View of the Threat to our Global Food Systems ได้ศึกษางานวิจัยจำนวน 74 ชิ้นใน 8 ประเทศ พบความเสี่ยง 4 อย่าง คือ 1.เสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อม 2.เสี่ยงทางสังคม ที่อินเดียจีเอ็มโอเกี่ยวข้องกับสาเหตุการตายหรือการฆ่าตัวตายของชาวนาที่อินเดียถึง 2.5 แสนคน 3.เสี่ยงต่อการจัดการของรัฐ และ 4.เสี่ยงต่อเกษตรกร ปลูกแล้วไม่มีคนกิน เพราะกระแสต้านจีเอ็มโอมีเพิ่มขึ้น

“สื่อมวลชนมีส่วนสำคัญมากที่สุดในการช่วยเราให้ก้าวพ้นจากสิ่งเหล่านี้ โดยต้องละทิ้งความเป็นกลาง แล้วหันมาชี้นำเรียกร้องหยุดยั้งแทน ให้เห็นว่าเรามีสิทธิที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีและเลือกบริโภคอาหารปลอดภัย และขอให้รัฐบาลเร่งทบทวนนโยบายผลักดันพืชจีเอ็มโอเป็นยุทธศาสตร์เกษตรให้ชัดเจนและยุติการทดลองในไร่นาของเกษตรกร ส่วนจะทำในห้องแล็ปก็ทดลองไป” เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าว

น.ส.สารี กล่าวถึงการติดฉลากในผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอต้องทำให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม เห็นได้ง่าย เพื่อให้ผู้บริโภคมีทางเลือกตัดสินใจ และจำเป็นต้องผลักดันให้เกิดเครื่องมือภาคประชาชน นั่นคือ องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งกลไกนี้จะทำให้ความเห็นของเรามีความหมาย

 

นายวัลลภ พิชญ์พงศา สมาคมการค้าเกษตรอินทร์ย์ไทย กล่าวว่า ประเทศไทยเคยได้รับผลกระทบจากจีเอ็มโอกรณีการส่งออกมะละกอ ขณะเดียวกันในสหรัฐฯ พบการปนเปื้อนของข้าวจีเอ็มโอที่ส่งเข้าไปขายยังตลาดยุโรป ซึ่งสหรัฐฯต้องใช้เวลาหลายปีในการแก้ปัญหาการปนเปื้อนดังกล่าว ทุกครั้งที่เรามีการขายก็ต้องมีใบรับรองว่าไม่มีจีเอ็มโอ อีกเรื่องที่เป็นกังวลคือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเห็นได้จัดจากกรณีสหรัฐฯ ที่ปลูกพืชจีเอ็มโอมานานแล้วก็ยังไม่สามารถป้องกันได้ยังไม่มีระบบการจัดการที่ดี สะท้อนให้เห็นว่าหากจะมีการทำเกษตรอินทรีย์ควบคู่กับการทำเกษตรจีเอ็มโอเป็นไปได้ยาก

“กังวลว่า หากเราทำพืชจีเอ็มโอ แล้วสิทธิบัตรเป็นการลดทอนความพยายามของพี่น้องที่พยายามพึ่งตนเองอยากมีพันธุกรรมเป็นอย่างตนเอง หากไม่สามารถป้องกันการปนเปื้อนได้ก็ไม่สามารถป้องกันจุดแข็งที่เรามีได้ นอกจากนี้กระแสตลาดต้องการให้ติดฉลากจีเอ็มโอ หากคนส่วนใหญ่ทราบว่าสินค้ามีจีเอ็มโอผสมอยู่ก็จะไม่ซื้อ ต้องมองว่าไม่ใช่แค่ตลาดส่งออกแต่ส่งผลถึงตลาดภายในประเทศด้วย ในเรื่องเกษตรอินทรีย์ต้องสนับสนุนให้มากกว่านี้” สมาคมการค้าเกษตรอินทร์ย์ไทย กล่าว

พิมพ์ อีเมล