3 องค์กรด้านสิทธิผู้บริโภค! ผนึกกำลังเดินหน้าร่วมกัน จัดงาน Consumer Convergence

สปสช. ผนึก สคบ. และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จัดงานประชุมวิชาการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค “Consumer Convergence: ผู้บริโภค มาด้วยใจ ก้าวไกลด้วยกัน” สร้างความรู้ ความเข้าใจให้ประชาชนเข้าใจสิทธิของผู้บริโภค รวมถึงการร่วมมือทำงานในอนาคตอย่างต่อเนื่อง

วันนี้ (24 กันยายน 2557) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจัดงานประชุมวิชาการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค “Consumer Convergence: ผู้บริโภค มาด้วยใจ ก้าวไกลด้วยกัน”  ระหว่างวันที่ 24-25 กันยายน 2557 ห้องจูปิเตอร์ 11 -13 อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี  ภายในงานนอกจากจะมีการประกาศรางวัลศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพในหน่วยบริการดีเด่นระดับ แล้วยังมีการเสวนาวิชาการเกี่ยวกับผู้บริโภค ซึ่งภายในงานนี้ได้รับเกียรติจาก หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นองค์ประธานเปิดการประชุม

โดยหม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลังจากได้ศึกษา พรบ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติมโดย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 ได้บัญญัติสิทธิของผู้ บริโภคที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย 5 ประการ แล้วทำให้เห็นว่าประเทศไทยยังให้ความสำคัญต่อสิทธิผู้บริโภคน้อยมาก ส่งผลให้มีการเอารัดเอาเปรียบกันในสังคมจนกลายเป็นการเอาเปรียบกันแบบหน้าตาเฉย  ขณะที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่เองก็ประสบปัญหาการถูกเอารัดเอาเปรียบ หากจะพูดถึงการต่อสู้ของผู้บริโภคเองนั้นก็ปล่อยเลยตามเลย เนื่องจากคนส่วนใหญ่เบื่อขั้นตอนในการต่อสู้ ทำให้การต่อสู้ของผู้บริโภคในไทยนั้นไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร อย่างไรก็ตามหากภาคประชาชนมีความเข้มเข็ง รวมตัวกันให้เข้มแข็ง เพื่อสร้างอำนาจในการเจรจาต่อรองกับธุรกิจต่างๆได้ดีขึ้น ทั้งนี้รู้สึกเป็นเรื่องที่ดีที่ 3 องค์กรนี้ร่วมกันเดินหน้างานคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคร่วมกันในครั้งนี้

นอกจากนี้ภายในงาน ยังมีการจัดเสวนาการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้เรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคในต่างประเทศนำโดย อลิส ฟาม ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนรู้ฮานอย องค์กรผู้บริโภค CUTS International (Consumer Unity & Trust Society) ให้ความเห็นว่า ผู้บริโภคหลายประเทศได้เผชิญกับปัญหาคล้ายกันโดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาสิ่งที่ทำให้ผู้บริโภคอ่อนแอและด้อยค่าคือระบบการตลาดแบบผูกขาด เช่น การให้บริการไม่ดี ด้อยคุณภาพ สินค้ามีราคาแพง ไม่มีช่องทางการร้องเรียน สินค้าไม่ปลอดภัย และไม่มีทางเลือก เป็นต้น

อย่างไรก็ตามปัญหาเหล่านี้ฝังรากลึกอยู่ในเรื่องของการแข่งขันทางการค้าไม่ว่าจะเป็นการผูกขาด  การร่วมกันกำหนดราคา  การโฆษณาชวนเชื่อ การขายสินค้าพ่วง และการตกลงส่วนแบ่งทางการตลาด ทั้งนี้เรามองว่าการแข่งขันทางการค้านั้นเป็นกลไกอย่างหนึ่งที่ช่วยให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น

ขณะเดียวกันการเกิดขึ้นของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 นั้นเป็นแรงผลักดันให้ประเทศในภูมิภาคนี้ให้ความสำคัญต่อกฎหมายและพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการแข่งขันทางการค้ามากขึ้น ซึ่งการเกิดขึ้นของกฎหมายเหล่านี้จะส่งผลดีให้กับผู้บริโภคในอนาคต

"สิ่งที่เราในฐานะผู้บริโภคควรจะทำคือความร่วมมือกันและร่วมมือกับองค์กรต่างๆเพื่อผลักดันให้เกิดการแข่งขันทางการค้า การหาข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและบริการ รวมถึงการบอยคอตสินค้าเป็นต้น"

วิเวก ปัตกี รองประธานองค์กรผู้บริโภค Munbai Grahak Panchayat กล่าวว่า การทำงานของ Munbai Grahak Panchayat  หรือ MGP นั้นเป็นการรวมตัวของประชาชนที่รวมกลุ่มขึ้นมาเพื่อต้องการจัดซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคในราคาที่เป็นธรรมภายใต้หลักการไม่เอากำไรและไม่ขาดทุน โดยการทำงานของกลุ่ม MGP นั้นจะจัดหาครอบครัวที่เข้าร่วมโครงการจำนวนหนึ่งและคัดเลือกผู้นำกลุ่มเพื่อนำส่งออเดอร์สินค้าจากกลุ่มสมาชิกไปยังMGPหลังจากนั้นก็จะมีคณะกรรมการจัดซื้อสินค้า โดยส่วนใหญ่จะเป็นเจ้าหน้าที่ผู้หญิงซึ่งมีความสามารถในการต่อรองราคาสินค้าเมื่อกระบวนการสั่งซื้อเสร็จสิ้นสินค้าเหล่านั้นก็จะเดินทางไปยังบ้านของสมาชิก ทั้งนี้การรวมกลุ่มกันเพื่อต่อรองทางอำนาจทางการค้าโดยภาคผู้บริโภคนั้นมีความเข้มแข็งมากพอสมควร

สำหรับการเสวนาอีกช่วงหนึ่งมีการนำเสนองานวิจัยด้านการคุ้มครองผู้บริโภคจากนักวิชาการ 3 ท่านใน 2 เรื่องเกี่ยวกับงานผู้บริโภค ได้แก่ รศ.ดร. ชะอรสิน สุขศรีวงศ์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศึกษาเรื่องสถานการณ์การคุ้มครองผู้บริโภคในระบบสุขภาพ ซึ่งเน้นศึกษาตัวผู้บริโภค หน่วยงานของรัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน NGO  ผู้ผลิตสินค้าและบริการ และสื่อสาธารณะ เรื่องปัญหาของการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ กฎหมาย ระบบการตลาดที่มีการผูกขาด

นายฉัฏฐเมษ ภิรมย์พานิช  คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ศึกษาเรื่องโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเยียวยาความเสียหายของผู้บริโภคข้ามแดน โดยเน้นศึกษาแนวปฏิบัติที่ดีด้านการเยียวยาผู้บริโภคข้ามแดนของต่างประเทศ และเพื่อจัดทำข้อเสนอแนวทางการดำเนินมาตรการเยียวยาผู้บริโภคข้ามแดนที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558

รศ.ดร.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เน้นศึกษาเรื่องสรุปผลงานคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน 7 ด้าน  เพื่อเรียนรู้อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ การตรวจสอบการทำหน้าที่การดำเนินการ การเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นจริง การใช้สิทธิร้องเรียนและการดำเนินคดี สนับสนุนและให้การช่วยเหลือแก่องค์กรผู้บริโภค  ส่งเสริมให้มีการจัดให้มีการประชุมสมัชชาองค์กรผู้บริโภค  และสนับสนุนให้ประเทศไทยมี "องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค" อย่างเร่งด่วน เพื่อลดปัญหาประชาชนทั้ง 7 ด้าน

สำหรับรายผู้ได้รับรางวัลศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพในหน่วยบริการดีเด่นระดับประเทศปี 2556 ประเภทโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปอันดับที่ 1 ได้แก่ โรงพยาบาลร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด อันดับที่ 2  โรงพยาบาลนครพนม จังหวัดนครพนม และอันดับที่ 3  โรงพยาบาลพะเยา จังหวัดพะเยา ส่วนรางวัลชมเชยได้แก่ โรงพยาบาลสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ

ในส่วนของประเภทโรงพยาบาลชุมชน อันดับที่ 1 ได้แก่ โรงพยาบาลกันตัง จังหวัดตรัง อันดับที่ 2 โรงพยาบาลสนม จังหวัดสุรินทร์ และอันดับที่ 3 โรงพยาบาลด่านมะขามเตี้ย จังหวัดกาญจนบุรี ส่วนรางวัลชมเชยได้แก่โรงพยาบาลมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น และโรงพยาบาลบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี

นอกจากนี้ยังมีการมอบรางวัลศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพในหน่วยบริการดีเด่นระดับเขต ประจำปี 2556 ประเภทโรงพยาบาลชุมชนได้แก่ โรงพยาบาลบ้านค่าย จังหวัดระยอง และโรงพยาบาลเรณูนคร จังหวัดนครพนม

พิมพ์ อีเมล