ปัญหาข้าวไทย กับความปลอดภัยของผู้บริโภค

กลายเป็นประเด็นร้อน หลังจาก "มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค" และ "มูลนิธิชีววิถี" ออกมาเปิดเผยผลการตรวจสอบข้าวสารบรรจุถุง ระบุว่า ข้าวขาวพิมพา ตราโคโค่ มีสารเมทิลโบรไมด์ตกค้าง 67.4 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (พีพีเอ็ม) เกินมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (โคเด็กซ์: Codex) ที่องค์การอนามัยโลก กำหนดไว้ไม่เกิน 50 พีพีเอ็ม



พลันที่ข้อมูลดังกล่าวถูกเผย แพร่ เกิดกระแสตอบกลับอย่างน่าตกใจ ที่ไม่ใช่แค่ข้อกังวลถึงสารเมทิลโบรไมด์ (Methyl Bromide) เกินมาตรฐานเท่านั้น แต่กลับมุ่งไปที่ประเด็นการทำลายชื่อเสียงข้าวไทย และต้องการทราบแหล่งที่มาของการตรวจสอบครั้งนี้ว่ามาจากห้องปฏิบัติการที่ น่าเชื่อถือจริงหรือไม่

ขณะที่ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยืนยันว่าไม่สามารถบอกชื่อห้องทดสอบดังกล่าวได้ เนื่องจากกังวลว่าจะกระทบต่อห้องปฏิบัติการที่มีอยู่ในประเทศเพียงไม่กี่ แห่ง และจะไม่มีใครกล้าให้มูลนิธินำอาหารหรือสิ่งของใดๆ ไปทดสอบอีก ถึงขั้นที่ น.ส.สารีต้องย้ำว่า หากภาครัฐไม่มั่นใจกับผลการตรวจสอบก็สามารถนำตัวอย่างข้าวไปทดสอบซ้ำได้ ไม่ใช่มามุ่งประเด็นจี้หาห้องปฏิบัติการ แต่ควรนำผลการตรวจสอบของมูลนิธิไปเฝ้าระวังความปลอดภัยให้กับประชาชน และพัฒนาระบบการตรวจสอบข้าว รวมไปถึงกลุ่มอาหารอื่นๆ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นดีกว่า

คำถามคือ การที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และมูลนิธิชีววิถี ออกมาเปิดเผยข้อมูลครั้งนี้ ควรจะขอบคุณมากกว่าจะถูกตั้งคำถามหรือไม่?

 

 

 

เพราะโดยภารกิจหลักของมูลนิธิ คือ การเฝ้าระวังความปลอดภัยให้กับผู้บริโภค ต่อการใช้สินค้า บริการ รวมไปถึงอาหารการกินต่างๆ ที่อาจเข้าข่ายไม่ปลอดภัย ซึ่งมูลนิธิจะทำหน้าที่สุ่มตรวจกลุ่มอาหารต่างๆ เป็นปกติ และนำไปตรวจสอบหาสารปนเปื้อน เมื่อพบความผิดปกติก็จะมีการนำข้อมูลให้กับภาครัฐที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งแจ้งเตือนประชาชน กรณีการตรวจสอบข้าวถุงครั้งนี้ก็เช่นกัน เพียงแต่ว่าเป็นการเปิดเผยที่ไม่ถูกช่วงเวลาที่รัฐบาลกำลังมีปัญหาเรื่อง จำนำข้าว ซึ่งจะยิ่งกระทบกับผู้ประกอบการ



งานนี้...มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงเจอศึกหนัก!

น่า เสียดายว่า เมื่อมีการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว แทนที่ภาครัฐจะออกมาไขข้อข้องใจถึงกระบวนการรมควันว่าเป็นอย่างไร และปลอดภัยจริงหรือไม่ กลับมีการพูดถึงน้อยมาก ทั้งๆ ที่หลายคนยังสงสัยว่า "สารเมทิลโบรไมด์" น่ากลัวจริงหรือไม่

เรื่องนี้ นางกนกพร อธิสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรฐานของอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อธิบายว่า สารเมทิลโบรไมด์จัดเป็นกลุ่มสารรมควันที่เป็นก๊าซ ใช้รมข้าวก่อนบรรจุ โดยระยะเวลาในการรมประมาณ 1 วัน และจะระเหยขึ้นไปในอากาศใน 2-3 วัน ทำให้การตกค้างนั้นแทบไม่มี เพราะจุดเดือดของสารเมทิลโบรไมด์อยู่ที่ 3.6 องศาเซลเซียสเท่านั้น หมายความว่า เมื่อสัมผัสอุณหภูมิปกติก็เป็นก๊าซทันที จึงนิยมนำมาใช้รมข้าว เพราะทะลุทะลวงได้รอบและระเหยได้เร็ว สำหรับอันตรายนั้นจะพบในผู้รมควันมากกว่า เนื่องจากมีโอกาสสูดดมเข้าร่างกาย ซึ่งจะทำให้หมดสติ มีผลต่อระบบประสาท ด้วยเหตุนี้การรมข้าวจึงต้องผ่านการอบรม มีระบบป้องกันอย่างดี ขณะที่
ผู้บริโภคแทบไม่ส่งผลอะไร

"ประเด็น คือ ที่พบสารเมทิลโบรไมด์เกินมาตรฐานในข้าวนั้น จริงๆ เป็นสารโบรไมด์ไอออน (Bromide Ion) ซึ่งอยู่ในเมทิลฯ แต่ต้องไม่เกินค่ามาตรฐาน 50 พีพีเอ็ม ที่สำคัญสารนี้ไม่ได้มีเฉพาะในเมทิลโบรไมด์ แต่พบได้ในสภาพแวดล้อมทั่วไป คือ ดิน น้ำ ส่วนที่กังวลว่า เมื่อเกินค่าที่กำหนดจะมีอันตรายหรือไม่ จริงๆ แล้ว ถึงจะเกินมาตรฐาน



โคเด็กซ์ ก็ยังไม่อันตรายพอที่จะส่งผลต่อคน หากไม่เกินค่ามาตรฐานมากจนเกินไป" นางกนกพรกล่าว และว่า สารเมทิลโบรไมด์ ขณะนี้หลายประเทศกำลังลดการใช้ ไม่ใช่เพราะอันตรายต่อคนหรือสิ่งมีชีวิตใดๆ แต่เพราะสารดังกล่าวเมื่อระเหยขึ้นไปในอากาศจะส่งผลต่อชั้นบรรยากาศ หรือมีผลต่อสภาวะเรือนกระจก จึง เป็นสารควบคุมที่อยู่ในพิธีสารมอนทรีออล และประเทศไทยถูกกำหนดให้ยกเลิกการใช้ในปี 2558

ปัจจุบันผู้ประกอบการ ข้าวหันมาใช้สารฟอสฟีน (Phosphine) แทน ซึ่งเป็นสารรมควันชนิดหนึ่งเช่นกัน แต่ยังไม่นิยมใช้อย่างแพร่หลาย เนื่องจากฟอสฟีนเป็นสารชนิดเม็ด ต้องนำมาบรรจุถุงและนำไปแขวนไว้บริเวณที่จะรม จึงจะปล่อยก๊าซออกมา ซึ่งมีกระบวนการใช้ที่ยุ่งยากกว่าสารเมทิลโบรไมด์ และยังใช้ระยะเวลาในการรมนาน 5 วัน ระเหยเองประมาณ 3 วัน แต่มีอันตรายกับผู้รมควันไม่ต่างกับเมทิลโบรไมด์ โดยผู้ที่สูดดมสารนี้จะรู้สึกอ่อนเพลีย หูอื้อ แน่นหน้าอก เป็นต้น ส่วนพิษต่อเซลล์ หรือก่อให้เกิดมะเร็งนั้น ยังไม่มีผลงานวิจัยใดๆ รองรับ

"ข้าว" กับ "คนไทย" ถือเป็นของคู่กัน ดังนั้น สิ่งที่ภาครัฐควรเร่งดำเนินการคือ สร้างความเชื่อมั่น และพัฒนาระบบการผลิตให้ได้มาตรฐาน พร้อมทั้งมีระบบตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ ที่สำคัญต้องเปิดเผยข้อมูลได้

วิธีนี้...น่าจะดีกว่าหรือไม่?



วารุณี สิทธิรังสรรค์ This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
นสพ.มติชน 20 ก.ค.56

พิมพ์ อีเมล