เครือข่ายผู้บริโภคเผยผลสำรวจ พบโฆษณาเครื่องดื่มผสมกาเฟอีนฝ่าฝืนกฎหมายโฆษณาโจ๋งครึ่ม โหมใช้วิธีโฆษณาต้องห้าม ชิงโชค แจกรางวัลทั้งรถยนต์ รถจักรยานยนต์ เงินสด ตั๋วคอนเสิร์ต ผ่านสื่อแทบทุกชนิด ซ้ำไม่แสดงคำเตือน หวั่นผู้บริโภคตกเป็นเหยื่อสารเสพติด ปลุก อย. - กสทช. ถึงเวลาใช้ไม้แข็งออกคำสั่งหยุดโฆษณาทุกสื่อ และต้องลงโทษผู้กระทำผิดให้รับโทษสูงสุดทุกครั้งทุกที่ที่มีการโฆษณา
วันนี้ (16 ธันวาคม 2554) ห้องมิ่งขวัญ โรงแรมเดอะทวินทาวเวอร์ รองเมือง - โครงการกลไกคุ้มครองผู้บริโภคสื่อภาคประชาชน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายผู้บริโภค 10 จังหวัด ได้ร่วมกันเปิดเผยผลสำรวจการเฝ้าระวังการโฆษณาเครื่องดื่มผสมกาเฟอีน โดยนายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้กล่าวว่า เครื่องดื่มผสมกาเฟอีนหรือที่เรียกกันทั่วไปว่า เครื่องดื่มชูกำลัง เป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่อาจทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภคได้ เนื่อง จากสารกาเฟอีนมีฤทธิ์ต่อระบบหัวใจและการไหลเวียนของโลหิตอันอาจก่อให้เกิด อันตรายต่อสุขภาพหากได้รับในปริมาณมากและติดต่อกันเป็นประจำ กระทรวงสาธารณสุขจึง ได้ประกาศให้เครื่องดื่มชนิดนี้เป็นอาหารควบคุมเฉพาะ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ได้กำหนดมาตรการในการควบคุมเครื่องดื่มผสมกาเฟอีนให้เครื่องดื่มผสมกาเฟอีน ที่จำหน่ายในราชอาณาจักรมีกาเฟอีนเป็นส่วนผสมได้ในปริมาณไม่เกิน 50 มิลลิกรัมต่อหน่วยบรรจุ นอกจากนั้น อย. ยังได้มีมาตรการในการควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มผสมกาเฟอีน โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 ออกประกาศเรื่อง หลักเกณฑ์การโฆษณาเครื่องดื่มที่ผสมกาเฟอีน และมีผลบังคับใช้เมื่อ 1 ตุลาคม 2546 โดยมีหลักเกณฑ์ที่สำคัญ อาทิเช่น การโฆษณาเครื่องดื่มที่ผสมกาเฟอีน ต้องไม่โฆษณาในลักษณะการแถมพก หรือให้รางวัลด้วยการเสี่ยงโชค หรือมีการให้ของแถม, การโฆษณาตามสื่อต่างๆ ต้องมีคำเตือน “ไม่ควรดื่มเกินวันละ 2 ขวด เด็กและสตรีมีครรภ์ไม่ควรดื่ม” และการโฆษณาที่ชักจูงหรือโน้มน้าวให้ซื้อหรือบริโภค เพื่อนำรายได้ไปบริจาคเป็นสาธารณกุศล ถือเป็นการโฆษณาที่เข้าข่ายเชิญชวนให้บริโภคหรืออวดอ้างสรรพคุณของเครื่องดื่มที่ผสมกาเฟอีน โดยทางตรงหรือทางอ้อมจะโฆษณาไม่ได้
“จากการสำรวจการโฆษณาเครื่องดื่มผสมกาเฟอีนยี่ห้อต่างๆ ในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมาของเครือข่ายผู้บริโภค 10 จังหวัด พบว่า มีการโฆษณาของเครื่องดื่มผสมกาเฟอีนยี่ห้อดังหลายยี่ห้อมีการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายอย่างโจ่งแจ้งเป็นจำนวนมาก อาทิเช่น พบโฆษณาเครื่องดื่มคาราบาวแดง เอ็ม 150 กระทิงแดง แรงเยอร์ ฉลาม ซูปเปอร์ลูกทุ่ง ใช้วิธีการโฆษณาในลักษณะการแถมพก ให้รางวัลด้วยการเสี่ยงโชค หรือมีการให้ของแถม ผ่านทางสื่อต่างๆ โดยเชิญชวนให้ผู้บริโภคส่งชื่อที่อยู่ร่วมลุ้นรางวัล หรือใช้วิธีเปิดฝาลุ้นโชค โดยของรางวัลที่ได้มีทั้ง รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ทองคำ เงินสด และบัตรชมคอนเสิร์ต และมีการโฆษณาโดยไม่ขออนุญาต”
นางสาวชาติรส พรมพิราม เจ้าหน้าที่ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดตราด ได้เปิดเผยว่า ตนได้เคยเข้าไปสังเกตการณ์การแสดงคอนเสิร์ตของเครื่องดื่มชูกำลังยี่ห้อ หนึ่งที่มีมาเปิดการแสดงในจังหวัดตราด พบว่ามีการจัดรายการส่งเสริมการขายด้วยการชักชวนให้วัยรุ่นที่เข้ามาชม คอนเสิร์ตร่วมเล่นเกมส์ลุ้นโชคโดยจะต้องมีการซื้อเครื่องดื่มชูกำลังดื่ม ก่อนเล่นเกมส์ วัยรุ่นคนหนึ่งหวังจะได้รางวัลมากจึงซื้อเครื่องดื่มชูกำลังดื่มต่อเนื่อง ถึง 9 ขวด โดยไม่สนใจคำเตือนข้างขวดที่ให้ดื่มไม่เกินวันละ 2 ขวดเลย ตนเห็นว่าการโฆษณาส่งเสริมการขายที่ใช้ของรางวัลเข้าล่อ สามารถสร้างแรงจูงใจให้มีการบริโภคเครื่องดื่มชนิดนี้ในปริมาณสูงได้โดยไม่รู้ตัวและ อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภค
นางมยุเรศ แลวงศ์นิล ผู้ประสานงานศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค จ.ลำปาง กล่าวว่าการสำรวจของเครือข่ายผู้บริโภคทั้งที่ จ.ลำปาง เชียงราย ราชบุรี และอีกหลายจังหวัด พบว่า การโฆษณาเครื่องดื่มผสมกาเฟอีนโดยเฉพาะบนแผ่นป้ายโฆษณากลางแจ้ง และการโฆษณาทางวิทยุผ่านทางผู้จัดรายการประเภทเพลงลูกทุ่งที่มีผู้ฟังเป็น จำนวนมาก
ผู้ประกอบธุรกิจและผู้จัดรายการ ไม่ใส่ใจที่จะแสดงคำเตือน “ไม่ควรดื่มเกินวันละ 2 ขวด เด็กและสตรีมีครรภ์ไม่ควรดื่ม” ตามที่กฎหมายบังคับ มุ่งเน้นแต่การให้ข้อมูลเรื่องวิตามินหรือการชักชวนให้ดื่มมากๆ ทำให้ผู้บริโภคไม่ได้ข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนจากการโฆษณา นับเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานที่สำคัญของการคุ้มครองผู้บริโภค
ในขณะที่ นายสุนทร สุริโย ผู้ประสานงานศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค จ.กาญจนบุรี นางสาวจินตนา ศรีนุเดช จากสมาคมผู้บริโภค จ.ขอนแก่น และนายสุชานนท์ สิทธิทันยา ผู้ประสานงานเครือข่ายส่งเสริมสิทธิชุมชนตรัง จ.ตรัง กล่าวว่า เครือข่ายผู้บริโภคได้เก็บรวบรวมหลักฐานการโฆษณาเครื่องดื่มผสมกาเฟอีนที่ผิดกฎหมาย ทั้งการเก็บคลิปเสียงโฆษณาในวิทยุหรือการเก็บภาพป้ายโฆษณาและมีการจัดทำแผนที่ตำแหน่งป้ายโฆษณาที่ผิดกฎหมาย ส่งให้แก่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ ปรากฏว่ามีการดำเนินการที่ค่อนข้างล่าช้าหรือแทบจะไม่มีการดำเนินการใดๆ เลย แม้ว่า อย. จะมีการทำจดหมายเวียนไปยังนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศให้ดำเนินการ เก็บป้ายโฆษณาที่ไม่ได้รับอนุญาตให้โฆษณา แต่จะมีข้ออ้างทั้งจากผู้ประกอบธุรกิจและเจ้าหน้าที่ว่าป้ายโฆษณามีการติดใน ที่ต่างๆเป็นจำนวนมาก และไม่รู้ว่าติดอยู่ที่ใดบ้าง จึงเห็นว่า อย.และสสจ. ควรที่จะมีการเร่งประชาสัมพันธ์ให้ร้านค้าต่างๆในพื้นที่ทำการปลดป้ายโฆษณา ที่ผิดกฏหมายเหล่านี้ออกโดยเร็ว มิเช่นนั้นจะทำให้บรรดาร้านค้าทั้งเล็กและใหญ่ที่ให้พื้นที่ติดป้ายโฆษณา กลายเป็นผู้ร่วมกระทำผิดและต้องถูกปรับในอัตราโทษสูงสุดไม่เกิน 5,000 บาทฐานโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาตได้
นางสาวบุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค และกรรมการกลไกคุ้มครองผู้บริโภคสื่อภาคประชาชน กล่าวว่า จากที่ได้มีการติดตามการดำเนินการในเรื่องนี้ของ อย. พบว่า นับแต่ที่ อย. ได้มีประกาศเรื่อง หลักเกณฑ์การโฆษณาเครื่องดื่มที่ผสมกาเฟอีน และมีผลบังคับใช้เมื่อ 1 ตุลาคม 2546 อย. ได้ให้โอกาสกับผู้ประกอบธุรกิจมาโดยตลอดเพื่อให้มีการแก้ไขการโฆษณาให้ถูกต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด โดยใช้ทั้งวิธีการเชิญมาพูดคุย มีการยืดหยุ่นมีการผ่อนผันการบังคับใช้กฎหมายให้มาโดยตลอด แต่จากผลการสำรวจโฆษณาเครื่องดื่มผสมกาเฟอีนของเครือข่ายผู้บริโภคในครั้งนี้ เป็นข้อพิสูจน์ว่า ผู้ประกอบธุรกิจเครื่องดื่มผสมกาเฟอีนไม่ได้ให้ความเคารพกฎหมายของบ้านเมืองแม้แต่น้อย อาศัยช่องโหว่ของกฎหมายที่มีบทลงโทษที่ต่ำและกำลังของเจ้าหน้าที่ที่มีอยู่น้อย รวมทั้งอาศัยช่วงจังหวะอุทกภัย ปูพรมโฆษณาที่เข้าข่ายในความผิดของกฎหมายไปทั่วประเทศทำให้ผู้บริโภคต่างได้รับความเสียหายกันโดยถ้วนหน้าอย่างไม่รู้ตัว เพื่อให้มีมาตรการจัดการปัญหานี้อย่างมีประสิทธิภาพเครือข่ายผู้บริโภคจึงมีข้อเรียกร้องดังนี้
1. ขอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)มีคำสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจระงับการโฆษณาที่เข้าข่ายความผิดตามกฎหมายโดยเด็ดขาด และกำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศบังคับให้ผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการโฆษณาปฏิบัติตามคำสั่งของ อย. อย่างเคร่งครัด หากยังมีการละเมิดให้มีการลงโทษตามกฎหมายโดยทันที
2. หากมีการโฆษณาผ่านทางกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคม ขอให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ติดตามตรวจสอบการกระทำผิดด้านการโฆษณาในสื่อที่เกี่ยวข้อง หากพบให้มีคำสั่งระงับการดำเนินการนั้นทันที หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม ให้ กสทช. ใช้อำนาจปรับทางปกครองไม่เกินห้าล้านบาท และปรับอีกวันละไม่เกินหนึ่งแสนบาทตลอดเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติตามคำสั่ง
3. ขอให้ผู้ประกอบธุรกิจได้ตระหนัก เคารพ และรู้จักรับผิดชอบต่อสิทธิของผู้บริโภค โดยไม่ควรดำเนินการใดๆ อันเป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
{gallery}emouth/action/541216_cafa{/gallery}