องค์กรผู้บริโภคส่งตัวแทนจากทั่วประเทศเดินขบวนเรียกร้องค่ายมือถือ "หยุดโกงเวลาลูกค้าพรีเพด" ขอคำตอบภายใน 30 วัน
องค์กรผู้บริโภคส่งตัวแทนจากทั่วประเทศเดินขบวนเรียกร้องค่ายมือถือ "หยุดโกงเวลาลูกค้าพรีเพด" ขอคำตอบภายใน 30 วัน ขู่หากยังดื้อ เตรียมเดินขบวนอีกครั้งใหญ่กว่าเดิม และพึ่งกระบวนการยุติธรรม
นายสวัสดิ์ คำฟู เครือข่ายผู้บริโภคภาคเหนือ กล่าวว่า เขาพร้อมตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภคจากทั่วประเทศ 100 คน ในนาม “องค์กรเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค ขอเรียกร้องให้ผู้ประกอบการกิจการโทรคมนาคม 4 ราย ได้แก่ บจม.แอดวานซ์ อินโฟ เซอร์วิส (เอไอเอส) บจม.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) บริษัท ทรูมูฟ จำกัด และบริษัท ฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์เลส มัลติมีเดีย จำกัด ให้ปฏิบัติตามประกาศ กทช.เรื่องมาตรฐานสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ข้อ 11
ประกาศดังกล่าวมีใจความสำคัญคือ การให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเติมเงิน ต้องไม่มีลักษณะบังคับให้ผู้ใช้บริการ ใช้ภายในเวลาจำกัดเว้นแต่ผู้ให้บริการจะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการเป็นการล่วงหน้า ทว่า กทช.ยังไม่ได้ให้ความเห็นชอบเรื่องนี้ และยังไม่มีกำหนดเป็นเงื่อนไขที่อนุญาตให้ผู้บริการกระทำได้ ดังนั้นข้อกำหนดเชิงบังคับของผู้ประกอบการถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เขากล่าวว่า การใช้โทรศัพท์ระบบเติมเงินต้องไม่มีวันหมดอายุ ตามประกาศนี้ระบุชัดเจนว่าผู้ประกอบการไม่สามารถกำหนดระยะเวลาได้ ทั้งในบัตรเติมเงิน และที่เติมเงินไปแล้ว เพราะถือเป็นการเร่งรัดให้ผู้บริโภคต้องเร่งใช้ และเร่งเติมเงินภายในระยะเวลาที่กำหนด ทั้งต้องเสียเงินซื้อวันต่ออายุการใช้งาน ซึ่งไม่ถูกต้อง
“ประกาศดังกล่าวถูกกำหนดขึ้นหลังจากได้ให้สัญญาสัมปทานไปแล้วทำให้บริษัทต่างๆ ยึดเป็นข้ออ้างไม่ปฏิบัติตาม”
ผลการวิจัยระบุ คนไทยใช้เงินค่าโทรศัพท์มือถือเฉลี่ยเดือนละ 200 บาท แต่กลับถูกบังคับให้ต้องเติมเงินค่ามือถือเดือนละ 300 บาท แม้จะใช้ไม่ถึง เท่ากับผู้ให้บริการมีเงินหมุนเวียนจากการจ่ายล่วงหน้าจากผู้บริโภคทั้งประเทศเดือนละ 6,000 ล้านบาท
เขากล่าวว่า เร็วที่สุดต้องได้คำตอบภายใน 30 วัน อย่างช้าไม่เกิน 60 วัน หากยังนิ่งเฉยจะรวบรวมผู้ที่เดือดร้อนดำเนินการทางกฎหมายกับทุกค่ายที่ไม่ปฏิบัติตาม ซึ่งได้รวบรวมคนที่จะฟ้องร้องดำเนินคดีแต่ละภูมิภาคๆ ละ 1-2 คนต่อหนึ่งบริษัทไว้แล้ว กำหนดกลับมาทวงคำตอบอีกครั้งเดือน ม.ค.2554 พร้อมผู้ได้รับความเดือดร้อนจำนวนมากกว่าเดิม
ด้านผู้ให้บริการแต่ละรายต่างส่งฝ่ายประชาสัมพันธ์ หรือฝ่ายกฎหมายรับข้อเรียกร้องเพื่อนำไปพิจารณา
โดย กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 1 ธันวาคม 2553