วันนี้ (23 กันยายน 2553) เวลาประมาณ 10.30 น. ท่ามกลางจราจรอันคับคั่งภายในซอยร่วมฤดี นายสนอง สุดโต นายช่างรังวัดชำนาญงาน จากสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร ได้พาคณะเจ้าหน้าที่มาทำการรังวัดสอบเขตทางของซอยร่วมฤดีซึ่งเป็นทางสาธารณประโยชน์ตามคำสั่งของศาลปกครองกลางเพื่อหาข้อสรุปว่าซอยร่วมฤดีมีความกว้างไม่ถึง 10 เมตรตลอดแนวจริง
สาเหตุที่ต้องมีการวัดความกว้างของซอยร่วมฤดีในครั้งนี้ สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ.2551 นายขวัญแก้ว วัชโรทัย รองเลขาธิการพระราชวัง นายแพทย์สงคราม ทรัพย์เจริญ แพทย์หลวง อาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประชาชนที่อยู่อาศัยในซอยร่วมฤดีรวมทั้งสิ้น 24 ราย ได้มอบอำนาจให้นายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความอาสา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นฟ้องผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้อำนวยการเขตปุทมวัน ต่อศาลปกครองกลาง ในฐานะเป็นผู้บริหารราชการในราชการส่วนท้องถิ่นและเป็นผู้ใช้อำนาจหรือออกคำสั่งทางปกครองในเขตปกครองท้องที่สำนักงานเขตปทุมวัน กรุงเทพมหานครและยังเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 โดยออกเอกสารรับรองความกว้างของถนนซอยร่วมฤดีเกินกว่าความเป็นจริง และปล่อยให้เอกชนก่อสร้างอาคารสูงเกินกว่ากฎหมายกำหนด ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของชุมชนที่พักอาศัยในซอยร่วมฤดี รวมถึงปัญหาอัคคีภัย และการจราจรที่แออัดจนทำให้ประชาชนเกิดความไม่ปลอดภัยแก่ชีวิตและทรัพย์สิน
นายเฉลิมพงษ์กล่าวว่า ก่อนที่จะมีการยื่นฟ้องคดี กลุ่มผู้ฟ้องได้เคยทำหนังสือร้องเรียนกับกรุงเทพมหานครมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2549 เพื่อขอให้มีการตรวจสอบความกว้างของซอยร่วมฤดี ว่ามีความกว้างถึง 10.00 เมตรติดต่อกันตลอดแนวหรือไม่ที่จะเป็นเหตุทำให้สามารถก่อสร้างอาคารสูงขนาดใหญ่ได้ ซึ่งได้มีการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายครั้งรวมทั้งการรังวัดของกรมที่ดิน พบว่าซอยซึ่งเชื่อมต่อกับถนนเพลินจิตและถนนวิทยุเป็นสถานที่ก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ทั้งสองไม่ได้มีความกว้างถึง 10 เมตรตลอดแนวแต่อย่างใด แม้แต่การตรวจสอบของสำนักงานเขตปทุมวันเองก็ได้วัดความกว้างของถนนได้ 7.80-10.00 เมตร ไม่ได้กว้าง 10 เมตรตลอดแนวแต่อย่างใด
ในการสอบสวนคดีที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งให้กรมที่ดินทำการชี้แจงต่อศาลว่า เขตทางถนนซอยร่วมฤดีตามระวางรูปถ่ายทางอากาศหมายเลข 5136 III 6618-4 มาตราส่วน 1:1,000 ตั้งแต่ถนนเพลินจิตจนถึงที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ 534 เลขที่ 54 ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท ลาภประทาน จำกัด มีเขตทางสาธารณประโยชน์บริเวณใดมีความกว้างน้อยกว่า 10.00 เมตรหรือไม่ ถ้ามีให้กำหนดจุดบริเวณที่มีความกว้างเขตทางน้อยกว่า 10.00 เมตร บนระวางรูปถ่ายทางอากาศดังกล่าว
ซึ่งต่อมากรมที่ดินชี้แจงว่า บริเวณที่ให้ตรวจสอบตามระวางรูปถ่ายทางอากาศฉบับดังกล่าว มีเขตทางสาธารณประโยชน์ที่มีความกว้างน้อยกว่า 10.00 เมตร จำนวน 8 จุด ดังนั้น ศาลจึงมีคำสั่งให้กรมที่ดินรังวัดสอบเขตทางสาธารณประโยชน์ซอยร่วมฤดีในจุดที่กว้างน้อยกว่า 10.00 เมตร จำนวน 8 จุดดังกล่าวอีกครั้ง
ในวันนี้ กรมที่ดินจึงได้มอบหมายให้นายสนอง สุดโต ตำแหน่งนายช่างรังวัดชำนาญงาน สังกัดสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครเป็นผู้รังวัด โดยมีคณะผู้ฟ้องนำโดยนายแพทย์สงคราม ทรัพย์เจริญ และผู้ถูกฟ้องติดตามสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิด ผลการรังวัดปรากฏว่า ซอยร่วมฤดีตั้งแต่ถนนเพลินจิตไปจนถึงบริเวณที่ดินของบริษัท ลาภประทาน จำกัดซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงแรมดิเอทัส บางกอกจำนวน 8 จุดที่ศาลมีคำสั่งให้รังวัดนั้นมีความกว้างไม่ถึง 10 เมตรทั้งสิ้น โดยเฉพาะบริเวณปากซอยร่วมฤดี 1 ขอบเขตทางของซอยร่วมฤดีมีความกว้างเพียง 9.15 เมตรเท่านั้น ซึ่งผลของการรังวัดในครั้งนี้จะถูกรายงานต่อศาลปกครองกลางเพื่อนำไปประกอบการพิจารณาคดีต่อไป
ประเด็นที่สังคมต้องติดตามในคำตัดสินของศาลปกครองกลางคือ การที่กทม.อนุญาตให้มีการก่อสร้างอาคารสูงและมีขนาดใหญ่บนถนนที่มีความกว้างไม่ถึง 10 เมตรตลอดแนวได้นั้นขัดกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535) ในข้อ 2 ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 หรือไม่ เนื่องจากกฎหมายนี้มีเจตนารมณ์ เพื่อประโยชน์เกี่ยวกับความมั่นคงแข็งแรง ความปลอดภัย การป้องกันอัคคีภัย การสาธารณสุข การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การผังเมือง การสถาปัตยกรรม และการอำนวยความสะดวกแก่การจราจร จึงต้องออกกฎกระทรวงกำหนดความกว้างเขตทางสำหรับการก่อสร้างอาคารสูงดังกล่าวขึ้น