เครือข่ายศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคทั่วประเทศ เรียกร้องกทช.ให้ทบทวนมติคิดค่าธรรมเนียมคงสิทธิเลขหมายครั้งละ ๙๙ บาท ยืนยันหลักการ สิทธิที่จะใช้เลขหมายโทรคมนาคมเดิม(Number Portability)เป็นสิทธิของผู้ใช้บริการที่จะต้องได้รับความคุ้มครอง และถือเป็นหน้าที่ของกทช.และผู้ประกอบการต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายที่มุ่งให้เกิดการแข่งขันทางการค้า และต้องไม่ก่อให้เกิดการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการกิจการโทรคมนาคม
Consumerthai – 20 ก.ค. เครือข่ายศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคทั่วประเทศ สภาผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เข้ายื่นหนังสือต่อนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ณ ห้องประชุมชั้น 1 สำนักงานกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
นายพนัชทร สุนทราภิมุข ตัวแทนองค์กรเครือข่ายผู้บริโภค กล่าวว่า มติ กทช. ที่กำหนดให้ผู้ให้บริการสามารถเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการโอนย้ายเลขหมายในอัตรา ๙๙ บาทได้ เป็นเรื่องที่ผู้บริโภคยอมรับไม่ได้เพราะเป็นการผลักภาระให้กับผู้บริโภค ทั้งๆที่สิทธิในการใช้เลขหมายโทรคมนาคมเดิมถือเป็นหน้าที่ของกทช.ตามกฎหมายอยู่แล้วเมื่อผู้ให้บริการมีความพร้อมทางเทคนิคและเพื่อเป็นการคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้ใช้บริการ โดยต้องส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันอย่างแท้จริงทั้งคุณภาพและการให้บริการแก่ลูกค้า ต้องมีหลักเกณฑ์หรือมาาตรการที่จะเป็นการกีดกันการเลือกใช้บริการโทรคมนาคมด้วยการตั้งค่าธรรมเนียมดังกล่าว
“เครือข่ายศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคทั่วประเทศ สภาผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงขอเรียกร้อง กทช. ให้ทบทวนมติดังกล่าว เนื่องจากไม่เป็นการคุ้มครองผู้บริโภคแต่เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ที่เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการมากกว่า และยังเห็นว่าการตั้งอัตราค่าธรรมเนียมที่ ๙๙ บาทยังสูงกว่าการที่ผู้บริโภคเปลี่ยนโปรโมชั่นยังจ่ายเพียง ๓๙ บาทเท่านั้น หรือแม้แต่การได้รับซิมและเลขหมายโทรศัพท์มือถือในปัจจุบัน ผู้ให้บริการยังแจกฟรีด้วยซ้ำ” นายพนัชทรกล่าว
นายกำชัย น้อยบรรจง ตัวแทนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคกลาง กล่าวเพิ่มเติมว่า จุดยืนขององค์กรผู้บริโภคเรื่องการคงสิทธิในเลขหมายได้เสนอไว้อย่างชัดเจนทั้งจากเวทีรับฟังความคิดเห็นของ กทช. ทั่วประเทศ และการรับฟังความคิดเห็นเรื่อง ๓G เมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายนที่ผ่านมาว่า ไม่ควรเรียกเก็บค่าบริการในการโอนย้ายบริการจากผู้ใช้บริการ แต่หากบริษัทมีต้นทุนในการให้บริการโอนย้ายดังกล่าวจริง ผู้ประกอบการควรตกลงรับภาระกันเอง เนื่องจากผู้ประกอบการเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากผู้ใช้บริการ
“การที่ กทช. มีมติให้เรียกเก็บค่าโอนย้ายเลขหมาย ๙๙ บาท จึงถือเป็นการไม่ให้ความสำคัญต่อความเห็นของผู้บริโภคที่ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๖๑ ที่ผู้บริโภคจะมีสิทธิในการให้ความเห็นต่อหน่วยงานของรัฐที่จะนำไปสู่การพิจารณาออกข้อกำหนด กฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค จึงอยากจะเรียกร้องให้ กทช. ควรเคารพสิทธิของผู้บริโภคในเรื่องนี้ด้วย” นายกำชัยกล่าว
นายพนัชทร กล่าวว่าเพิ่มเติมเกี่ยวกับ การมีมติของ กทช.ที่ให้เรียกเก็บค่าโอนย้ายเครือข่ายได้นี้ น่าจะเป็นการกระทำที่ขัดต่อ พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.๒๕๔๔ มาตรา ๑๒ และมาตรา ๒๑
“ในมาตรา ๑๒ วรรค ๔ กำหนดไว้ว่า ให้คณะกรรมการ กทช.กำหนดแนวทางและหลักเกณฑ์ให้ผู้ใช้บริการมีสิทธิใช้เลขหมายโทรคมนาคมเดิมได้ เมื่อมีความพร้อมทางเทคนิค และที่สำคัญคือเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ใช้บริการเมื่อผู้ใช้บริการต้องการเปลี่ยนผู้ให้บริการแต่ต้องการคงเลขหมายเดิม โดยไม่มีการให้อำนาจแก่ กทช. ในการกำหนดหลักเกณฑ์ที่จะให้มีการคิดค่าใช้จ่ายการโอนย้ายเลขหมายแต่อย่างใด และในมาตรา ๒๑ ของกฎหมายฉบับเดียวกัน ยังบังคับให้คณะกรรมการ กทช. ต้องกำหนดมาตรการที่มิให้ผู้รับใบอนุญาตหรือผู้ให้บริการกระทำการอย่างใดอันเป็นการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขัน ในการให้บริการกิจการโทรคมนาคม แต่การที่กทช.ไปกำหนดให้มีการเรียกค่าเก็บค่าธรรมเนียมการโอนย้ายกับผู้บริโภค จะทำให้ผู้บริโภคถูกจำกัดสิทธิในการเลือกใช้บริการกับผู้ให้บริการที่ตนเองเห็นว่ามีคุณภาพการบริการที่ดีกว่าผู้ให้บริการรายเดิมได้ การกำหนดให้มีการคิดค่าธรรมเนียมได้นี้จึงไม่เอื้อประโยชน์ต่อการคุ้มครองผุ้บริโภคอันถือเป็นหน้าที่ของกทช.สำคัญตามกฎหมายแต่อย่างใด” นายพนัชทร กล่าว
นายพนัชทร กล่าวทิ้งทายว่า เครือข่ายผู้บริโภคจะทำการยื่นหนังสือเป็นทางการต่อ กทช. ภายในสัปดาห์หน้า หาก กทช.ยังเพิกเฉยไม่ทบทวนมติดังกล่าว เครือข่ายผู้บริโภคจะยื่นเรื่องร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ปปช.) และฟ้องร้องต่อศาลปกครองอย่างแน่นอน
ด้านเลขาธิการคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติหลังรับหนังสือแล้ว รับปากจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมของ กทช.ในวันพรุ่งนี้ ส่วนมติที่ประชุมจะเป็นอย่างไรตนไม่ขอรับปาก