ผู้บริโภควอนจุรินทร์ ค้านเปิดสอนหมอภาษาอังกฤษ

Consumerthai - 4 ก.พ. เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค องค์กรผู้ป่วย และองค์กรพัฒนาเอกชน ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ทบทวนมติการรับรองหลักการหลักสูตรแพทย์ ภาษาอังกฤษ และจัดให้กระบวนการที่ดีตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการที่ดีทางปกครอง พ.ศ. 2539 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย


จากกรณีที่ คณะกรรมการแพทยสภาได้มีมติอนุมัติในหลักการรับรองหลักสูตรแพทยศาสตร์ภาษาอังกฤษ (English program) ของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เมื่อวันที่ 14 มกราคมที่ผ่านมา และจะมีการเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่แพทยสภาเพื่ออนุมัติหลักสูตรอีกครั้งในวันที่ 12 กุมภาพันธ์นี้

เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค องค์กรผู้ป่วย องค์กรพัฒนาเอกชน อันประกอบด้วย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัด ใน 46 จังหวัด เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีเอดส์ประเทศไทยเ ครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ชมรมเพื่อนโรคไต คณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ มูลนิธิสุขภาพไทย มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา สมาคมผู้บริโภคขอนแก่น กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) และสมาคมผู้บริโภคสงขลา
ขอให้ที่ประชุมใหญ่แพทยสภาทบทวนมติดังกล่าว เพราะการอนุมัติหลักการหลักสูตรนี้ จะส่งผลกระทบต่อระบบบริการสาธารณสุขของประเทศ การพิจารณาขาดกระบวนการมีส่วนร่วมขององค์กรที่เกี่ยวข้อง ขาดการศึกษาถึงผลกระทบอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนและสังคมไทยนั่นคือ

1. ขณะนี้ประเทศไทยยังมีปัญหาสำคัญเรื่องการขาดแคลนแพทย์และการกระจายแพทย์ในชนบท ดังที่แผนแม่บทบุคลากรด้านสาธารณสุข กำหนดให้แพทย์ 1 คน ควรดูแลประชากร 1,800 คน แต่ในความเป็นจริง แพทย์ในกทม. 1 คน ดูแล ประชากรเพียง 867 คน ขณะที่ แพทย์ 1 คนในภาคอีสาน ดูแลประชากร 7,015 คน และที่หนักไปกว่านั้น แพทย์ 1 คนใน จังหวัดศรีสะเกษดูแล ประชากร 11,267 คน ดังนั้นบทบาทหลักของโรงเรียนแพทย์และแพทยสภา ควรให้ความสำคัญในการแก้ปัญหานี้ เพราะนี่ถือเป็นพันธกิจที่โรงเรียนแพทย์และแพทยสภามีต่อสังคม ขณะที่หลักสูตรแพทยศาสตร์ภาษาอังกฤษ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ และอาจจะทำให้ปัญหาเดิมรุนแรงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างแพทย์และคนไข้

2. หลักสูตรแพทยศาสตร์ภาษาอังกฤษ อ้างว่า มีการบริหารจัดการเป็นหน่วยงานยุทธศาสตร์ (Strategic Business Unit) ที่ไม่ต้องพึ่งพางบประมาณรัฐ แต่พบว่า ขณะนี้มีแผนจูงใจอาจารย์ที่สอนในหลักสูตรปกติที่มีตำแหน่ง ผศ.ขึ้นไป ให้ย้ายมาสอนหลักสูตรภาคภาษาอังกฤษ หากเป็นเช่นนี้ เท่ากับเป็นการแย่งชิงทรัพยากรจากคณะแพทยศาสตร์ในหลักสูตรปกติ แล้วมีอะไรเป็นหลักประกันว่า หลักสูตรปกติจะยังสามารถคงคุณภาพต่อไปได้ ไม่เพียงนั้น นอกจากนี้แล้วก็คือการใช้ผู้ป่วยในโรงพยาบาลของรัฐในการรักษาพยาบาล เพราะแพทย์ไม่สามารถเรียนในห้องแล็ปอย่างเดียวได้ แม้ผู้ป่วยที่ให้นักศึกษาฝึกหัดจะไม่ได้เรียกร้องใด ๆ แต่ในใจลึก ๆ ก็คงคิดว่าเพื่อสร้างแพทย์ให้กับประเทศ ดังนั้นการที่จะบอกว่าไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐจึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

3. ทั้งแพทยสภาและทางโรงเรียนแพทย์ที่ขออนุมัติหลักสูตร ไม่เคยมีการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงาน ผู้แทนผู้บริโภค หรือชี้แจงต่อสาธารณชนว่า การเปิดหลักสูตรดังกล่าว จะเกิดประโยชน์ต่อสังคมและประชาชนส่วนใหญ่อย่างไร นอกเหนือจากการอ้างว่า หลักสูตรนี้พึ่งตัวเองจากค่าธรรมเนียมทำให้มีรายได้มากกว่ารายจ่าย รายได้ที่เพิ่มขึ้นมานั้นจะนำไปใช้เพื่อการผลิตแพทย์และกระจายแพทย์สู่ชนบทได้อย่างไร หรือการสนับสนุนโครงการอื่น ๆ เช่น หนึ่งตำบล หนึ่งแพทย์ ได้อย่างไร

4. ปัญหาการสื่อสารระหว่างแพทย์และคนไข้ เป็นปัญหาสำคัญในปัจจุบัน หากมีการใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารกับคนไข้ บุคลากร ในโรงพยาบาลย่อมจะส่งผลต่อการสื่อสารมากยิ่งขึ้น ซึ่งส่งผลต่อการสั่งการเพื่อการรักษาพยาบาล หากเข้าใจไม่ตรงกันจนเกิดผลเสียต่อผู้ป่วย ใครจะต้องมีความรับผิดชอบ

5. การเข้าถึงทรัพยากรต่างๆในมหาวิทยาลัย และคณะแพทยศาสตร์จะเท่าเทียมกันหรือไม่อย่างไร ในขณะที่นิสิตจ่ายค่าลงทะเบียนต่างกัน
ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 61 กำหนดให้ มีองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ ทำหน้าที่ให้ความเห็นต่อนโยบายที่มีผลกระทบต่อผู้บริโภค ถึงแม้ในขณะนี้จะยังไม่มีการจัดตั้งองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค แต่แพทยสภาควรจะจัดให้มีการรับฟังผู้แทนผู้บริโภคตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ดังที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาในกรณีองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม

เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค องค์กรผู้ป่วย และองค์กรพัฒนาเอกชน จึงขอให้มีการทบทวนมติการรับรองหลักการหลักสูตรแพทย์ ภาษาอังกฤษ และจัดให้กระบวนการที่ดีตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการที่ดีทางปกครอง พ.ศ. 2539 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

พิมพ์ อีเมล