27 พ.ย. 2552 ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค : องค์กรผู้บริโภคพร้อมฟ้องศาลปกครองหาก สคบ. ดื้อเดินหน้าประกาศให้สินค้าที่ปรากฏในรายการทีวีไม่ใช่โฆษณา หลังนักกฎหมายชี้ชัดร่างประกาศขัดต่อกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคชัดเจน
นายชัยรัตน์ แสงอรุณ ผู้แทนจากสภาทนายความ และกรรมการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ได้กล่าวถึงร่างประกาศเรื่องแนวทางการปรากฎของสินค้าในเนื้อหารายการทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ที่จะทำให้บรรดาโฆษณาแฝงลักษณะต่าง ๆ ที่ปรากฏบนจอทีวีไม่ใช่โฆษณาอีกต่อไป ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เป็นผู้จัดจัดร่างประกาศฉบับนี้ว่า ขัดต่อกฎหมายสำคัญ 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 และพ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551
“พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ได้บัญญัติถึงคำนิยามของการโฆษณาไว้ว่า หมายความรวมถึงกระทำการไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ ให้ประชาชนเห็นหรือทราบข้อความเพื่อประโยชน์ในทางการค้า และในกฎหมายฉบับนี้ได้นิยามความหมายของคำว่า “ข้อความ” ว่าหมายความรวมถึงการกระทำให้ปรากฏด้วยตัวอักษร ภาพ ภาพยนตร์ แสง เสียง เครื่องหมาย หรือการกระทำอย่างใด ๆ ที่ทำให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าใจความหมายได้ แต่การที่ร่างประกาศของ สคบ. ฉบับนี้ไปให้คำนิยามเพื่อให้การปรากฏของสินค้าในเนื้อหารายการซึ่งถือว่าเป็นโฆษณาลักษณะหนึ่งตามคำนิยามดังกล่าวไม่ใช่การโฆษณาและไม่ต้องนับรวมเป็นเวลาการโฆษณาสินค้าหรือบริการธุรกิจซึ่งมีกฎหมายการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 กำกับเรื่องกำหนดเวลาในการโฆษณาอยู่จึงถือว่าผิดหลักทางกฎหมาย หาก สคบ. ยังยืนยันที่จะออกประกาศเรื่องแนวทางการปรากฎของสินค้าในเนื้อหารายการทางทีวีจะถือว่าเป็นการย่ำยีละเมิดสิทธิผู้บริโภค และกลายเป็นว่า สคบ. ไม่ได้ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคแต่ไปส่งเสริมผู้ประกอบธุรกิจมากกว่า” นายชัยรัตน์กล่าว
นายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายนความอาสาเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวเพิ่มเติมว่า หาก สคบ. จะผลักดันร่างประกาศฉบับนี้ออกมาควรให้การปรากฎของสินค้าในเนื้อหารายการทางทีวีลักษณะต่าง ๆ ต้องให้นับรวมเป็นเวลาในการโฆษณาตามกฎหมายการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เลย คือหากเป็นฟรีทีวีที่ใช้คลื่นความถี่ก็ให้โหษณากันได้ไม่เกินชั่วโมงละ 12 นาทีครึ่ง โดยเมื่อรวมเวลาโฆษณาสินค้าและบริการธุรกิจตลอดทั้งวันเฉลี่ยแล้วต้องไม่เกินชั่วโมงละ 10 นาที เพื่อที่ผู้บริโภคจะได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายที่มีอยู่อย่างแท้จริง แต่หาก สคบ. ไม่มีการนำกลับไปทบทวนแก้ไขและยืนยันที่จะผลักดันจนออกมาเป็นประกาศจริง ทางมูลนิธิฯก็พร้อมที่จะฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อเพิกถอนประกาศฉบับนี้ทันที”
นางสาวสวนีย์ ฉ่ำเฉลียว ผู้ประสานงานการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสื่อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ที่ สคบ.มหีน้าที่กำกับดูแลนั้นได้รับรองสิทธิของผู้บริโภคในด้านการโฆษณาไว้อย่างชัดเจนว่า ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ แต่การที่ร่างประกาศของ สคบ. นี้ยอมให้ผู้ประกอบธุรกิจบอกเพียงชื่อสินค้า บอกชื่อบริษัท แสดงโลโก้หรือสัญลักษณ์ต่าง ๆ ได้โดยไม่ต้องกล่าวถึงรายละเอียดหรือสรรพคุณของสินค้าหรือบริการซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญในการตัดสินใจของผู้บริโภคเพื่อการเลือกซื้อเลือกใช้สินค้าหรือบริการได้อย่างถูกต้องเหมาะสมและให้การปรากฏของสินค้าในเนื้อหารายการทีวีไม่ถือว่าเป็นโฆษณานั้น ถือเป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภคที่เกิดจากการกระทำของ สคบ. เอง และอาจทำให้ผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อนหรือได้รับอันตรายจากการเลือกซื้อสินค้าหรือบริการได้จากการที่ไม่ได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนเพียงพอ
“นอกจากนี้ การที่ให้โฆษณาแฝงไม่ต้องนับรวมเป็นเวลาโฆษณาที่กฎหมายควบคุม จะส่งผลให้ผู้บริโภคต้องรับชมโฆษณาในเวลาที่มากกว่ากฎหมายกำหนดและยังทำให้ผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อนรำคาญจากการโฆษณามากกว่าจะเป็นการลดความเดือดร้อนรำคาญของผู้บริโภคตามที่ร่างประกาศฉบับนี้กล่าวอ้าง” นางสาวสวนีย์กล่าว
นายสุเทพ วิไลเลิศ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ กล่าวว่า ข้ออ้างในการจัดทำประกาศที่ว่า องค์กรที่มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลโดยตรงยังไม่มีความพร้อมในการกำหนดกฎเกณฑ์ นั้น ความจริงแล้วหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงขณะนี้มีอยู่แล้วคือคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) แต่อาจเป็นเพราะการไม่ประสานงานกันระหว่างหน่วยงานของสคบ.กับกทช. จึงทำให้ดูเหมือนว่ายังไม่มีผู้รับผิดชอบโดยตรงในขณะนี้ แต่วิธีการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุดสำหรับเรื่องนี้คือทั้งสองหน่วยงานต้องร่วมมือกันเพื่อจัดทำประกาศที่มีความเหมาะสมและคุ้มครองผู้บริโภคสูงสุด
“ที่สำคัญอยากให้มีการทบทวนร่างประกาศให้มีการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างแท้จริงและสูงสุด การได้มาต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้บริโภคด้วย” เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อกล่าว