กก.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน นักกฎหมาย ชมรมหนี้บัตรเครดิต มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และตัวแทนลูกหนี้นอกระบบ เข้าสื่อหนังต่อประธานคณะกรรมาธิการฯ พิจารณาร่าง พรบ.ทวงถามหนี้ พ.ศ. .... ข้อมาตรการเยียวยาลูกหนี้ พร้อมเร่งออกกม. ประธานคณะกรรมาธิการฯ รับออกกม.ก่อนสิ้นปีเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้ผู้บริโภค
วันนี้ (20 ต.ค 57) คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน นักกฎหมาย ตัวแทนลูกหนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และชมรมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ได้เข้ายื่นหนังสือต่อนายมนตรี ศรีเอี่ยมสะอาด ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.... เพื่อเสนอความเห็นและข้อเสนอต่อ คณะกรรมาธิการฯ ให้คณะกรรมาธิการฯ พิจารณาแก้ไขบทบัญญัติในกฎหมายเพื่อให้เกิดการคุ้มครองลูกหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบให้ได้รับความเป็นธรรมจากการทวงถามหนี้ ทั้งนี้เสนอให้เพิ่มเติมมาตรการเยียวยาความเสียหายแก่ลูกหนี้ ที่ได้รับผลกระทบจากการทวงหนี้ด้วย และขอให้เร่งการออกกฎหมายฉบับนี้โดยเร็วเพื่อเป็นมาตรการคุ้มครองลูกหนี้และลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตกับลูกหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ
จากกรณีปัญหาการทวงถามหนี้ ที่เจ้าหนี้และผู้ทวงถามหนี้ใช้วิธีการต่างๆ กับลูกหนี้ เช่น การข่มขู่ให้กลัว การใช้วาจาหยาบคาย ดูหมิ่น ทำลายทรัพย์สิน ยึดทรัพย์โดยพลการ หรือการทำร้ายร่างกาย และการกระทำที่ทำให้ลูกหนี้หลงเชื่อว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ การที่กล่าวนั้น กฎหมายอาญาไม่สามารถดำเนินคดีกับผู้ติดตามทวงถามหนี้หรือเจ้าหนี้เหล่า นั้น ทำให้ลูกหนี้หาทางออกวิธีที่ไม่เหมาะสมและไม่เกิดประโยชน์กับลูกหนี้ เช่น กู้เงินนอกระบบมาชำระหนี้ในระบบ, ตัดสินใจออกจากงานทนแรงกดดันไม่ไหว, เลิกกับครอบครัว รวมไปถึงการฆ่าตัวตายดังที่เป็นข่าว
นางสายฝน ตัวแทนลูกหนี้ กล่าวว่า “อยากเร่งให้กฎหมายฉบับนี้ออกมาบังคับใช้ซะที เพราะสงสารเพื่อนๆ ที่ถูกทวงหนี้ บางคนโดนขู่จนกลัวไม่กล้าไปทำงาน บางคนโดนด่าว่าหยาบคาย ไปแจ้งความตำรวจไม่รับแจ้งความ ไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร เราเป็นหนี้ก็ทราบค่ะว่าต้องใช้หนี้ แต่บางครั้งเราหาเงินมาใช้หนี้ไม่ทัน มาครั้งนี้เพื่อขอให้ทางคณะกรรมาธิการฯ ช่วยแก้กฎหมายให้ครอบคลุมหนี้นอกระบบด้วย”
ด้าน นายชัยรัตน์ แสงอรุณ ที่ปรึกษานักกฎหมายและทนายความ องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน กล่าวว่า “ กฎหมายฉบับนี้ ควบคุมพฤติกรรมของผู้ทวงหนี้ ที่ดำเนินคดีด้วยกฎหมายอาญาไม่ได้ และบทกำหนดโทษใน พรบ.นี้ สูงกว่ากฎหมายอาญา ซึ่งน่าจะเป็นมาตรการในการป้องปรามไม่ให้เจ้าหนี้หรือผู้ติดตามหนี้กระทำการที่ผิดกฎหมาย แต่เมื่อลูกหนี้ได้รับความเสียหายจากการทวงหนี้ควรได้รับการเยียวยาด้วย เช่น การทำลายทรัพย์สินของลูกหนี้ เจ้าหนี้ควรต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย เป็นต้น”
ภญ.ชโลม เกตุจินดา กรรมการและอนุกรรมการด้านการเงินการธนาคาร องค์การอิสระฯ ให้ความเห็นว่า การออกกฎหมายแต่ละฉบับนั้นเป็นเรื่องยากจึงเห็นว่า กฎหมายควรครอบคลุมหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ เนื่องจากคณะกรรมการฯ ได้ทำความเห็นและข้อเสนอแนะต่อกฎหมาย จากการรับฟังปัญหาของประชาชน การมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายโดยเฉพาะภาคประชาชนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ขอเสนอให้กฎหมายฉบับนี้มีคณะกรรมการที่มาจากภาคประชาชนด้วย เช่น สหพันธ์องค์การผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นต้น
นอกจากนี้ นายชูชาติ บุญยงยศ ประธานชมรมหนี้บัครเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล และอนุกรรมการด้านการเงินการธนาคาร องค์การอิสระฯ กล่าวว่า ที่มายื่นหนังสือในวันนี้เพื่อให้เห็นว่าอะไรมันยังไม่ครอบคลุมเป็นข้อบกพร่อง ในฐานที่เป็นภาคประชาชนเห็นว่ามันยังไม่ครอบคลุมทั้งหมด สิ่งที่อยากให้เพิ่มเติมคือ การบังคับของสถานบันการเงินหรือธนาคารที่ปล่อยบัตรเงินสดหรือสินเชื้อให้กับลูกหนี้ แล้วบังเอิญเป็นธนาคารเดียวกับที่ลูกหนี้เงินได้รับเงินเดือนธนาคารนั้นๆ พอลูกหนี้จ่ายไม่ไหวเขาดูดเงินลูกหนี้ไปใช้หนี้เกลี้ยงทำให้ลูกหนี้ไม่มีเงินใช้ ตรงนี้มันทำไม่ได้มันผิดกฎหมายเพราะการยึดเงินเดือนของลูกหนี้ตามกฎหมายต้องฟ้องศาลก่อน เมื่อศาลมีคำสั่งจึงเข้าสู่กระบวนการอายัดเงินเดือนได้สูงสุด 30% ของเงินเดือน รวมทั้งในกรณีในระหว่างการทวงหนี้ทุกครั้งที่เจ้าหนี้ทวงหนี้ครั้งละ 350 บาท หากเดือนนั้นทวงสองครั้งก็จะเป็นเงิน 700 บาท ซึ่ง 700 บาทนี้นำไปรวมกับเงินต้นแล้วนำมาคิดดอกเบี้ยซ้ำ หากกรณีนี้นำเข้าสู่กระบวนการศาลๆ ไม่ให้ ศาลตัดออกหมด ลูกหนี้ไม่ควรจ่ายค่าทวงหนี้ที่ส่ง sms เพียงข้อความละ 2 บาท แต่คิดเป็นค่าทวง 350 บาทต่อ sms
นายชูชาติ ยังกล่าวถึงว่า ส่วนในกรณีกู้เงินนอกระบบจะมีการยึดบัตรเอทีเอ็มพร้อมสมุดบัญชีไปกดเงินเองไปกดเงินเอง อยากให้กฎหมายตรงนี้เขียนไว้ว่าอย่ายึดบัตรเอทีเอ็มและสมุดบัญชี
อย่างไรก็ตาม นายมนตรี ศรีเอี่ยมสะอาด กล่าวถึงการพิจารณาร่าง พรบ.ทวงถามหนี้ ว่า คณะกรรมาธิการฯ ได้เร่งรัดให้กฎหมายทวงถามนี้ออก แต่กังวลว่าหากเร่งพิจารณาเกิดไปไม่รอบคอบอาจขัดต่อความเป็นธรรมได้ คาดว่าอีกประมาณ 3-4 อาทิตย์จะพิจารณาแล้วเสร็จ ส่วนเรื่องหนี้นอกระบบน้ันหากไม่สามารถกำหนดไว้ในกฎหมายฉบับนี้ได้ก็มีช่องทางให้ออกในกฎกระทรวงได้ในภายหลัง ทั้งนี้จะเร่งพิจารณาให้กฎหมายออกมาบังคับใช้เสร็จภายในสิ้นปีนี้ เพื่อเป็นของขวัญต้อนรับปีใหม่ให้กับผู้บริโภค