เครือข่ายผู้บริโภค จัดเสวนา ‘ผ่าทางตัน : สภาองค์กรผู้บริโภค ประเทศไทย’

IMG 5211 

เครือข่ายผู้บริโภค จัดเสวนา ‘ผ่าทางตัน : สภาองค์กรผู้บริโภค ประเทศไทย’ เห็นพ้อง สปน. สร้างขั้นตอนเกินจำเป็นกับประชาชน ชี้ไม่ควรขยายระยะเวลาประกาศองค์กรผ่านหรือไม่ผ่านออกไปอีก

22 ปี ของการต่อสู้เพื่อให้ พ.ร.บ. การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 ที่เป็นกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคได้มีขึ้นมา ท่ามกลางความยาวนานของกฎหมายที่ผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน ถึงสุดท้ายแม้เนื้อหาในกฎหมายจะไม่ได้ถูกใจทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็เป็นสิ่งที่กำลังจะบอกว่าการมีสภาองค์กรของผู้บริโภคเป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับผู้บริโภคและจะเป็นที่พึ่งสำหรับผู้บริโภค โดยกฎหมายนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2562 และมีผลบังคับใช้มีประกาศองค์กรมาจดแจ้งสถานะความเป็นองค์กรผู้บริโภค ตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2562 จนถึงวันนี้ 20 กันยายน 2562 เท่ากับ 61 วันแล้ว นับจากวันที่มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย

แต่หากถามว่า 61 วันที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้างสำหรับกฎหมายฉบับนี้...ก็มีเรื่องที่น่าตื่นเต้นมากมาย จึงเป็นเหตุให้ต้องมีการเสวนานี้ขึ้นมา

คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) สมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค (สสอบ.) และสำนักงาน (สสส.) จึงได้งานเสวนา ‘ผ่าทางตัน : สภาองค์กรผู้บริโภค ประเทศไทย’ ขึ้น ในวันที่ 20 กันยายน 2562 โดยงานเสวนาดังกล่าวได้สุภาพร ถิ่นวัฒนากูล ประธาน คอบช. เป็นผู้ดำเนินการเสวนาที่คอยซักถามวิทยากรทั้ง 5 ท่าน ได้แก่ ชูเนตร ศรีเสาวชาติ กรรมการสมาคมพิทักษ์ประโยชน์ผู้บริโภค วิทยา แจ่มกระจ่าง ประธานสมาพันธ์ชมรมคุ้มครองผู้บริโภค กรุงเทพมหานคร บุญยืน ศิริธรรม ประธาน สสอบ. ผศ.ภญ.ดร.ยุพดี ศิริสินสุข อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการ มพบ.

IMG 5222

สุภาพร ถิ่นวัฒนากูล ประธานคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน

ช่วงแรกของการเสวนา สุภาพรได้กล่าวถึงเรื่องที่ตื่นเต้นเกี่ยวกับพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการยื่นจดแจ้งสถานะความเป็นองค์กรผู้บริโภค โดยเรื่องตื่นเต้นของเธอ มีดังนี้

เรื่องแรก คือ เธอเข้าใจว่าก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 กรกฎาคม 2562 นายทะเบียนกลาง ซึ่งก็คือ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ได้ออกประกาศฉบับที่หนึ่งที่เกี่ยวกับการยื่นจดแจ้งสถานะความเป็นองค์กรผู้บริโภค ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2562 เพื่อให้องค์กรผู้บริโภคได้มารวมตัวกันและจดแจ้งสถานะความเป็นองค์กรผู้บริโภค และแน่นอนว่าในประกาศฉบับดังกล่าวยังระบุไว้ชัดเจนว่า องค์กรผู้บริโภคที่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดสามารถมาขึ้นทะเบียนองค์กรผู้บริโภคได้ และเมื่อขึ้นทะเบียนองค์กรผู้บริโภคเสร็จสิ้นแล้ว จะตามมาด้วยกระบวนการตรวจสอบองค์กรผู้บริโภคนั้นๆ ภายใน 60 วัน

เรื่องที่สอง คือ เมื่อมาถึงวันที่ 22 กรกฎาคม 2562 ที่ประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้เป็นวันแรกนั้น ทำให้องค์กรผู้บริโภคเกือบทั้งประเทศไปยื่นจดแจ้งสถานะความเป็นองค์กรผู้บริโภคฯ น่าจะประมาณเป็นจำนวนหนึ่งร้อยกว่าองค์กร

เรื่องที่สาม คือ จากวันนั้น (22 กรกฎาคม 2562) จนถึงวันนี้ (20 กันยายน 2562) เป็นเวลา 61 วันแล้วที่มีการจดแจ้งฯ และตรวจสอบองค์กรผู้บริโภคที่มีคุณสมบัติครบถ้วนนั้นยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จและไม่มีทีท่าว่าจะเสร็จ จึงคิดว่ากระบวนการหรือขั้นตอนการตรวจสอบน่าจะมีความซับซ้อนเป็นอย่างมาก

และเรื่องสุดท้าย คือ เมื่อไม่กี่วันมานี้ สปน. เพิ่งจะประกาศเวทีรับฟังความคิดเห็น เรื่อง การขอขยายระยะเวลาการตรวจสอบการขึ้นทะเบียนองค์กรผู้บริโภค ซึ่งเดิมในประกาศได้กำหนดไว้แล้วว่าจะต้องประกาศภายใน 60 วัน ผ่านออนไลน์ โดยให้องค์กรผู้บริโภคที่ได้ไปยื่นจดแจ้งฯ ไว้ ส่งความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ซึ่งการขอขยายระยะเวลานี้ สปน. ได้ขอขยายออกไปอีกจำนวน 2 ครั้ง ครั้งละ 30 วัน

ดังนั้น ประกาศฉบับนี้ส่งผลให้ 61 วันที่ผ่านมา ทั้งการตรวจสอบองค์กรผู้บริโภคที่จะต้องทำภายใน 60 วันนั้นยังไม่ไปไหน และจะต้องรอไปอีก 60 วัน จึงจะทราบผลการจดแจ้งฯ ดังกล่าว

การที่จะมีกฎหมายดีๆ ขึ้นมาเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคฉบับหนึ่งนั้น จะถึงทางตันหรือไปต่อไม่ได้ เนื่องจากจะต้องตรวจสอบองค์กรซ้ำแล้วซ้ำอีกและอาจมีการขอขยายระยะเวลาไปเรื่อยๆ

เช่นนั้นแล้ว ‘จะผ่านทางตัน’ ได้อย่างไร? สุภาพรตั้งคำถาม

IMG 5230

ชูเนตร ศรีเสาวชาติ กรรมการสมาคมพิทักษ์ประโยชน์ผู้บริโภค

          เริ่มที่ ชูเนตร ศรีเสาวชาติ ได้กล่าวถึงความยาวนานของกฎหมายว่า กว่าร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวจะผ่านขั้นตอนต่างๆ มาได้ จนมีผลบังคับใช้นั้นใช้ระยะเวลานานมาก จนเมื่อมีผลบังคับใช้ องค์กรผู้บริโภคเข้าไปยื่นขอจดแจ้งฯ ก็มีความยุ่งยากมากขึ้นไปอีก เช่น ความไม่พร้อมของเจ้าหน้าที่ การขยายระยะเวลาประกาศรายชื่อองค์กรที่ผ่านหรือองค์กรที่ไม่ผ่านออกไปอีก หรือการที่ต้องให้สมาชิกทั้งหมดขององค์กรนั้นๆ ไปยืนยันตัวตนเพื่อตรวจสอบ เป็นต้น ซึ่งหลายๆ ที่กล่าวมาเป็นการเพิ่มความยุ่งยากให้กับองค์กรผู้บริโภค ทั้งๆ ที่ในยุคนี้มีระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ทันสมัย ซึ่งสามารถตรวจสอบได้โดยที่ไม่จำเป็นจะต้องเรียกตัวบุคคลไปยืนยัน จึงคิดว่าน่าจะใช้ส่วนนี้ให้เป็นประโยชน์

          ส่วนการที่จะผ่านทางตันหรืออุปสรรคที่เข้ามาเรื่อยๆ นี้ไปได้ เธอเล่าว่าได้ไปปรึกษากับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคและได้ร่วมกันคิดกลยุทธ์ขึ้นมาจำนวน 3 ข้อ ได้แก่

          หนึ่ง กระตุ้น เร่งรัดให้ สปน. ไม่ให้ขยายระยะเวลาออกไป กล่าวคือ จะต้องกระตุ้น สปน. ในฐานะนายทะเบียนกลาง เช่น ให้มีการตรวจเอกสารรวดเร็วมากขึ้น โดยอาจมีการระดมคนและทำให้มีการเชื่อมโยงผ่านระบบออนไลน์ ทั้งทะเบียนราษฎร หรือ คุณสมบัติต่างๆ ที่ไม่เข้าข่ายตามกฎหมายระบุ อีกทั้งจะต้องเปิดเผยว่าขณะ สปน. กำลังตรวจสอบขั้นตอนอะไรอยู่หรือตอนนั้นพบปัญหาอะไร เพื่อจะทำให้องค์กรผู้บริโภคสามารถช่วยตรวจสอบได้อีกทาง นอกจากนั้นสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เป็นผู้รับรององค์กรผู้บริโภคที่เป็นองค์กรแบบนิติบุคคลและมีข้อมูลเกี่ยวกับองค์กรผู้บริโภคเหล่านั้นอยู่แล้วสามารถส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือ สปน. ได้ โดยสอบถามองค์กรผู้บริโภคที่มาจดแจ้งฯ เพื่อช่วยลดขั้นตอนในส่วนนี้ได้

          สอง ทุกคนที่เป็นผู้บริโภคสามารถจับมือร่วมด้วยช่วยกันก้าวผ่านตันนี้ไปได้เช่นเดียวกัน ซึ่งต้องทำให้ทุกคนทราบว่าสภาองค์กรของผู้บริโภคเป็นสภาของผู้บริโภคทุกคน ไม่ใช่สภาของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเท่านั้น ดังนั้น ผู้บริโภคทุกคน หรือ องค์กรผู้บริโภคทุกองค์กรจะต้องรวมพลังและปฏิบัติไปในทางเดียวกัน ที่จะทำอย่างให้การจดแจ้งฯ และการตรวจเอกสารผ่านไปได้อย่างราบรื่น โดยอาจสนับสนุนและร่วมกัน เช่น อาจให้ มพบ. หรือ สสส. หรือแม้แต่องค์กรผู้บริโภคในแต่ละพื้นที่ช่วยกันตรวจสอบ นอกจากนี้ยังต้องช่วยกันตรวจสอบว่ามีองค์ใดที่อาจเป็นองค์กรแฝงเข้ามาหรือเป็นองค์กรที่อาจไม่ได้ทำงานเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค แต่การที่จะให้ภาคประชาชนเข้าไปช่วยตรวจสอบได้นั้น สปน. จะต้องเปิดเผยข้อมูลรายชื่อองค์กรออกมาด้วย

          สาม สภาองค์กรของผู้บริโภคจะต้องเป็นสภาเดียว และคิดว่าจะต้องมีชื่อว่า ‘สภาองค์กรผู้บริโภค แห่งประเทศไทย’ โดยเป็นองค์กรที่เป็นเอกภาพและเป็นที่พึ่งของผู้บริโภคอย่างแท้จริง อีกทั้งยังอยากเห็นการทำงานแบบ One-Stop-Service จับมือทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐ รวมถึงการทำให้ผู้บริโภคทราบสิทธิของตนเองและทำให้ผู้บริโภคช่วยเหลือตัวเองให้ได้

IMG 5237

วิทยา แจ่มกระจ่าง ประธานสมาพันธ์ชมรมคุ้มครองผู้บริโภค กรุงเทพมหานคร

          วิทยา แจ่มกระจ่าง กล่าวว่า การทะลวงทางตันอาจง่ายกว่าการผ่าทางตัน โดยให้แต่ละเครือข่ายผู้บริโภคไปรวบรวมว่าคนที่ไปยื่นจดแจ้งฯ มีกี่องค์กร หากเกินครึ่งหนึ่งขององค์กรที่มีอยู่ก็สามารถตั้งสภาองค์กรฯ ได้ นอกจากนี้ยังตั้งข้อสังเกตกับภาครัฐว่ามีความจริงใจกับประชาชนหรือไม่ เนื่องจากที่ภาครัฐปฏิบัติกับองค์กรที่ไปยื่นจดแจ้งฯ นั้นเป็นการปฏิบัติเกินกว่าที่จำเป็น อีกทั้งยังสร้างภาระให้กับองค์กรต่างๆ มาก อย่างไรก็ตาม

IMG 5244

บุญยืน ศิริธรรม ประธานสมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค 

          ส่วนบุญยืน ศิริธรรม เปรียบเทียบ พ.ร.บ. การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 เหมือนกับการท้องอยู่นานมากและกว่าที่จะคลอดออกมาก็ใช้ระยะเวลานานมากเช่นเดียวกัน ขณะเดียวกันในตอนที่องค์กรผู้บริโภคไปยื่นจดแจ้งฯ และสมาชิกของแต่ละองค์กรก็ถูกเรียกตัวไปเพื่อยืนยันตัวตนนั้น บุญยืนมองว่าเหมือนกับกำลังสอบสวนนักโทษที่กระทำความผิดมากกว่า และจากการตรวจสอบองค์กรผู้บริโภคของ สปน. ขณะนี้ บุญยืนตั้งข้อสังเกตว่ากำลังทำเกินหน้าที่หรือทำเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ซึ่งก็คือ การสร้างขั้นตอนที่ยุ่งยากกับองค์กรผู้บริโภคที่จะมาขึ้นทะเบียนที่กล่าวไปข้างต้น

          ส่วนการผ่าทางตันในมุมมองของเธอนั้นเป็นการทำให้สภาองค์กรของผู้บริโภคนี้เกิดขึ้นให้ได้ โดยการทำให้ สปน. รีบเร่งประกาศรายชื่อว่าองค์กรใดผ่านหรือไม่ผ่านบ้าง อีกทั้งไม่ควรขยายระยะเวลาออกไปอีก เนื่องจากการอ้างเหตุผลว่าต้องการดำเนินการกับองค์กรแฝงก่อนจึงจะเร่งประกาศรายชื่อองค์กรในภายหลัง แต่ส่วนนี้จึงเริ่มมีความกังวลว่าอาจไม่ได้ดำเนินการเพียงแค่กับองค์กรแฝงเท่านั้น แต่อาจดำเนินการกับองค์กรผู้บริโภคที่เป็นองค์กรที่ทำงานคุ้มครองผู้บริโภคอย่างแท้จริงด้วย นอกจากนี้เธอยังกล่าวทิ้งท้ายว่า สปน. มีหน้าที่เพียงรับจดแจ้งฯ เท่านั้น ส่วนหน้าที่ในการตรวจสอบองค์กรจะเป็นขั้นตอนขององค์กรผู้บริโภคที่ผ่านเข้ามาในภายหลัง ตามที่ระบุไว้มาตรา 8

IMG 5246

ผศ.ภญ.ดร.ยุพดี ศิริสินสุข อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

          ขณะที่ ผศ.ภญ.ดร.ยุพดี ศิริสินสุข กล่าวย้ำถึงความสำคัญของการมีสภาองค์กรของผู้บริโภคว่า ทุกวินาทีที่มีการปล่อยเวลาไป ก็จะมีผู้บริโภคที่ถูกเอารัดเอาเปรียบอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องรีบมีสภาองค์กรฯ อย่างเร่งด่วน เพื่อเป็นที่พึ่งของผู้บริโภคและเป็นการช่วยเหลือและคุ้มครองผู้บริโภค

          จากการที่ติดตามมาโดยตลอด เธอจึงตั้งข้อสังเกตว่าทำไมถึงมีการสร้างขั้นตอนเกินความจำเป็น ตัวอย่างเช่น ในบางจังหวัดจะมีการเรียกกรรมการและสมาชิกขององค์กรนั้นๆ เข้ามาตรวจสอบ แต่ดูเหมือนว่าจะเป็นกระบวนการสอบปากคำมากกว่า ซึ่งหน่วยงานรัฐไม่ควรทำเช่นนี้ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มภาระทั้งค่าใช้จ่าย และค่าเสียเวลาให้กับองค์กรเหล่านั้นด้วย นอกจากนี้องค์กรผู้บริโภคที่ไม่ใช่นิติบุคคลก็ควรถูกรับรองได้ตามกระบวนการวิชาการด้วย ขณะเดียวกันตอนยกร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ยังมองว่า หากกังวลเรื่ององค์กรแอบแฝง ในมาตรา 8 ที่ระบุไว้ในกฎหมาย คือ ให้องค์กรผู้บริโภคที่ผ่านเข้ามามีสิทธิโต้แย้ง หรือ ทักท้วงองค์กรที่อาจไม่ได้ทำงานคุ้มครองผู้บริโภคได้ ซึ่งกระบวนการของกฎหมายที่ได้ยกร่างมาจะเป็นจัดการในตัวเอง อีกทั้งมองว่าหน่วยงานรัฐเป็นหน่วยงานที่รู้จักผู้บริโภคน้อยที่สุด แต่ตอนยกร่างกลับเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง และสุดท้ายก็มาสร้างภาระเงื่อนไขที่มากเกินไปให้กับผู้บริโภค และในมาตรา 6 ก็ได้ระบุไว้ว่าไม่ควรสร้างภาระเกินจำเป็น

          ผศ.ภญ.ดร.ยุพดี กล่าวอีกว่า สปน. ควรมององค์กรผู้บริโภคเหล่านี้เป็นพันธมิตรและจะเข้ามาช่วยส่งเสริมมากกว่าจะเข้ามากีดกัน ดังนั้น จึงควรปฏิบัติให้มีความชอบธรรมและไม่ควรขยายระยะเวลาในการประกาศองค์กรออกไป แต่ควรรีบประกาศองค์กรผู้บริโภค จากนั้นกระบวนการขององค์กรผู้บริโภคที่ผ่านเข้ามาแล้วก็จะทำงานตามมาตรา 8 คือ การให้องค์กรมีสิทธิโต้แย้งองค์กรที่อาจแอบแฝงเข้ามา ส่วนนี้อยากให้มองว่าภาคประชาชนเข้มเข็มพอที่จะตรวจสอบได้ เพราะคนที่รู้จักองค์กรผู้บริโภคดีก็คือองค์กรผู้บริโภคด้วยกันเองนี่เอง

          ด้วยความที่ สปน. มีการเปิดรับฟังความคิดเห็น และมีการขยายระยะเวลาประกาศออกไปอีก เธอกล่าวว่า ได้มีการพูดคุยกันในเครือข่ายผู้บริโภคว่าอาจมีการฟ้องร้องว่ามีการทำกติกาขึ้นเกินความจำเป็นที่ขัดต่อการดำเนินการตาม พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ชอบธรรมที่องค์กรภาครัฐจะมาออกคำสั่งกับประชาชนในลักษณะแบบนี้ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้อยู่ระหว่างการเปรียบเทียบข้อดีและข้อเสียของการฟ้องครั้งนี้ ข้อดีก็คือ เมื่อฟ้องแล้วก็จะมีบุคคลคอยตรวจสอบการทำงาน สปน. ว่ามีการดำเนินการอย่างไรกับผู้บริโภคบ้าง ส่วนข้อเสียนั้นอาจต้องดูประเด็นการฟ้องให้ชัดเจนว่าจะฟ้องในประเด็นใด ซึ่งหากกลไกการฟ้องหยุดในบางจังหวะก็จะทำกระบวนการตรงนี้ยืดออกไป และ สภาองค์กรฯ ก็จะยังไม่เกิดขึ้น ผู้บริโภคก็จะยังถูกเอารัดเอารัดเปรียบต่อไป

IMG 5249

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

          ด้าน สารี อ๋องสมหวัง อธิบายถึงประโยชน์ 7 เรื่อง ของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ ว่า หากเกิดสภาองค์กรฯ ขึ้นมาจะทำให้ 1) ไม่ต้องเดินไป 10 หน่วยงาน เพื่อร้องเรียน คือ แต่เดิมจะต้องไปร้องเรียนหลายๆ หน่วยงานถึงจะได้รับการชดเชยค่าเสียหาย หากมีสภาองค์กรฯ ขึ้น ผู้บริโภคก็จะมาร้องเรียนที่สภาองค์กรฯ ได้ในครั้งเดียวและจะได้รับการช่วยเหลือ

          2) เจรจาไกล่เกลี่ย ฟ้องคดีแทนผู้บริโภค คือ สภาองค์กรฯ สามารถช่วยผู้บริโภคเจรจาไกล่เกลี่ยให้มากขึ้น ซึ่งส่วนนี้จะเป็นผลดีกับผู้ประกอบการมากขึ้นด้วยที่ชดเชยค่าเสียหายจะจบในขั้นตอนการเจรจา ไม่ถึงกับต้องไปฟ้องร้องที่ศาล 3) เป็นอิสระ มีกรรมการมาจากผู้บริโภค 4) เปิดเผยข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา 5) ติดตาม เฝ้าระวัง แจ้งเตือนภัยผู้บริโภค 6) ทำงานเชิงรุก รวดเร็ว ฉับไว และ 7) มีสภาผู้บริโภคจังหวัดทั่วประเทศ สุดท้ายไม่ใช่ว่าสภาองค์กรฯ จะรับเรื่องร้องเรียนแค่เพียงส่วนกลางเท่านั้น แต่จะกระจายงานออกไปยังในแต่ละพื้นที่เพื่อที่จะเกิดสภาผู้บริโภคระดับจังหวัดและเพื่อที่จะทำให้ปัญหาของผู้บริโภคได้รับการแก้ไขได้ตรงจุดมากขึ้น

        สารี กล่าวว่า หากมองดูจะเห็นอุปสรรคตลอด เช่น การเชิญกรรมการและสมาชิกไปพบเพื่อตรวจสอบยืนยัน ซึ่งส่วนนี้ขัดกับมาตรา 6 ที่ระบุว่าไม่ควรสร้างขั้นตอนที่ไม่จำเป็นขึ้นมา หรือประเด็นเรื่องกรรมการที่มาจากหน่วยงานราชการ มองว่าควรจะดูที่วิธีการจัดตั้งองค์กรนั้นๆ มากกว่าที่จะเจาะจงเป็นรายบุคคล ถ้าหากใช้หลักเกณฑ์ในลักษณะนั้น คิดว่าอาจไม่มีองค์กรใดผ่าน

          สุดท้าย สารี ทิ้งท้ายว่า การเกิดของสภาองค์กรฯ จะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคอย่างมาก ดังนั้น จึงจำเป็นต้องทะลุทะลวงผ่านทางตันทางนี้ให้ได้ และเป็นเรื่องที่ดีที่เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคร่วมมือกันเพื่อจะทำให้เกิดสภาองค์กรของผู้บริโภคนี้ขึ้นมา คิดว่าเป็นสภาองค์กรฯ ที่ควรจะเกิดขึ้นได้แล้ว เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคที่เข้มข้นและมีพลัง อีกทั้งหากเกิดสภาองค์กรฯ ขึ้น องค์กรผู้บริโภคเล็กๆ ก็จะต้องมีความเข้มแข็งขึ้นตามด้วย ไม่ใช่หายไปตามการเกิดขึ้นของสภาองค์กรฯ

 

Tags: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค, สภาองค์กรผู้บริโภค

พิมพ์ อีเมล