เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค พร้อมกลุ่มผู้เสียหายจากอุบัติเหตุรถตู้โดยสาร คัดค้านขยายอายุรถตู้ พร้อมยื่น 7 ข้อเสนอต่อ รมว.คมนาคม ด้านรองปลัดคมนาคมหวั่นรถตู้เถื่อนเพิ่มขึ้น หากบังคับเปลี่ยนไมโครบัส
จากกรณีเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 มติคณะกรรมการควบคุมขนส่งทางบกกลาง ที่ 9/2562 อนุญาตให้รถตู้โดยสารหมวด 1 และหมวด 4 ที่มีอายุการใช้งานเกิน 10 ปี สามารถวิ่งในกรุงเทพและปริมณฑล โดยขยายเวลาอีก 180 วัน ซึ่งในระหว่างนี้หากรถตู้โดยสารคันใดครบอายุการใช้งานสามารถเปลี่ยนเป็นรถไมโครบัสหรือรถตู้โดยสารใหม่ได้ตามความสมัครใจ ทั้งที่ก่อนหน้านี้เคยมีมติให้ยุติการใช้รถตู้โดยสารในการขนส่งสาธารณะประจำทางนั้น
วันนี้ (6 กันยายน 2562) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) พร้อมด้วยเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค และกลุ่มผู้เสียหายจากอุบัติเหตุรถโดยสาร เดินทางไปยื่นหนังสือคัดค้านมติคณะกรรมการควบคุมขนส่งทางบกกลางดังกล่าว ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยมีนายจิรุตม์ วิศาลจิตร รองปลัดกระทรวงคมนาคมและนายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นผู้แทนรับหนังสือ
นายคงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ประสานงานโครงการรถโดยสารปลอดภัย มพบ. กล่าวถึงสาเหตุของการยื่นหนังสือในครั้งนี้ว่า มติดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการยอมรับให้มีรถโดยสารที่ไม่ปลอดภัยในการให้บริการขนส่งมวลชนกับประชาชน ทั้งที่เป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงคมนาคม อธิบดีกรมการขนส่งทางบก และคณะกรรมการควบคุมขนส่งทางบกกลาง ที่จะต้องจัดให้มีรถโดยสารที่ปลอดภัยให้บริการขนส่งมวลชนกับประชาชน ซึ่งกระทบต่อสิทธิผู้บริโภคที่จะต้องได้รับความปลอดภัยในการใช้บริการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522
ทั้งนี้ มีข้อเสนอต่อมาตรการความปลอดภัยรถตู้โดยสารและการคุ้มครองผู้บริโภคในบริการขนส่งมวลชน ทั้งหมด 7 ข้อ ดังนี้
1. ให้ทบทวนมติคณะคณะกรรมการควบคุมขนส่งทางบกกลาง ที่ 9/2562 ให้รถตู้โดยสารประจำทางทุกหมวดทุกคัน ที่มีอายุการใช้งานครบ 10 ปี ต้องเปลี่ยนเป็นรถโดยสารขนาดเล็ก หรือ ไมโครบัสโดยเร็ว ทั้งนี้ ในการปรับเปลี่ยนจากรถตู้โดยสารเป็นรถไมโครบัสนั้น ภาครัฐต้องมีกองทุนสนับสนุนด้วย เพื่อไม่ให้เป็นการผลักภาระไปให้ผู้ประกอบการจนเกินไป
2. ให้ยกเลิกนโยบายเพิ่มความเร็ว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพราะทำให้เกิดอุบัติเหตุที่รุนแรงบนท้องถนน
3. การบังคับกฎหมายเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุแบบ Real Time ผ่านระบบติดตาม GPS เมื่อพบว่ามีการขับรถด้วยความเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด ที่สามารถแจ้งเตือนผู้ประกอบการหรือให้หน่วยงานรัฐบังคับใช้กฎหมายได้ทันที
4. ต้องควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการของรถตู้โดยสารทุกประเภทรวมถึงรถตู้ส่วนบุคคล โดยไม่มีการละเว้นกับผู้ประกอบการที่ฝ่าฝืนกฎหมาย พร้อมบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารทุกคน
5. ควรขยายขอบเขตกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) ให้สามารถช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนน เพื่อให้ผู้พิการหรือครอบครัวผู้ประสบอุบัติเหตุสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ และกลับเข้าสู่สังคมได้เช่นบุคคลทั่วไป
6. ควรสนับสนุนให้มีตัวแทนองค์กรผู้บริโภคในการให้ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการควบคุมขนส่งทางบกกลางและคณะกรรมการควบคุมขนส่งประจำจังหวัด เพื่อประโยชน์ในการกำหนดนโยบายคุ้มครองผู้บริโภคด้านระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัยและเป็นธรรม ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภค พ.ศ. 2562
และ 7. ควรสนับสนุนภาคประชาชนในการแจ้งเบาะแสหรือร้องเรียนผู้กระทำความผิด ด้วยการกำหนดส่วนแบ่งเงินค่าปรับการกระทำความผิดจากพนักงานขับรถและผู้ประกอบการรถโดยสารไม่ปลอดภัย ที่มีการตรวจสอบและลงโทษตามกฎหมายแล้ว
นายจิรุตม์ วิศาลจิตร รองปลัดกระทรวงคมนาคม ระบุว่า ยินดีรับข้อเสนอดังกล่าวของเครือข่ายผู้บริโภคไปพิจารณา ส่วนเหตุผลที่ยืดระยะเวลาการใช้งานรถตู้โดยสารไปอีก 180 วัน ก็เพื่อให้คณะกรรมการฯ มีเวลาพิจารณาปัญหาอย่างรอบด้านทุกมิติ ทั้งในมุมผู้ใช้บริการ เจ้าของรถ ผู้บังคับใช้กฎหมาย และความคุ้มค่า เพื่อให้ได้วิธีการแก้ไขปัญหาที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกันมากที่สุด
“สำหรับประเด็นการเปลี่ยนจากรถตู้เป็นรถไมโครบัสนั้น หากเราบังคับให้ผู้ประกอบการเปลี่ยน (เป็นรถไมโครบัส) ทั้งหมด อาจส่งผลต่อจำนวนรถที่ให้บริการ และทำให้มีรถโดยสารไม่เพียงพอจำนวนผู้ใช้บริการ เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นรายย่อย การเข้าถึงแหล่งเงินทุนค่อนข้างยาก นอกจากนี้ ยังอาจก่อให้เกิดปัญหารถตู้เถื่อน ปัญหาจุดจอดรถให้บริการ และปัญหาอื่นๆ ตามมาในอนาคต” นายจิรุตม์กล่าว
นายจิรุตม์กล่าวเพิ่มเติมว่า เรื่องนโยบายการปรับเพิ่มความเร็วรถเป็น 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงนั้น อยู่ในขั้นตอนการศึกษาวิจัย และยังไม่ได้ข้อสรุป ส่วนประเด็นอื่นๆ ที่เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค เสนอมา จะรับไปพิจารณา และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป
นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า เห็นด้วยกับเรื่องการให้รางวัลสำหรับผู้แจ้งเบาะแส เนื่องจากเมื่อมีมาตรการเข้มงวดเรื่องความปลอดภัยของรถโดยสารมากขึ้น ก็จำเป็นต้องมีคนที่จะช่วยตรวจสอบ สอดส่องดูแลเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งหน่วยงานเองมีความกังวลเรื่องปริมาณเจ้าหน้าที่ที่อาจไม่เพียงพอ แต่หากได้รับความร่วมมือจากประชาชนในการแจ้งเบาะแส รวมทั้งความร่วมมือจากอาสาสมัคร สมาคม หรือองค์กรต่างๆ ที่ทำงานเรื่องผู้บริโภคในการช่วยตรวจสอบ ก็จะทำให้ดำเนินการได้ครอบคลุมทุกพื้นที่ และช่วยเพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนนได้
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ facebook LIVE : เครือข่ายผู้เสียหายจากอุบัติเหตุรถตู้โดยสารและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ค้านขยายอายุรถตู้ 180 วัน และเรียกร้องให้รถตู้ต้องเปลี่ยนเป็นรถไมโครบัส