มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เสนอยกเลิกการปรับค่าผ่านทาง 1 ปี ชี้การลดราคาด้วยการให้ซื้อคูปองเป็นการสร้างภาระ ไม่สะดวก และบีบให้ผู้บริโภคที่ไม่ซื้อคูปองต้องจ่ายค่าผ่านทางในอัตราที่ปรับขึ้น แนะให้กระทรวงคมนาคมออกมาชี้แจงเหตุผลที่ไม่สามารถลดราคาค่าผ่านทางพิเศษพิเศษศรีรัช - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ โดยไม่ต้องซื้อคูปอง
จากกรณีที่มีประกาศปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษสายศรีรัช – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ เริ่มวันที่ 15 ธันวาคม 2564 โดยปรับค่าผ่านทางจากอัตรา 50/80/115 บาท เป็น 65/105/150 บาท สำหรับรถประเภท 4 ล้อ รถประเภท 6 - 10 ล้อ และรถมากกว่า 10 ล้อ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) ได้จำหน่ายคูปองใช้แทนเงินสด เพื่อที่จะสามารถจ่ายในราคาเดิมอีก 1 ปีนั้น ผู้บริโภคสะท้อนปัญหาว่า เป็นการสร้างภาระ ไม่สะดวกในการซื้อคูปอง เพราะต้องไปจอดรถซื้อคูปองในจุดที่เปิดขาย อีกทั้งยังใช้ easy pass ไม่ได้
นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กล่าวถึงการปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษสายศรีรัช – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ว่า กระทรวงคมนาคมควรต้องออกมาชี้แจงว่าทำไมต้องขายคูปอง เพื่อให้ได้ราคา 50 บาทเท่าเดิม แต่ผู้บริโภคที่ไม่สะดวกซื้อคูปองต้องจ่ายราคา 65 บาทในอัตราที่ปรับขึ้น สร้างความไม่เป็นธรรมให้กับผู้บริโภค และยังมีปัญหามากมายในการซื้อคูปองจากปัญหาที่ผู้บริโภคสะท้อนมา เรื่องความไม่สะดวกในการจ่ายด้วยคูปองและซื้อคูปองตามจุดที่เปิดขาย เพราะบางคนเติมเงินผ่านระบบ easy pass ที่สะดวกกว่า ถ้าต้องการราคาเดิมต้องซื้อคูปองแทนการใช้ easy pass และการซื้อคูปองตรงจุดที่เปิดขายเป็นการสร้างภาระเพิ่ม อีกทั้ง การซื้อคูปองจะต้องซื้อเป็นเล่ม เล่มละ 20 ใบ 1,000 บาท กลายเป็นการบังคับซื้อให้ต้องจ่ายค่าทางด่วนล่วงหน้า ทั้งที่ไม่จำเป็นต้องใช้ทางด่วนนั้นเป็นประจำ ใน 1 ปี อาจจะใช้ไม่หมดและต้องสูญเงินจากการซื้อคูปองล่วงหน้า นอกจากนี้การเก็บเงินประชาชนล่วงหน้า 1,000 บาท ไม่ว่าจะใช้ทางด่วนหรือไม่ เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการ
“การขึ้นราคาค่าผ่านทางพิเศษนั้น รัฐบาลทำสัญญาสัมปทานกับบริษัท ทางด่วนกรุงเทพ ถึง 30 ปี และในสัญญาให้ปรับอัตราค่าผ่านทางขึ้นทุก 5 ปี ซึ่งในกรณีต่างประเทศ การเก็บค่าผ่านทางพิเศษ ยิ่งใช้ทางด่วนนาน ยิ่งราคาถูก เพราะมีแค่ค่าดูแลรักษา โดยที่ต่างประเทศรัฐบาลจะให้สัมปทานเอกชนไม่นาน ให้ผู้ประกอบการสร้างและได้ประโยชน์ในระยะเวลาที่ถือสัมปทานเท่านั้น หลังจากนั้นจะเป็นของรัฐบาล ซึ่งในปัจจุบันกรุงเทพฯ มีสภาพของการบังคับขึ้นทางด่วน เพราะการจราจรหนาแน่น ถ้ารัฐบาลมีมาตรการที่จะคงราคาเดิม และต้องการช่วยเหลือประชาชนจริงๆ นั้น การลดภาระให้ผู้บริโภคเป็นนโยบายที่รัฐบาลควรจัดการ ไม่ควรสร้างภาระให้ผู้บริโภคต้องไปจอดรถต่อคิวซื้อคูปองตามจุดต่างๆ และไม่ต้องปรับขึ้นค่าทางด่วน เอื้อประโยชน์ให้ประชาชนทุกคนได้ใช้ทางด่วนในอัตราเดิม” นางนฤมลกล่าว
รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มพบ. กล่าวว่า ขอให้กระทรวงคมนาคมตอบผู้บริโภคว่า ทำไมต้องให้ซื้อคูปองลดราคา นี่คือกระบวนการการเอาเปรียบผู้ที่ไม่สะดวกซื้อคูปอง บีบให้จำยอมจ่ายค่าผ่านทางในราคาที่ปรับขึ้นหรือไม่ และควรออกมาอธิบายถึงเหตุผลที่ไม่สามารถลดราคาค่าทางด่วนในระบบเลยโดยไม่ต้องซื้อคูปอง
มูลนิธิฯ เสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาทบทวนเรื่องการซื้อคูปองลดราคาค่าผ่านทางพิเศษ ซึ่งในสถานการณ์โควิด กระทรวงคมนาคมควรมีมาตรการในการช่วยเหลือและลดภาระให้กับผู้บริโภคตามที่กล่าวอ้าง และเสนอให้กระทรวงคมนาคมไม่ต้องปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษในเวลา 1 ปี ทางด่วนเป็นทางเลือกของบริการสาธารณะ ประชาชนควรจะใช้สิทธิ์ในการลดค่าผ่านทางได้เลย โดยไม่ต้องไปซื้อคูปอง เพราะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการ ควรให้ผู้บริโภคทุกคนได้ส่วนลดเท่ากัน