มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเผยปัญหาแอปพลิเคชันกู้เงินผิดกฎหมาย ได้เงินไม่ครบ ให้โอนเงินก่อน ดอกเบี้ยสูง มีผู้ร้องเรียน 82 ราย แนะกระทรวงดิจิทัลจัดการกวาดล้างแอปพลิเคชันกู้เงินผิดกฎหมายทั้งหมด และป้องกันโดยทำโลโก้รับรองแอปพลิเคชันกู้เงินถูกกฎหมาย แสดงในเว็บไซต์ของผู้ประกอบการ
วันที่ 11 พฤศจิกายน 2564 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) เปิดเผยข้อมูลผู้ร้องเรียนว่า พบผู้บริโภคที่ประสบปัญหาจากแอปพลิเคชันกู้เงินผิดกฎหมาย และร้องเรียนเข้ามาทั้งหมด 82 ราย โดยมีผู้ร้องเรียนเข้ามามากขึ้น ในเดือนตุลาคม แบ่งลักษณะปัญหาของการกู้เงินได้เป็น 3 แบบ แบบที่ 1 ได้รับเงินบางส่วนจากจำนวนที่ต้องการกู้ เพราะหักค่าดำเนินการร้อยละ 40 ต้องชำระคืนภายใน 6-7 วัน โดยที่แอปไม่ได้แจ้งไว้ก่อน หรือไม่เหมือนที่โฆษณาไว้ ถ้าไม่จ่ายภายในเวลาที่กำหนด จะให้ต้องจ่ายดอกเบี้ยวันละ 300-400 บาท แบบที่ 2 หลอกให้โอนเงินไปก่อนหลายครั้ง ทั้งหลักพันไปจนถึงหลักหมื่น เพื่อเป็นค่าธรรมเนียม ค่าปลดล็อกบัญชีจากการกรอกเลขบัญชีผิด ค่าเอกสาร หรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ แต่โอนไปกี่ครั้งก็ไม่ได้รับเงินที่ต้องการกู้ มีแต่ให้โอนต่อไปเรื่อยๆ แบบที่ 3 กู้เงินผ่านแอปพลิเคชันไลน์ ลักษณะวิธีการเหมือนแบบที่ 1 คือ ได้รับเงินบางส่วน ต้องชำระเงินภายใน 6-7 วัน ไม่อย่างนั้นจะต้องจ่ายดอกเบี้ย ซึ่งสูงกว่าร้อยละ 15 ต่อปี ที่กฎหมายกำหนด ทั้งสามรูปแบบเจอปัญหาว่าหากลูกหนี้จ่ายหนี้ไม่ครบหรือไม่จ่ายหนี้ เจ้าหนี้จะโทรหาทุกคนที่มีรายชื่อในโทรศัพท์ และก่อนกู้เงิน ทางแอปจะให้ลงทะเบียนจากบัตรประชาชนทั้งด้านหน้าและด้านหลัง โดยมิจฉาชีพใช้ช่องทาง เพิ่มเพื่อนในไลน์ และดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน ที่มาจาก SMS แอปกู้เงิน โฆษณาในเว็บไซต์ หรือ สื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ
ด้าน นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ปัจจุบันพบแอปพลิเคชันและไลน์ปล่อยกู้แบบผิดกฎหมายจำนวนมาก แอปพลิเคชันกู้เงินต่างๆ เหล่านี้ มักจะมีโฆษณาชวนเชื่อที่เข้าถึงผู้บริโภคได้ง่าย ดูจากพฤติกรรมการใช้ของผู้บริโภคได้เลย เช่น บางคนใช้ไลน์เป็นหลัก แอปเงินกู้ต่างๆ ก็ไปปรากฏโฆษณาในไลน์ ใช้สื่อโซเชียลมีเดียส่วนใหญ่ในเวลาไหน โฆษณาก็จะขึ้นตามเวลานั้นๆ โดยผู้กู้อาจจะต้องการใช้เงินโดยไม่ได้ศึกษาหาข้อมูลก่อนกู้เงิน และไม่ทราบว่าหน่วยงานรัฐมีระบบการตรวจสอบข้อมูลผู้ประกอบธุรกิจ จึงทำให้ถูกหลอกได้ง่าย และเมื่อแจ้งความ ตำรวจตามจับมิจฉาชีพได้ แต่ก็ยังคงมีปัญหาเพิ่มขึ้นทุกวัน เนื่องจากไม่ได้มีระบบคุ้มครองผู้บริโภคในการป้องกันหรือจัดการแอปพลิเคชันที่ผิดกฎหมาย รัฐจึงควรดำเนินคดีกับแอปพลิเคชันที่ผิดกฎหมายก่อนที่ประชาชนจะเกิดปัญหาร้องเรียน ส่วนช่องทางการตรวจสอบ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีระบบการตรวจสอบแอปกู้เงินและผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจอย่างถูกต้อง ในเว็บไซต์ของแบงก์ชาติ ซึ่งมีบริษัทที่ถูกกฎหมายทั้งหมด 102 บริษัท แต่ยังมีผู้บริโภคจำนวนมากที่ไม่ทราบ และยังไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ง่าย นอกจากนี้ บางคนยังโดนทวงถามหนี้ทั้งที่ไม่ได้กู้ อาจได้เบอร์มาจากคุณรู้จักที่ไปกู้เงินมา ปัญหาที่พบคือ ไปแจ้งความแล้วตำรวจไม่รับแจ้งความ ทั้งที่กรณีนี้เป็นหน้าที่ของตำรวจตามกฎหมาย พรบ.การทวงถามหนี้ ฉะนั้น ตำรวจต้องรับแจ้งความตามหน้าที่ภารกิจ กรณีที่ผู้เสียหายได้รับโทรศัพท์ติดตามทวงถามหนี้โดยไม่ได้เป็นหนี้
มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาแอปพลิเคชันกู้เงินผิดกฎหมาย ทาง มพบ. มีข้อเสนอว่า 1. ธนาคารแห่งประเทศไทยควรจะมีมาตรการกำกับให้ผู้ประกอบธุรกิจเปิดเผยข้อมูลการจดทะเบียนอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อบุคคลภายใต้การกำกับ ในทุกเว็บไซต์หรือไลน์ หรือ เปิดเผยข้อมูลหลักฐานการจดทะเบียนอนุญาต โดยอาจทำเป็นสัญลักษณ์การจดทะเบียน เช่น ถ้าเป็นในช่องทางไลน์ สามารถลิงก์ข้อมูลการจดทะเบียนกับ ธปท. ได้เลย เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบได้จากผู้ประกอบการ ไม่ต้องเข้าไปตรวจสอบในช่องทางของหน่วยงานรัฐ และสามารถเลือกผู้ประกอบธุรกิจที่ถูกกฎหมาย และซึ่งเป็นการส่งเสริมผู้ประกอบการที่ดี ที่ปฏิบัติตามกฎหมาย สัญลักษณ์นี้จะสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค และหน่วยงานสามารถให้ข้อมูลกับผู้บริโภคได้สะดวก โดยสังเกตจากโลโก้รับรอง เนื่องจากผู้บริโภคบางคนไม่รู้จะตรวจสอบอย่างไร จากหน่วยงานรัฐ ช่องทางผู้ประกอบธุรกิจเองจึงควรจะมีการเข้าถึงข้อมูลการขออนุญาตได้อย่างรวดเร็ว ไม่ได้ตรวจสอบแค่ในระบบเดียว เพราะขณะนี้ผู้ประกอบได้ข้อมูลผู้กู้อยู่ฝ่ายเดียว ทั้งบัตรประชาชน และข้อมูลจากเบอร์โทรศัพท์ แต่ผู้กู้ไม่รู้ข้อมูลอะไรเกี่ยวกับผู้ประกอบการเลย
2. ในส่วนของมาตรการจัดการ เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กวาดล้างหรือระงับไม่ให้มีการทำธุรกรรมหรือเปิดแอปพลิเคชันกู้เงินที่ผิดกฎหมายทั้งหมด โดยที่ไม่ต้องให้มีผู้เสียหายก่อน จากแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น ไลน์ แอปพลิเคชัน จาก google play เพราะปัจจุบันมีจำนวนมากขึ้นทุกวัน ทำให้ประชาชนหลงเชื่อเป็นจำนวนมาก อาจจะประสานกับความร่วมมือกับผู้ประกอบธุรกิจทำแพลตฟอร์ม ให้จัดการแอปพลิเคชันที่ผิดกฎหมาย
ส่วนวิธีการแก้ไขปัญหาเมื่อเจอแอปพลิเคชันกู้เงินผิดกฎหมาย 1. ใช้หนี้เท่าที่ยืมมา 2. หากมีการทวงหนี้แบบข่มขู่ ให้แจ้งที่สถานีตำรวจท้องที่ โดยแจ้งสถานที่เกิดเหตุ เช่น โดนข่มขู่ทางออนไลน์ โทรศัพท์ หรือที่บ้าน ที่จะให้สถานีตำรวจท้องที่ช่วยดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด
หรือแจ้งเรื่องร้องเรียนได้ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โทรศัพท์ : 02-2483734-7 Line id : @ConsumerThai ช่องทาง inbox FB เพจ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หรือร้องทุกข์ออนไลน์ที่ https://www.consumerthai.com/