โพลล์ฉลาดซื้อเผย 83.9% ของคนกรุงเทพมีหนี้สิน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเรียกร้องธปท.พักชำระหนี้ถึงสิ้นปี ลดดอกเบี้ยสร้างแรงจูงใจชำระหนี้

debt2308641

โพลล์ฉลาดซื้อเผย 83.9% ของคนกรุงเทพมีหนี้สิน โดย 36.7% กู้ซื้อรถยนต์ และ 35.8% กู้ยืมผ่านธนาคารพาณิยช์ ด้านมูลนิธิเรียกร้องธปท.พักชำระหนี้ถึงสิ้นปี ลดดอกเบี้ยสร้างแรงจูงใจชำระหนี้

        นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการบังคับใช้พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,135 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 27 - 30 มิถุนายน 2564 กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง

        ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ผลการสำรวจในครั้งนี้เรื่องการบังคับใช้พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 เนื่องจากพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2558 มีผลใช้บังคับจริงในวันที่ 2 กันยายน 2558 เป็นต้นไป ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกาศใช้บังคับ คือ เพื่อป้องกันและแก้ไขการทวงหนี้ที่ไม่เหมาะสมต่อลูกหนี้ เช่น การใช้ถ้อยคำที่เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอย่างรุนแรง การคุกคาม การขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย หรือการทำให้เสียชื่อเสียง รวมถึงการให้ข้อมูลเท็จและการสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่บุคคลอื่น เป็นการปกป้องลูกหนี้จากการทวงถามหนี้ ในรูปแบบต่างๆ โดยผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อเรื่องการบังคับใช้พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

       กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีหนี้สินหรือการกู้ยืมเงิน ร้อยละ 83.9 โดยการกู้ซื้อรถยนต์เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 36.7 อันดับสองคือ การกู้ซื้อบ้าน ที่พักอาศัย ร้อยละ 33.9 อันดับสามคือ การกู้ยืมจากกองทุน ร้อยละ 21.9 อันดับสี่คือ การกู้ยืมจากหนี้นอกระบบ ร้อยละ 20.6 อันดับห้าคือ การกู้ยืมสินเชื่อส่วนบุคคล ร้อยละ 19.2 และอันดับหกคือ การกู้ยืมจากสหกรณ์ ร้อยละ 10.5 โดยหนี้สินหรือการกู้ยืมเงิน เป็นการกู้ยืมผ่านธนาคารพาณิชย์ เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 35.8 อันดับสองคือ บริษัทไฟแนนซ์/ลิสซิ่ง ร้อยละ 30.6 อันดับสาม
คือ กองทุน ร้อยละ 23.1 อันดับสี่คือ บริษัทสินเชื่อเงินด่วน ร้อยละ 20.8 อันดับห้าคือ คนปล่อยกู้ ร้อยละ 18.8 และอันดับหกคือ สหกรณ์ ร้อยละ 12.8 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เคยได้ผลกระทบอะไรจากการทวงหนี้ที่ผิดกฎหมายจากเจ้าหนี้ คือถูกประจานทำให้อับอาย เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 28.5 อันดับที่สองคือ ถูกส่งคนติดตาม ร้อยละ 14.4 อันดับที่สามคือ ถูกข่มขู่ ร้อยละ 13.1

Poll debt 02

      ในส่วนของแนวทางการช่วยเหลือลูกหนี้นั้น นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า มูลนิธิฯ ต้องการเรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ช่วยเหลือลูกหนี้ ดังต่อไปนี้ หนึ่ง ขอให้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ สอง ขอให้ออกมาตรการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยจนถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 และเศรษฐกิจอาจจะยังชะลอตัวในช่วงเวลาดังกล่าว สาม ขอให้มีมาตรการจัดการกับธุรกิจการปล่อยสินเชื่อผ่านแอปพลิเคชันที่ผิดกฎหมาย และสุดท้าย ขอให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการช่วยเหลือลูกหนี้ที่เริ่มมีปัญหาในการชำระหนี้โดยไม่ต้องรอให้เป็นลูกหนี้ NPL

      “การช่วยเหลือลูกหนี้ขณะนี้คือ พยายามให้ลูกหนี้อยู่ในภาวะที่จะช่วยเหลือตัวเองและมีชีวิตอยู่ได้ โดยที่ไม่ต้องเพิ่มภาระจากการไปกู้เงินมาใช้ หากลูกหนี้ไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ ก็ไม่สามารถที่ชำระหนี้ และไม่สามารถเก็บเงินเพื่อแฮร์คัทได้ เพราะฉะนั้นการพักชำระหนี้ก็ควรจะเป็นการพักชำระหนี้ระยะยาว เพราะในสถานการณ์วิกฤตแบบนี้ ตอบไม่ได้เลยว่าลูกหนี้จะฟื้นตัวเมื่อไร และเมื่อใดที่ลูกหนี้สามารถทำงานเก็บเงินมาใช้หนี้ ธนาคารก็ควรจะเปิดโอกาสในการแฮร์คัทได้ หรือให้ผ่อนชำระต่อจากหนี้เดิม ไม่ใช่การปรับโครงสร้างหนี้ให้เป็นหนี้ใหม่ ที่เอาภาระหนี้ทั้งเงินต้น ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมที่ค้างชำระมาทำเป็นเงินต้น และทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งสร้างความไม่เป็นธรรมกับลูกหนี้ ลูกหนี้จึงควรจะเจรจาปิดบัญชีภายใต้เงินที่เขามี หรือรายได้ที่สามารถหาได้ เพื่อเป็นการลดภาระให้ลูกหนี้” นางนฤมลกล่าว

       รองผู้อำนวยการ ฝ่ายศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ยังมีกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 แต่ยังชำระหนี้ได้ไม่ผิดนัดชำระ ลูกหนี้กลุ่มนี้ก็อาจจะประสบปัญหาการเงิน หรือต้องรับผิดชอบสภาพการเงินของครอบครัวเช่นกัน แต่ที่สามารถหมุนเงินได้ เพราะยังมีอาชีพ ซึ่งในอนาคตหากการเงินตึงขึ้นมาอาจจะกลายเป็นลูกหนี้ผิดนัดชำระก็ได้ เพราะฉะนั้นธนาคารจะต้องมีมาตรการสร้างแรงจูงใจการชำระหนี้ให้ลูกหนี้มีการผ่อนชำระหนี้ที่ดีต่อไป เช่น ลดอัตราดอกเบี้ย เป็นต้น


อ่านข้อมูลผลสำรวจเพิ่มเติมได้ที่นิตยสารฉลาดซื้อ https://www.chaladsue.com/article/3782

Tags: นิตยสารฉลาดซื้อ, พ.ร.บ.การทวงถามหนี้, ทวงหนี้, ทวงหนี้โหด, กฏหมายทวงหนี้, ทวงถามหนี้

พิมพ์ อีเมล