19 พ.ค. 54 ห้องประชุม สกอ.ตัวแทนนักศึกษาคณะดนตรี มหาวิทยาลัย อัสสัมชัญ (ABAC) นำโดยนางสาวณัฏฐา ธวัชวิบูลย์ผล เข้ายื่นหนังสือต่อเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ให้มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญเยียวยา ความเสียหายต่อนักศึกษา หลังเข้าร้องเรียนต่อ สกอ.ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554
“พวกเรายังคงยืนยันข้อเรียกร้องเดิมนั่นคือ 1.ต้องการให้ทางมหาวิทยาลัยเอแบคคืนเงิน 2.ต้องการให้ปรับปรุงคณะดนตรี อุปกรณ์การเรียนการสอน และจัดอาจารย์สอนให้ตรงกับสาขาวิชา และ 3.ต้องการให้ สกอ.ประสานมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่นักศึกษาคณะดนตรี เอแบค ต้องการย้ายไปเรียน อยากให้ สกอ.ดำเนินการแก้ปัญหาและเปิดเวทีเจรจาเพื่อหารือและแก้ปัญหาร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยเอแบคและนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบภายใน 30 วัน เพราะเราให้เวลามานานแล้วตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ หากทางมหาลัยฯไม่เจรจาหรือตกลงกันไม่ได้ก็จะยื่นเรื่องฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคต่อไป” นางสาวณัฏฐา กล่าว
พร้อมกล่าวเพิ่มเติมว่าผลจากการเปลี่ยนหลักสูตรหลักสูตรคณะดนตรีกลางคันของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญโดยไม่มีการแจ้งให้นักศึกษาทราบ เมื่อ พ.ศ. 2551 ส่งผลต่อชีวิตของเธออย่างมายเพราะไม่สามารถโอนย้ายหรือเทียบโอนในบางรายวิชาได้ จึงส่งผลให้นักศึกษาเก่าจะต้องย้ายสาขาตามนโยบายมหาวิทยาลัย ถึงแม้เธอและกลุ่มนักศึกษาจะเข้าร้องเรียนต่อคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) จนถึงล่าสุด รวม 11 ครั้ง ในระยะเวลา 3 ปี แต่ปราศจากการแก้ปัญหาใดๆ
“ตอนนี้ต้องเปลี่ยนเส้นทางชีวิตของตัวเองทั้งที่เรียนมาจนถึงปี 4 แล้ว วิชาที่อยากเรียนก็ไม่ได้เรียน ตอนแรกจะย้ายมหาวิทยาลัยไปเรียนต่อในหลักสูตรดนตรีของมหาลัยศิลปากร แต่โอนย้ายได้แค่บางวิชา ส่วนภาคปฏิบัติต้องลงเรียนใหม่ ไม่ต่างจากการไปนับ 1 ใหม่ในอีกมหาวิทยาลัย จึงต้องยอมเปลี่ยนชีวิตตัวเองไปเรียนในสายการอาชีพในภาควิชาอุตสาหกรรมการบริหาร ของ วิทยาลัยดุสิตธานี แทนการเรียนดนตรี ยอมรับค่ะว่าผิดหวัง และครอบครัวต้องแบกภาระเพิ่มขึ้นอีก ทั้งที่ความเป็นจริงไม่น่าจะเป็นอย่างนี้ อยากให้ทางมหาวิทยาลัยฯ คิดให้ดีก่อนจะออกหลักสูตรหรือเปลี่ยนแปลงหลักสูตร เพราะมันคือเส้นทางชีวิตของคนคนหนึ่ง” นางสาวณัฏฐากล่าว
ด้านตัวแทน สกอ.รับปากจะเป็นตัวกลางในการเปิดเวทีให้ทั้งสองฝ่ายได้พูดคุยกัน ให้เร็วที่สุด ก่อนอื่นต้องดูเอกสารที่นักศึกษานำมายื่นก่อน เพราะ สกอ.เองก็ต้องรับฟังข้อมูลทั้งสองฝ่าย
อนึ่งจำนวนนักศึกษาที่เรียกร้องทั้งหมด 21 รายแบ่งเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 นักศึกษาหลักสูตรเก่าที่จบไปแล้วรวมถึงนักศึกษาหลักสูตรเก่าที่ต้องการเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ จำนวน 9 คน คิดเป็นค่าเสียหาย 4,536,208 บาท นักศึกษา 4 คนในกลุ่มนี้ไม่เรียกร้องค่าเสียหายใดๆ
กลุ่มที่ 2 นักศึกษาหลักสูตรเก่าที่ต้องการจะย้ายไปเรียนในมหาวิทยาลัยอื่น จำนวน 6 คน คิดค่าเสียหาย 9,774,158 บาท
กลุ่มที่3 นักศึกษาหลักสูตรปัจจุบันที่ต้องการจะเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ จำนวน 1 คน คิดเป็นค่าเสียหาย 654,000 บาท
กลุ่มที่ 4 นักศึกษาหลักสูตรปัจจุบันที่ต้องการจะย้ายไปเรียนในมหาวิทยาลัยอื่น จำนวน 5 คน คิดเป็นค่าเสียหาย 6,136,300 บาท รวมความเสียหายทั้งหมด 21,100,666 บาท