สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่เคารพทุกท่าน
ตราบใดที่โลกยังคงหมุนอยู่ โรงละครโรงใหญ่ ซึ่งมีมนุษย์เป็นผู้แสดงก็ต้องดำเนินต่อไปไม่มีวันสิ้นสุด มีทั้งสุขและทุกข์เคล้ากันไป แต่สำหรับประชาชนชาวไทยกลับต้องรับบทหนักมาโดยตลอดไม่ว่าจะต้องเผชิญกับมหาอุทกภัยเมื่อปลายปี เมื่อน้ำหมดไปแทนที่จะดีขึ้นกับต้องเจอกับค่าอาหารแพง และได้ข่าวว่าอีกไม่นานคนกรุงก็จะต้องควักกระเป๋าเพิ่มขึ้นอีก เพราะเรือด่วนและแท็กซี่ก็จะขึ้นราคา รวมไปถึงสิ่งอื่น ๆ อีกมากมายที่จะพาเหรดทยอยขึ้นราคาตามกันมา
แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงแล้ว ยากนักที่ประชาชนจะเข้าใจ เห็นแบบนี้ประชาชนบางคนอาจจะเกิดการท้อแท้ในชีวิต จิตใจห่อเหี่ยว และจะทำอย่างไรเล่า เพื่อให้ใจเราสู้ ผมอยากจะเสนอแนวทางต่อไปนี้ซึ่งอาจจะช่วยเสริมกำลังใจได้บ้าง คือหนึ่ง ทำความรู้จักกับความทุกข์ของคุณให้ชัดเจน คิดวิตกกังวลหรือกลุ้มใจเรื่องอะไร ลองคิดดูให้ชัดแล้วงัดมันออกมา สอง คิดถึงคนอื่นที่ได้รับความทุกข์มากกว่าเรา สาม ให้คิดว่าตัวเองเป็นคนโชคดีอยู่เสมอ และข้อสุดท้าย ต้องสร้างกำลังใจของตนเองให้สู้ชีวิต เช่นมีการปลุกใจให้สู้อยู่เสมอ
ในเมื่อท่านมีจิตใจสู้แล้ว ความคิดที่จะแก้ไขปัญหาก็จะตามมา เริ่มจากการคิดหาเหตุแห่งปัจจัยที่จะวิเคราะห์ปัญหา พยายามแยกแยะองค์ประกอบต่าง ๆ ให้ชัดแจ้ง จนท่านสามารถกำหนดเป้าหมายได้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร ซึ่งจะทำให้ท่านสามารถคลี่คลายปัญหาให้ลุล่วงได้ในที่สุด
วันนี้จะขอนำเสนอในท้องเรื่อง เพียงแต่ฟ้องคดียังไม่ถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี
ในระหว่างที่ศาลชั้นต้นกำลังพิจารณาคดีเราอยู่ เราเองซึ่งเป็นโจทก์ได้ขอให้ศาลใช้วิธีการคุ้มครองชั่วคราวให้อายัดเงินซึ่งจำเลยมีสิทธิจะได้จากบุคคลภายนอก แต่หลังจากนั้นปรากฏว่าศาลได้ออกหมายบังคับคดีและอายัดเงินดังกล่าวนั้นโดยเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยอีกรายหนึ่ง ซึ่งศาลพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ให้ไปก่อน ผลก็คือว่า เจ้าหนี้นั้นย่อมได้รับชำระหนี้ก่อนเรา เพราะศาลพิพากษาให้เขาชนะคดีแล้ว
ปัญหามีว่า เราซึ่งอาจฟ้องคดีก่อนเขาอีก และขอให้อายัดทรัพย์ชั่วคราวไว้เสียด้วย จะมีสิทธิขอให้เพิกถอนการอายัดที่ศาลสั่งอายัดตามคำร้องขอของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานั้นได้หรือไม่ เพราะหากไม่ได้ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอื่นนั้น ย่อมบังคับคดีเอากับเงินที่อายัดนั้นไปหมด ส่วนเราเองแม้ต่อมาศาลพิพากษาให้ชนะคดี ลูกหนี้ก็ไม่มีทรัพย์สินอื่นให้เรายึดมาชำระหนี้ได้ เพราะได้ชำระหนี้รายอื่นหมดไปแล้ว
มีตัวอย่างของปัญหาดังกล่าวดังนี้ คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลแพ่ง คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาศาลแพ่งได้มีคำสั่งอายัดเงินของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีสิทธิจะได้รับจากบริษัท 450000 บาท ชั้วคราว ตามคำร้องของผู้ร้อง แต่ต่อมาศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีและอายัดเงินจำนวนดังกล่าว โดยให้นำมาไว้ในคดีนี้เพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ อันเป็นหนี้ที่โจทก์และจำเลยทั้งสองสมยอมกันก่อขึ้น ขอให้เพิกถอนการยึดอายัด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้อง ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน ผู้ร้องฎีกา จากคำวินิจฉัยของศาลฎีกา
{xtypo_rounded3} โจทก์ผู้ฟ้องจำเลยต่อศาล และคดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณา ไม่ถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียตาม วิแพ่งว่าด้วยการบังคับคดี จึงไม่มีสิทธิร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งอายัดเงินของจำเลยที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอื่นขออายัดไว้ได้ ผลก็คือศาลต้องยกคำร้องไป โดยไม่จำเป็นต้องส่งสำเนาคำร้องหรือสอบถามคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง{/xtypo_rounded3}
กรณีตามปัญหานี้ ท่านผู้อ่านคงเห็นแล้วว่า ผู้ร้องเป็นเพียงเจ้าหนี้ธรรมดา ได้เป็นโจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระหนี้ให้ผู้ร้อง ซึ่งยังไม่รู้ผลว่าศาลพิพากษาให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้หรือยกฟ้อง ผู้ร้องยังไม่เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ผลก็คือผู้ร้องจะไปใช้สิทธิอย่างเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมไม่ได้ คือไปขอถอนการอายัดเงินซึ่งเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอีกคดีหนึ่ง เขาได้ขอให้ศาลอายัดไว้ไม่ได้
ทางแก้ในเรื่องนี้ ผู้ร้องควรจะดำเนินคดีของตนที่ฟ้องจำเลยอยู่ให้เสร็จโดยเร็ว และหากกศาลพิพากษาให้ผู้ร้องชนะคดี ผู้ร้องย่อมเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแล้วขอให้ถอนการอายัดหรือมิฉะนั้นก็ขอเข้าเฉลี่ยทรัพย์ที่อายัดนั้นต่อไป ซึ่งจะมีทางได้รับชำระหนี้มากกว่า
จำนวนผู้เข้าชม {hits}2166{/hits} ครั้ง