สวัสดีครับ...... ท่านผู้อ่านทุกท่าน
หลังจากในเดือนเมษายนได้หยุดยาวกันไปแล้ว ตอนนี้ทุกคนก็ต้องกลับเข้ามาปฏิบัติหน้าที่การงานกันอีกครั้ง จริงอยู่ที่ทุกคนอยากเข้ามาทำงานอย่างมีความสุข แต่มีสิ่งหนึ่งที่หนีไม่พ้นในเรื่องการทำงานก็คือ ความเครียด ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่มีปัจจัย รวมถึงเหตุแห่งความเครียดแตกต่างออกไป จึงมีคำถามเกิดขึ้นตามมาว่า มนุษย์ต้องการอะไร เราต้องการมีชีวิตที่ดี มีความสุขทั้งกายและใจ แต่ทำไมมนุษย์ส่วนใหญ่กลับไม่พบมัน ทั้ง ๆ ที่ทุกคนต่างก็เกิดมาพร้อมความสามารถในการหาความสุขอย่างไม่ยากเย็นด้วยกันทุกคน
ช่วงเวลาที่ดีที่สุดของชีวิต น่าจะเป็นในวัยเด็ก เพราะเราจะไม่ติดอดีต ไม่ต้องกังวลต่ออนาคต แต่มีความสุขอยู่กับปัจจุบันเท่านั้น พอเราเริ่มที่จะโตขึ้นมาโจทย์ของชีวิตก็เริ่มยากขึ้นเรื่อย ๆ เราเริ่มรู้ความ มองเห็นความต่าง เริ่มเปรียบเทียบอยากมีอยากได้ จึงเกิดการแข่งขัน เพื่อให้ตัวเองมีความสุข เมื่อไม่ได้ในสิ่งที่หวังจึงเกิดความเครียด และมีโรครุมเร้าตามมา
ยาซ่อมกาย ปัญญาซ่อมใจ เมื่อเราเกิดเจ็บป่วยก็ควรจะต้องรักษาตามนวัตกรรมในทางการแพทย์ แต่ทางด้านจิตใจเราก็จำเป็นจะต้องซ่อมแซมเช่นกัน ควรทำความเข้าใจกับทุกอย่าง พยายามตั้งเข็มทิศแห่งความดีเอาไว้เพื่อนำทาง เห็นประโยชน์ในสิ่งที่เกิดขึ้นกับทั้งตัวของเราเองและผู้อื่น คิดปล่อยวางและให้อภัย ไปให้ไกลจากกิเลศและความเครียด ชีวิตของทุก ๆ ท่านก็จะสุขกายและสุขใจอย่างแท้จริง
กลับเข้ามาเปิดประเด็นความรู้ในเรื่องของกฎหมาย ในเรื่องเด่นประจำสัปดาห์ กันต่อครับ ซึ่งวันนี้จะเสนอเรื่อง หนี้นอกระบบ ตอนที่ 1
จากสภาพปัญหาการขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องกฎหมาย ส่งผลให้ประชาชนบางส่วนถูกเอารัดเอาเปรียบและไม่ได้รับความเป็นธรรม โดยเฉพาะกรณีการทำสัญญา กู้เงินนอกระบบ ซึ่งถูกเอาเปรียบตั้งแต่ขั้นตอนของการทำสัญญาจนถึงขั้นฟ้องคดี โดยที่ลูกหนี้มักมีความหวาดกลัวไม่ยอมไปศาลเพื่อต่อสู้ จนทำให้แพ้คดีในที่สุด
หนี้นอกระบบ คือ หนี้เงินกู้ที่คิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด (เกินร้อยละ 15 ต่อปี หรือร้อยละ 1.25 ต่อเดือน โดยที่เจ้าหนี้ไม่ใช่สถาบันการเงิน เจ้าหนี้นอกระบบบางรายอาจใช้วิธีการต่าง ๆ ในการติดตามทวงหนี้ เพื่อกดดันลูกหนี้หรือให้ได้รับความอับอาย เกิดความกลัว ข่มขู่ อาจถึงขั้นประทุษร้ายต่อร่างกายและทรัพย์สิน
ข้อแนะนำสำหรับลูกหนี้
- ดำเนินคดีทางอาญา โดยการไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนท้องที่เกิดเหตุ หรือกองปราบปราม ซึ่งลูกหนี้ต้องมีความกล้าที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม ส่วนความผิดของเจ้าหนี้อาจเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ทำให้เสียทรัพย์ บุกรุก
- ดำเนินทางคดีแพ่ง เพื่อฟ้องร้องให้เจ้าหนี้หรือผู้กระทำความผิดชดเชยค่าสินไหมทดแทนฐานละเมิด
- ขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐ ได้ทั้งตำรวจ ฝ่ายปกครอง โดยใช้มาตรการทางภาษี โดยทั่วไปเจ้าหนี้นอกระบบจะหลีกเลี่ยงไม่นำเงินได้ที่ได้รับจากการกู้ยืมเงินไปเสียภาษีเงินได้หรือภาษีธุรกิจ ดังนั้นลูกหนี้ของหน่วยงานของรัฐควรแจ้งข้อมูลให้กรมสรรพกรดำเนินการในทางภาษี
โดยปกติเจ้าหนี้นอกระบบจะเป็นผู้ที่เป็นมีฐานะทางการเงินและทางสังคมสูงกว่าลูกหนี้ เจ้าหนี้จึงอาศัยความได้
เปรียบและมีอิทธิพลที่มากกว่าเอาเปรียบลูกหนี้ที่มีความเดือดร้อน ต้องการกู้ยืมเงินด้วยวิธีต่าง ๆ ให้อยู่ในภาวะจำยอม เช่น
- เจ้าหนี้ให้ลูกหนี้กู้ยืมเงิน โดยระบุว่าจำนวนเงินในสัญญากู้สูงกว่าจำนวนเงินที่ได้รับจริง ตัวอย่าง ให้กู้เงิน
10,000 บาทแต่ระบุในสัญญากู้ว่ากู้เงิน 20,000 บาท โดยบอกว่าป้องกันไว้เมื่อต้องฟ้องคดีจะต้องมีค่าใช้จ่าย หรือ
เจ้าหนี้กับลูกหนี้ทำสัญญากันโดยถูกต้อง แต่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงจำนวนเงินที่ระบุไว้ในสัญญากู้ให้สูงขึ้นในภายหลัง กรณีเช่นนี้หากพิสูจน์ได้ว่าหนี้ที่แก้ไขไม่มีมูลหนี้ที่แท้จริง ลูกหนี้จะต้องชำระผิดเพียงเท่าจำนวนเงินที่ระบุไว้ในสัญญา เช่น ก กู้เงิน ข จำนวนเงิน 50,000 บาท ทำสัญญาถูกต้อง ต่อมา นาย ข เติมเลข 1 ลงไปข้างหน้า กลายเป็น 150,000 บาท กรรีนี้ต้องรับผิดเพียง 50,000 บาท
- ลูกหนี้ได้รับเงินกู้น้อยกว่าที่ตกลงกู้กัน โดยที่เจ้าหนี้หักดอกเบี้ยไว้ล่วงหน้า เช่น นาย ก กู้ยืมเงินนาย ข
20,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อเดือน กำหนดใช้หนี้ 1 ปี รวมดอกเบี้ย 12,000 บาท เจ้าหนี้หักดอกเบี้ยไปแล้ว มอบเงินกู้ให้ลูกหนี้ 8,000 บาท สัญญากู้สมบูรณ์เพียง 8,000 บาท เท่าที่ลูกหนี้ได้รับจริง
คราวต่อไปเราจะมาพูดถึงขั้นตอนที่สำคัญที่ลูกหนี้ควรที่จะต้องทราบไว้ เพราะเป็นขั้นตอนที่เกี่ยวกับการขึ้นศาล ซึ่งมีชื่อเรื่องว่า ทำอย่างไรเมื่อถูกฟ้องคดี อย่าลืมติดตามอ่านกันให้ได้นะครับ
จำนวนผู้เข้าชม = {hits}2225{/hits} ครั้ง