banner debttrain

ดอกเบี้ยไม่เป็นธรรม ต้นตอหนี้ไม่รู้จบ

 

 ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 บัญญัติว่าห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละสิบห้าต่อปี ถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น ก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละสิบห้าต่อปี
  

แล้วทำไมดอกเบี้ยที่ประชาชนถูกเรียกเก็บจากสถาบันการเงินต่าง ๆ จึงสูงกว่า…

อย่างบัตรเครดิตของธนาคารพาณิชย์มีการอนุญาตให้เรียกเก็บได้ที่ร้อยละ 18 ต่อปี สินเชื่อส่วนบุคคลมีการเรียกเก็บร้อยละ 20 ถึงร้อยละ 60 บางแห่งที่ปรากฏเป็นข่าวมีการเรียกเก็บสูงถึงร้อยละ 80 ก็มีคำตอบในเรื่องนี้มีอยู่ว่า

สำหรับในกลุ่มธนาคารพาณิชย์นั้นสามารถเรียกดอกเบี้ยสูงกว่าร้อยละ 15 ต่อปีได้เนื่องจาก มีการอ้างถึงความจำเป็นในสภาพเศรษฐกิจของประเทศที่เปลี่ยนไปและความอยู่รอดทางธุรกิจของสถาบันการเงินต่าง ๆ รัฐบาลจึงได้ออกกฎหมายที่ชื่อ “พ.ร.บ. ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2523” ขึ้นมา และมีการแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 (พ.ศ.2524) และฉบับที่ 3 (พ.ศ.2535) ซึ่งทั้งหมดมีจุดมุ่งหมายเพื่อยกเว้นการบังคับใช้ ประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์ มาตรา 654 และอนุญาตให้สถาบันการเงินเรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าร้อยละ 15 ต่อปีได้ โดยรัฐมนตรีกระทรวงการคลังเป็นผู้ประกาศอัตราดอกเบี้ยตามคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทย

สถาบันการเงินหมายถึงอะไร
(1) ธนาคารแห่งประเทศไทย
(2) ธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์
(3) บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิต ฟองซิเอร์ และ
(4) สถาบันการเงินอื่นที่รัฐมนตรีกำหนดโดยคำแนะนำของธนาคาร แห่งประเทศไทย โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ที่มา : จากคำนิยามของ พ.ร.บ.ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2523


แต่สำหรับธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลที่จัดตั้งขึ้นมาเป็นบริษัทต่าง ๆ นั้น ต้องขอตอบว่า ไม่สามารถเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปีได้ เพราะธุรกิจประเภทนี้ไม่จัดเป็นสถาบันการเงินตาม พ.ร.บ.ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2523 ดังนั้น จึงต้องไปยึดตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ให้เรียกเก็บดอกเบี้ยได้เพียงไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปีเท่านั้น การเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราจึงเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย มีโทษทางอาญา ฐานเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้ง ๆ ที่มีการกระทำผิดกฎหมายอย่างชัดเจน แต่การแก้ไขปัญหานี้ของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไม่มีการดำเนินการตามกฎหมายเหมือนดั่งเช่นที่ได้เอาจริงเอาจังกับบรรดาเจ้าหนี้นอกระบบที่เรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตรา นับเป็นการบังคับใช้กฎหมาย 2 มาตรฐานอย่างเห็นได้ชัด

สิ่งที่รัฐบาลทำคือการออกกฎหมายเพื่อรองรับธุรกิจสินเชื่อประเภทนี้โดยเฉพาะ โดยในช่วงเดือนมิถุนายน 2548 กระทรวงการคลังได้อาศัยอำนาจตามข้อ 5 แห่งประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ลงวันที่ 26 ม.ค.2515 ที่ว่าด้วยการควบคุมกิจการค้าขายอันกระทบถึงความปลอดภัยหรือผาสุกแห่งสาธารณชน ออกประกาศกำหนดให้ธุรกิจสินเชื่อที่มีลักษณะกิจการคล้ายธนาคาร(Nonbank) เหล่านี้ให้เป็นกิจการที่ต้องขออนุญาตและให้อยู่ภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย แต่ความผาสุกแห่งสาธารณชนก็ไม่ได้เกิดขึ้นตามเจตนาของกฎหมายดังกล่าว เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกประกาศตามมาเพื่อกำหนดอัตราดอกเบี้ยรวมกับค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมของสินเชื่อส่วนบุคคลไม่เกินร้อยละ 28 ต่อปี โดยแบ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ที่เหลืออีกร้อยละ 13 คือค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียม ให้มีผลบังคับใช้เมื่อ 1 ก.ค.2548

ปัญหาอยู่ตรงที่ว่าอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 28 นี้แม้จะต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่ประชาชนถูกเรียกเก็บอยู่จากบริษัทสินเชื่อบางแห่ง แต่ก็ยังสูงเกือบ 2 เท่าตัวของอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 15 และที่สำคัญไม่มีผู้มีอำนาจหน้าที่ใด ๆ พูดถึงการเรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยที่ผิดกฎหมายก่อนหน้านั้นแต่อย่างใด

และถึงแม้จะมีการประกาศอัตราดอกเบี้ยออกมาแล้วจากธนาคารแห่งประเทศไทย แต่กลับไม่ได้มีผลในทางปฏิบัติใด ๆ เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทยได้ขยายระยะเวลาการเรียกเก็บดอกเบี้ยที่ร้อยละ 28 ออกไป เนื่องจากบริษัทสินเชื่อต่าง ๆ อ้างว่ามีปัญหาทางด้านเอกสารและการตรวจสอบข้อมูลของลูกหนี้ไม่สามารถปรับลดดอกเบี้ยลงมาได้ ทำให้ประชาชนจำนวนมากยังคงถูกกอบโกยขูดรีดอย่างเป็นเอาตายเหมือนเดิม

จนเมื่อประมาณเดือนพฤศจิกายน 2548 ลูกหนี้กลุ่มหนึ่งได้เข้าไปแจ้งความร้องทุกข์กับกองปราบปราม สำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าถูกบริษัทสินเชื่อเรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยเกินกฎหมายกำหนด เป็นข่าวโด่งดัง โดยบางรายแจ้งว่าโดนอัตราดอกเบี้ยเรียกเก็บสูงถึงร้อยละ 50-60 ต่อปี ทำให้เงินค่างวดที่ส่งไปแทบไม่ทำให้เงินต้นลดลงเลย


รายชื่อธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลที่มิใช่สถาบันการเงิน
ภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย (Non Bank)

 

ลำดับ

รายชื่อ

1

บริษัท

พรอมิส (ประเทศไทย) จำกัด

2

บริษัท

อิออนธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน)

3

บริษัท

เอซีเอส (ประเทศไทย) จำกัด

4

บริษัท

เอไอจีคาร์ด (ประเทศไทย) จำกัด

5

บริษัท

บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน)

6

บริษัท

ซิตี้คอร์ปลิสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด

7

บริษัท

อีซี่บาย จำกัด (มหาชน)

8

บริษัท

สยามเจเนอรัลแฟคตอริ่งจำกัด (มหาชน)

9

บริษัท

แคปปิตอลโอเคจำกัด

10

บริษัท

โตโยต้าลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด

11

บริษัท

เซทเทเลม (ประเทศไทย) จำกัด

12

บริษัท

วีแคช เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด

13

บริษัท

เอเซียเสริมกิจลีสซิ่งจำกัด (มหาชน)

14

บริษัท

ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน)

15

บริษัท

ไทยเอ็กซ์คลูซีฟลิสซิ่งจำกัด

16

บริษัท

สยามพาณิชย์ลีสซิ่งจำกัด (มหาชน)

17

บริษัท

วัฒนาธนสินทรัพย์ จำกัด

18

บริษัท

จีอีแคปปิตอล (ประเทศไทย) จำกัด

19

บริษัท

จีอีแคปปิตอลออโต้ ลีส จำกัด (มหาชน)

20

บริษัท

บัตรกรุงศรีอยุธยาจำกัด

21

บริษัท

เจเนอรัลคาร์ด เซอร์วิสเซส จำกัด

22

บริษัท

เทสโก้ คาร์ด เซอร์วิสเซส จำกัด

23

บริษัท

ศักดิ์สยามพาณิชย์ลิสซิ่งจำกัด

24

บริษัท

นครหลวงสุราษฎร์ลิสซิ่งจำกัด

25

บริษัท

ไซเบอร์เนตติคส์ จำกัด

26

บริษัท

สินมิตรจำกัด

27

บริษัท

นวลิสซิ่งจำกัด (มหาชน)

28

บริษัท

มีนามาร์เก็ตติ้งจำกัด (ยื่นคำขออนุญาตแล้วขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงการคลัง)


คิดดอกเบี้ยพ่วงค่าธรรมเนียม ทำได้หรือไม่
ในเดือนธันวาคม 2548 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และกลุ่มประชาชนผู้เสียหายได้ท้วงติงไปยังธนาคารแห่งประเทศไทยว่า การกำหนดอัตราดอกเบี้ยบวก ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ให้สูงกว่าร้อยละ 15 ต่อปีนั้นไม่สามารถทำได้

แม้ธนาคารแห่งประเทศไทยจะอ้างถึงประกาศกระทรวงการคลังที่ไปอ้างถึงประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 ในการออกประกาศให้ธุรกิจสินเชื่อที่ไม่ใช่ธนาคารอยู่ในการควบคุมและกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 28 ต่อปีนี้ออกมา แต่ประชาชนก็ไม่ได้รับความผาสุกจากประกาศเหล่านี้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย เนื่องจากใช้กลวิธีแยกค่าธรรมเนียมออกจากอัตราดอกเบี้ยจนทำให้ผู้ประกอบการเรียกเก็บดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่าร้อยละ 15 เกือบเท่าตัว

อย่างไรก็ตาม มีกรณีศึกษาจากคำพิพากษาของศาลที่น่าสนใจในเรื่องความหมายของดอกเบี้ยกับค่าธรรมเนียม ที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งคนเป็นหนี้ คนเป็นเจ้าหนี้ รวมไปถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลายไม่อาจมองข้ามได้

เมื่อปี 2547 ได้มีคำพิพากษาของศาลแขวงแห่งหนึ่งที่มีการพิจารณาถึงความหมายของดอกเบี้ยและมีการพิจารณาพิพากษาให้การเก็บดอกเบี้ยบวกกับค่าธรรมเนียมจนเกินกว่าร้อยละ 15 ให้ถือเป็นโมฆะ โดยศาลเห็นว่าตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ให้ความหมายของคำว่า “ดอกเบี้ย” ว่า เป็นค่าตอบแทนที่บุคคลหนึ่งต้องใช้ให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เพื่อการที่ได้ใช้เงินของบุคคลนั้น หรือเพื่อทดแทนการไม่ชำระหนี้ หรือชำระหนี้ไม่ถูกต้อง

ในคำพิพากษาได้ระบุรายละเอียดไว้ว่า เมื่อจำเลยกู้เงินโจทก์แล้วโจทก์คิดค่าธรรมเนียมจัดการเงินกู้ในอัตราร้อยละ 5 ของวงเงินกู้ และยังคิดค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินในอัตราร้อยละ 1.9 ต่อเดือน ค่าธรรมเนียมทั้งสองดังกล่าวจึงเป็นค่าตอบแทนมีลักษณะทำนองเดียวกับดอกเบี้ย และเมื่อรวมกับดอกเบี้ยที่โจทก์คิดในอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ของยอดเงินกู้ คิดเฉพาะเดือนแรก จะมีอัตราเกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ซึ่งเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติ ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 ดังนั้น ค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยดังกล่าวจึงเป็นโมฆะทั้งหมด โจทก์มีสิทธิเรียกได้เฉพาะต้นเงินคืนจากจำเลยเท่านั้น แต่เนื่องจากหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้เงิน เมื่อจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยระหว่างเวลาผิดนัดได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี

คดีที่นอนแบงก์ฟ้องลูกหนี้เข้ามาศาลพบว่านอกจากโจทก์คิดดอกเบี้ยกับลูกหนี้แล้วยังมีการคิดค่าธรรมเนียมการจัดการเงินกู้เป็นรายเดือน ทำให้แต่ละเดือนลูกหนี้เสียดอกเบี้ยเกิน 28% ศาลเห็นว่าค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินดังกล่าวโจทก์คิดคำนวณจากต้นเงินในอัตราคงที่ทุกเดือนตามระยะเวลาที่กู้ยืม ย่อมถือเป็นดอกผลของต้นเงินกู้จึงมีลักษณะเป็นดอกเบี้ยที่นอนแบงก์เรียกชื่อเป็นอย่างอื่น ฉะนั้นคดีไหนที่โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ไม่เกินที่กฎหมายกำหนด คิดดอกเบี้ยบวกค่าธรรมเนียมเข้าไปจนสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ศาลจะตัดสินให้ได้รับชำระหนี้เฉพาะต้นเงินกับดอกเบี้ยผิดนัด 7.5% เท่านั้น ส่วนดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมที่เรียกมาศาลไม่ให้เพราะไม่ถูกต้องตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ขัดต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราจึงตกเป็นโมฆะไม่มีผลบังคับได้ตั้งแต่แรก

กรณีศึกษา
กรณีศึกษา ความหมายของดอกเบี้ย และดอกเบี้ยเป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลแขวงปทุมวัน
คดีหมายเลขดำที่ ม.๓๓๕๗/๒๕๔๖ คดีหมายเลขแดงที่ ม.๒๓๕๓/๒๕๔๗
วันที่ ๒๓ เดือน สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๔๗

บริษัท จ.จำกัด โจทก์ นาย พ. จำเลย
แพ่ง ยืม (สินเชื่อเพื่อคนรุ่นใหม่)

     โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้เงินกู้ซึ่งโจทก์ใช้ชื่อว่า “สินเชื่อเพื่อคนรุ่นใหม่” จำนวน ๓๗,๙๙๓.๕๔ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงินจำนวน ๒๙,๑๔๗.๒๗ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
     จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
     โจทก์แถลงขอส่งพยานเอกสารแทนการสืบพยาน เห็นว่า คดีนี้โจทก์มีคำขอบังคับให้จำเลยชำระหนี้เป็นเงินจำนวนแน่นอน อีกทั้งจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ จึงอนุญาตให้โจทก์ส่งพยานเอกสารแทนการสืบพยานได้
     โจทก์อ้างส่งเอกสารรวม ๑๒ ฉบับ ศาลหมาย จ.๑ ถึง จ.๑๒ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๔๔ จำเลยตกลงทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์ ซึ่งโจทก์ใช้ชื่อว่า “สินเชื่อเพื่อคนรุ่นใหม่” โดยตกลงว่าจะปฏิบัติและยินยอมตามข้อกำหนดและเงื่อนไขสัญญาให้สินเชื่อทุกประการ โจทก์อนุมัติเงินกู้แก่จำเลยเป็นเงินจำนวน ๕๐,๐๐๐ บาท ในการรับเงินดังกล่าว
     
      โจทก์นำเงินเข้าบัญชีธนาคารของจำเลยเป็นเงินจำนวน ๔๒,๕๐๐ บาท และถือว่าจำเลยได้รับเงินกู้นับตั้งแต่วันที่โจทก์นำเงินเข้าบัญชีดังกล่าว จำเลยตกลงชำระดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
๑. ค่าธรรมเนียมจัดการเงินกู้ ร้อยละ ๕ ของวงเงินกู้ ทั้งนี้ไม่น้อยกว่า ๕๐๐ บาท โดยโจทก์จะหักค่าธรรมเนียมสี่วนนี้จากต้นเงินกู้ที่จะจ่ายให้แก่จำเลย
๒. ค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินร้อยละ ๑.๙ ต่อเดือน
๓. ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๒ ต่อปี ของยอดเงินกู้ คิดเฉพาะเดือนแรก
๔. ค่าปรับชำระหนี้ล่าช้าจำนวน ๑๕๐ บาท ต่องวดต่อเดือน
๕. ค่าปรับเช็คคืนจำนวน ๒๐๐ บาท ในกรณีที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค
๖. ค่าปรับหักบัญชีไม่ผ่านจำนวน ๑๐๐ บาท ในกรณีที่ผู้กู้แจ้งความประสงค์ให้หักเงินบัญชีธนาคาร
     
      จำเลยตกลงชำระคืนต้นเงินดอกเบี้ยค่าธรรมเนียมการใช้วงเงิน และค่าใช้จ่ายต่างๆให้แก่โจทก์ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๖๗,๕๑๐.๙๖ บาท โดยผ่อนชำระเป็นงวดรายเดือน งวดละ ๓,๗๕๐.๖๑ บาท รวม ๑๘ งวด ภายหลังที่กู้ยืม จำเลยไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องตามสัญญา โดยจำเลยชำระหนี้แก่โจทก์เพียง ๙ งวด เป็นเงินจำนวน ๓๓,๙๓๔.๘๙ บาท โจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยเป็นหนี้อีกต่อไป จึงมีหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้ จำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวแล้วแต่ยังคงเพิกเฉย ซึ่งยอดหนี้ค้างชำระ ณ วันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๔๖ จำเลยเป็นหนี้ต้นเงินจำนวน ๒๙,๑๔๗.๒๗ บาท ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมจำนวน ๔,๔๒๘.๘๐ บาท ค่าปรับจำนวน ๔๑๖.๗๑ บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๓๓,๙๙๒.๗๘ บาท

     พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์แล้วผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามสัญญา โจทก์มีหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้โดยชอบแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย จำเลยจึงต้องรับผิดชำระต้นเงินค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยตามสัญญาแก่โจทก์ คงมีปัญหาว่า โจทก์มีสิทธิคิดค่าธรรมเนียม และดอกเบี้ยกับจำเลยได้เพียงใด

เห็นว่า ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ให้ความหมายของคำว่า “ดอกเบี้ย” ว่าเป็นค่าตอบแทนที่บุคคลหนึ่งต้องใช้ให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เพื่อการที่ได้ใช้เงินของบุคคลนั้น หรือเพื่อทดแทนการไม่ชำระหนี้ หรือชำระหนี้ไม่ถูกต้อง ดังนี้

เมื่อจำเลยกู้เงินโจทก์แล้วโจทก์คิดค่าธรรมเนียมจัดการเงินกู้ในอัตราร้อยละ ๕ ของวงเงินกู้ และยังคิดค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินในอัตราร้อยละ ๑.๙ ต่อเดือน ค่าธรรมเนียมทั้งสองดังกล่าวจึงเป็นค่าตอบแทนมีลักษณะทำนองเดียวกับดอกเบี้ย และเมื่อรวมกับดอกเบี้ยที่โจทก์คิดในอัตราร้อยละ ๑๒ ต่อปี ของยอดเงินกู้ คิดเฉพาะเดือนแรก จะมีอัตราเกินกว่าอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ซึ่งเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติ ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. ๒๔๗๕

ดังนั้น ค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยดังกล่าวจึงเป็นโมฆะทั้งหมด โจทก์มีสิทธิเรียกได้เฉพาะต้นเงินคืนจากจำเลยเท่านั้น แต่เนื่องจากหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้เงิน เมื่อจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยระหว่างเวลาผิดนัดได้ในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๒๔ วรรคหนึ่ง และตามสำเนาใบแจ้งยอดบัญชี เอกสารหมาย จ.๘ ระบุให้จำเลยชำระหนี้งวดแรกภายในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๔ และจำเลยได้ชำระหนี้รวม ๙ งวด

จึงถือว่า จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ในวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๔๕ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์นำเงินเข้าบัญชีธนาคารของจำเลย เป็นเงินจำนวน ๔๒,๕๐๐ บาท และจำเลยได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์เป็นเงินจำนวน ๓๓,๙๓๔.๘๙ บาท จำเลยคงค้างต้นเงินโจทก์จำนวน ๘,๕๖๕.๑๑ บาท

พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน ๘,๕๖๕.๑๑ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับตั้งแต่วันที่ ๖ กันยายน ๒๕๔๕ เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ ๖๐๐ บาท


โดนดอกเบี้ยโหดควรทำอย่างไร
1. ตรวจสอบดูก่อนว่าคุณถูกเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 หรือไม่
วิธีคิดง่าย ๆ ตัวอย่าง เช่น คุณไปกู้สินเชื่อเงินสดจากบริษัทธุรกิจสินเชื่อแห่งหนึ่ง โดยมีการเก็บดอกเบี้ยในอัตรา 0.35% ต่อเดือน บวกกับอัตราค่าธรรมเนียมอีก 2.5% ต่อเดือน
ให้คุณเอาทั้ง 2 อัตรานี้มาบวกรวมกันก็จะได้เป็น 2.85% ต่อเดือน ขั้นต่อมาให้คุณเอา 12 (เดือน) คูณเข้าไปคุณจะได้อัตราดอกเบี้ยต่อปีออกมา ในตัวอย่างนี้คุณถูกเรียกเก็บดอกเบี้ย 2.85 X 12 = 34.20% ต่อปี ซึ่งเกินกฎหมายกำหนดที่ 15% ต่อปี

2.ในกรณีที่ผ่อนจ่ายเงินค่างวดจนท่วมเงินต้นที่คุณได้รับจริงในวันทำสัญญากู้เงิน
2.1 ให้คุณหยุดชำระหนี้ที่เหลือทั้งหมด
2.2 ให้ทำหนังสือแจ้งบริษัท ฯ บอกเลิกสัญญา เพราะบริษัทคิดอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด

ตัวอย่าง
สัญญากู้ 20,000 บาท รับเงินจริง 19,000 บาท ผ่อนงวดละ 1,000 บาท ผ่อนชำระมาแล้ว 21 งวด เป็นเงิน 21,000 บาท แม้ในเอกสารของบริษัทจะระบุว่า ท่านยังเป็นหนี้อยู่ 14,000 บาท เพราะ ถูกหักเป็นดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินที่สูงมาก ตามกฎหมาย ถือว่า เป็นหนี้กันเท่าที่รับเงินจริง คือ 19,000 บาท ส่วนดอกเบี้ยที่เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ถือเป็นโมฆะ เงินที่ส่งไปจึงถือเป็นการชำระต้นเงินทั้งหมด


3.ในกรณีที่ผ่อนจ่ายเงินหลายงวด แต่ยังไม่ครบเงินต้นที่รับมาจริง
3.1 ให้ชำระไปจนครบเงินต้น
3.2 ทำหนังสือแจ้งบริษัท ฯ บอกเลิกสัญญา เพราะบริษัทคิดอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด

ตัวอย่าง
สัญญากู้ 20,000 บาท รับเงินจริง 19,000 บาท ผ่อนงวดละ 1,000 บาท ผ่อนชำระมาแล้ว 15 งวด เป็นเงิน 15,000 บาท แม้ในเอกสารของบริษัทจะระบุว่า ท่านยังเป็นหนี้อยู่ 17,000 บาท แต่ตามกฎหมายถือว่าเป็นหนี้ 19,000 บาท ท่านผ่อนชำระไปแล้ว 15 งวด เป็นเงิน 15,000 บาท ซึ่งดอกเบี้ยที่เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ถือเป็นโมฆะ ดังนั้น เงินที่ส่งไปจึงถือเป็นการชำระต้นเงินทั้งหมด จึงเหลือหนี้ที่ต้องชำระอีก 19,000 -15,000 เท่ากับ 4,000 บาท ผ่อนชำระต่อไปอีก 4 งวดแล้วให้หยุดชำระพร้อมทำจดหมายแจ้ง


4.การแจ้งความดำเนินคดี
คุณสามารถแจ้งความดำเนินคดีอาญา บริษัทธุรกิจสินเชื่อต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในความผิดฐาน เรียกเก็บดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดได้

เพื่อความสะดวก ท่านสามารถแจ้งความดำเนินคดีได้ที่ กองปราบปราม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ถ.พหลโยธิน ติดกับแดนเนรมิต) เนื่องจากมีสำนวนแจ้งความของผู้เสียหายอื่นอยู่แล้ว

5. เตรียมตัวรับกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น
ในปัจจุบันมีข้อมูลที่บ่งชี้ได้มากว่า ทางบริษัทธุรกิจสินเชื่อจะใช้วิธีการตามทวงหนี้มากกว่าการฟ้องศาล เพราะศาลอาจยึดตามแนวคำพิพากษาที่ชี้ว่าดอกเบี้ยรวมกับค่าธรรมเนียมแล้วเกินกฎหมายหมายกำหนดที่ร้อยละ 15 ต่อปีเป็นโมฆะ ลูกหนี้ไม่ต้องชำระ เมื่อคุณได้ทำตามข้อ 1-4 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หากมีการทวงหนี้คุณไม่ต้องกังวลอะไรทั้งสิ้น รอจนกว่าเจ้าหนี้เขาจะตัดสินใจฟ้องคุณ หากเจ้าหนี้ไม่ฟ้องศาล แต่มีการทวงหนี้และมีการละเมิดสิทธิของคุณอย่างใดอย่างหนึ่ง คุณสามารถแจ้งความดำเนินคดีได้ หากมีการฟ้องศาลและมีหมายศาลมาถึงก็ไม่ต้องหลบหนีนำเอกสารที่คุณได้ทำไปถึงบริษัทนำไปชี้แจงต่อศาลเพื่อยืนยันเจตนาบริสุทธิ์และขอรับการพิจารณาในอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม

พิมพ์ อีเมล