ขอให้รัฐบาลยกเลิกแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าพีดีพี 2007และคัดค้านการขึ้นค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติ - p2

สารบัญ

 ข้อเรียกร้องให้ยกเลิกแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า(PDP 2007 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2)

 

ตามที่กระทรวงพลังงาน  โดยที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)  ซึ่งมีนายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ  นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน  ได้มีมติเห็นชอบแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2551-2564(PDP 2007ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2) เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2552 นั้น  

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  เครือข่ายผู้บริโภค  เครือข่ายพลังงานและประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ที่ถูกบรรจุอยู่ในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าฯ  ไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าดังกล่าว  และมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล , ประธานกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ , ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน โดยผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ดังต่อไปนี้

1. ยกเลิกแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2551-2564(PDP 2007 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2)  เนื่องจากทำให้มีกำลังผลิตไฟฟ้าล้นเกินความต้องการอย่างมหาศาล  ทั้งที่ปัจจุบันโรงไฟฟ้าเท่าที่มีอยู่สามารถผลิตไฟฟ้าได้มากถึง 29,891 เมกะวัตต์ ในขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดเมื่อปี 2551 อยู่ที่ 22,568 เมกะวัตต์ ทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าที่มีอยู่เกินความต้องการถึง 7,323 เมกะวัตต์ และปริมาณการใช้ไฟฟ้าไม่ได้มีแนวโน้มสูงขึ้นตามการคาดการณ์แต่กลับมีแนวโน้มลดลงเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ การสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ที่จะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้ามากถึง 51,792 เมกะวัตต์ และใช้เงินลงทุนสูงถึง 1.6 ล้านล้านบาท  ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างต่อเนื่องเช่นนี้จึงเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม เพราะภาระที่เกิดขึ้นจากการสร้างโรงไฟฟ้า จากสัญญาการรับซื้อไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ ในลักษณะที่ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย เงินจำนวนนี้สุดท้ายจะถูกผลักภาระมาเป็นค่าไฟฟ้าของประชาชนโดยไม่มีผู้รับผิดชอบ

 

2. ให้ยุติสัญญาที่ทำไว้กับโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ทั้งหมด การที่ กพช.ระบุว่าไม่สามารถปรับลดหรือเลื่อนโครงการโรงไฟฟ้าที่ได้ให้ความเห็นชอบไปแล้วจำนวน 4 โครงการ  ในจำนวนนี้เซ็นสัญญาก่อสร้างไปแล้ว 3 โครงการเมื่อปี พ.ศ. 2551 และนำมาบรรจุลงในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าฯ และไปปลดโรงไฟฟ้าที่ยังใช้งานได้อยู่ออกจากระบบ ถือเป็นการผลักภาระมาให้ประชาชนต้องรับผิดชอบกับโรงไฟฟ้าที่ไม่มีความจำเป็น  อีกทั้งโรงไฟฟ้าจำนวน 2 แห่งคือโรงไฟฟ้าของบริษัท สยามเอเนอร์ยี่ จำกัด ตั้งอยู่ที่ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา และโรงไฟฟ้าของบริษัท พาวเวอร์ เจนเนอ-เรชั่น ซัพพลายตั้งอยู่ที่ อ.หนองแซง จ.สระบุรี  ยังมีการลัดขั้นตอนการทำงาน  กล่าวคือมีการอนุมัติการก่อสร้างโดยยังไม่ผ่านรายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม(EIA)  

 

3. ยกเลิกการอนุมัติให้ปรับอัตราค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติของ บมจ.ปตท. ซึ่งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)ได้มีมติเห็นชอบให้ปรับขึ้น  2.02 บาทต่อล้านบีทียู เป็น 21.76 บาทต่อล้านบีทียู  เนื่องจากไม่ได้ตั้งอยู่บนต้นทุนที่แท้จริง  โดย ปตท.คำนวณต้นทุนท่อก๊าซธรรมชาติเพื่อใช้เป็นฐานในการคำนวณค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติสูงถึง 90,000 ล้านบาท แม้ กกพ. จะได้ปรับลดต้นทุนในส่วนนี้เหลือประมาณ 60,000 ล้านบาท แต่ก็มีคำถามว่าต้นทุนดังกล่าวเป็นต้นทุนในการดำเนินการที่แท้จริงของ ปตท. หรือไม่เนื่องจากศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งว่าท่อก๊าซธรรมชาติและทรัพย์สินซึ่งได้มาโดยการใช้อำนาจมหาชนและใช้เงินลงทุนของรัฐนั้นต้องกลับคืนเป็นของรัฐทั้งหมด เพราะถือเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน หน้าที่ของ ปตท. คือการจ่ายค่าเช่าและส่งคืนท่อก๊าซทั้งหมดให้รัฐ มิใช่มาขอปรับค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติเอามาเป็นผลกำไรของตน

 

4. ให้ปฏิรูปการวางแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยใหม่ตามหลักธรรมาภิบาล  โดยต้องเปิดให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนอย่างเป็นระบบ  เนื่องจากที่ผ่านมามีเพียงกระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่ไม่โปรงใสและประชาชนไม่มีส่วนร่วม  ทำให้เกิดการวางแผนและการดำเนินงานที่ฉ้อฉล  ไม่สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของประเทศ  ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆตามมามากมาย เช่น กรณีกองทุนพัฒนาพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า  ซึ่งเก็บมาจากค่าไฟฟ้าของประชาชน  มีวัตถุประสงค์เพื่อเยียวยาชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างโรงไฟฟ้า  แต่กลับถูกโรงไฟฟ้านำมาใช้โฆษณาสร้างภาพ  จัดการกับผู้คัดค้านโรงไฟฟ้า  ทำให้เกิดความแตกแยกขึ้นในพื้นที่

{mxc}

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน