รายงานข่าวจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แจ้งว่า หลังจากสตง.ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรี ให้เข้ามาตรวจสอบรับรองความถูกต้องมูลค่าทรัพย์สินที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แบ่งแยกให้กระทรวงคลังตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ทางสตง. ได้สรุปผลการตรวจสอบพร้อมกับทำหนังสือ ประทับตรา ลับ ลงนามโดยคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการ สตง. ส่งไปยังทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว คือ
คณะรัฐมนตรีผ่านทางเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เลขาธิการศาลปกครอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งปัจจุบันคือนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ และประธานกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปัจจุบันคือ นายณอคุณ สิทธิพงศ์ รองปลัดกระทรวงพลังงาน) โดยหนังสือดังกล่าวส่งไปตั้งแต่วันที่ 26 ธ.ค.2551
ตามหนังสือ ที่ สตง. ส่งไปยังเลขาธิการศาลปกครอง ระบุว่า สตง.ได้ตรวจสอบมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของ ปตท. ณ วันที่ 30 ก.ย. 2544 ที่แบ่งแยกให้กระทรวงการคลังตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด พร้อมรายละเอียดเสร็จแล้ว โดยสตง.เห็นว่า มูลค่าทรัพย์สินที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แบ่งแยกและส่งมอบให้กระทรวงการคลัง ยังไม่ครบถ้วนตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด แต่บริษัทได้แบ่งแยกและส่งมองทรัพย์สินให้กระทรวงการคลังตามหลักการแบ่งแยกตามที่คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2550 แล้ว
สำหรับหนังสือที่ สตง. แจ้งผลการตรวจสอบทรัพย์สินไปยัง ปตท.นั้น สตง.ได้ระบุ ให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ดำเนินการตามข้อเสนอแนะในข้อสังเกตประกอบการตรวจสอบมูลค่าทรัพย์สินที่แบ่งแยกให้กระทรวงการคลังตามคำพิพากษาของศาลฯ และ สตง. ขอให้ ปตท. แจ้งผลการดำเนินการตามข้อเสนอแนะกลับมายัง สตง. ด้วย ซึ่งจนถึงบัดนี้เวลาล่วงเลยมากว่า 2 เดือนแล้ว แต่ไม่ปรากฏความคืบหน้าว่า ปตท.ได้มีการดำเนินการใดๆ ตามที่ สตง. เสนอแนะ เช่นเดียวกับหน่วยงานอื่นๆ ที่รับทราบผลการตรวจสอบแล้วแต่ไม่ได้ดำเนินการใดๆ ต่อเช่นกัน โดยเฉพาะกระทรวงการคลัง ในฐานะหน่วยงานที่ต้องดูแลรักษาทรัพย์สมบัติของแผ่นดิน
รายงานข่าวแจ้งว่า รายการทรัพย์สินที่ ปตท. ยังส่งมอบคืนไม่ครบถ้วน ตามรายงานตรวจสอบของ สตง. คือ ส่วนที่เป็นระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกที่อยู่บนที่ดินเวนคืนและที่ดินรอนสิทธิจากเอกชนที่บริษัทแบ่งแยกให้กระทรวงการคลัง จำนวน 15,050.69 ล้านบาท ซึ่ง สตง. ได้ตรวจสอบพบว่า ทรัพย์สินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศ เฉพาะระบบท่อส่งก๊าซฯ มีมูลค่าทางบัญชี ณ วันที่ 30 ก.ย. 2544 จำนวน 47,664.14 ล้านบาท
ในจำนวนนี้เป็นระบบท่อส่งก๊าซฯ ที่ปรากฏชื่อโครงการในคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด จำนวน 36,642.76 ล้านบาท ซึ่งบริษัทได้แบ่งแยกและส่งมอบให้กระทรวงการคลัง จำนวน 14,808.62 ล้านบาท คงเหลือส่วนที่บริษัทยังไม่ได้แบ่งแยกให้กระทรวงการคลัง จำนวน 21,834.14 ล้านบาท
และส่วนที่เป็นระบบท่อส่งก๊าซฯ ที่ไม่ปรากฏชื่อโครงการในคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่น่าเชื่อว่าเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตามมาตรา 1304 (3) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อีกจำนวน 11,021.38 ล้านบาท ซึ่งบริษัทแบ่งแยกและส่งมอบให้กระทรวงการคลัง จำนวน 242.07 ล้านบาท คงเหลือส่วนที่บริษัทยังไม่ได้แบ่งแยกให้กระทรวงการคลัง จำนวน 10,779.31 ล้านบาท รวมระบบท่อก๊าซฯที่บริษัทยังไม่ได้แบ่งแยกให้กระทรวงการคลัง จำนวนทั้งสิ้น 32,613.45 ล้านบาท ประกอบด้วย ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก จำนวน 14,393.16 ล้านบาท และในทะเล จำนวน 18,220.29 ล้านบาท
"เนื่องจากผลการตรวจสอบเรื่องระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่บริษัทแบ่งแยกและส่งมอบให้กระทรวงการคลังข้างต้นมีสาระสำคัญอย่างมาก ดังนั้นสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เห็นว่ามูลค่าทรัพย์สินตามที่บริษัทแบ่งแยกและส่งมอบให้กระทรวงการคลังดังกล่าวยังไม่ครบถ้วนตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ... " รายงานผลสอบของ สตง. ระบุ
ทั้งนี้ ตามบันทึกการแบ่งแยกทรัพย์สินและการส่งมอบทรัพย์สินที่แบ่งแยกให้กระทรวงการคลัง ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ลงวันที่ 24 เม.ย. 2551 ผู้ลงนามในบันทึก คือ นายอำนวน ปรีมนวงศ์ รองอธิบดีกรมธนารักษ์ ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมธนารักษ์ และนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ พร้อมด้วยนายนิพิฐ อริยวงศ์ เจ้าหน้าที่บริหารงานที่ราชพัสดุ 9 ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย กรมธนารักษ์ และนายสุพจน์ เหล่าสุอาภา ผู้จัดการสำนักกฎหมาย บมจ.ปตท. เป็นพยาน นั้น มีรายละเอียดการตกลงส่งมอบและกรมธนารักษ์ ตกลงรับมอบทรัพย์สิน ดังนี้
1) ที่ดินที่ได้มาจากการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งการปิโตรเลียมฯ ได้ใช้เงินทุนจากรัฐ และใช้อำนาจมหาชนเวนคืนที่ดิน เนื้อที่รวม 32 ไร่ 0 งาน 74.1 ตร.ว. จำนวน 106 แปลง ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดสมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ซึ่งมีมูลค่าสุทธิทางบัญชี ณ วันที่ 30 ก.ย. 2544 รวมประมาณ 1 ล้านบาท
2)สิทธิการใช้ที่ดินเหนือที่ดินเอกชนเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ ซึ่งการปิโตรเลียมฯ ใช้อำนาจมหาชนของรัฐเหนือที่ดินเอกชน อันเป็นการกระทำในฐานะที่เป็นองค์กรของรัฐบังคับแก่ทรัพย์สินของเอกชน และจ่ายค่าทดแทนโดยอาศัยทรัพย์สินของรัฐ ซึ่งมีมูลค่าสุทธิทางบัญชี ณ วันที่ 30 ก.ย. 2544 รวมประมาณ 1,137 ล้านบาท
3)ทรัพย์สินที่เป็นระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ซึ่งรวมอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องที่อยู่ในที่ดินตามข้อแรกและข้อสอง ซึ่งมีมูลค่าสุทธิทางบัญชี ณ วันที่ 30 ก.ย. 2544 รวมประมาณ 14,808 ล้านบาท
และ 4) ทรัพย์สินที่เป็นระบบท่อจำนวนก๊าซธรรมชาติ (โครงการท่อย่อย) ที่อยู่ในที่ดินตามข้อสอง ซึ่งมีมูลค่าสุทธิทางบัญชี ณ วันที่ 30 ก.ย. 2544 รวมประมาณ 229 ล้านบาท
รวมมูลค่าทรัพย์สินที่ปตท.แบ่งแยกคืนกระทรวงคลัง รวม 16,176.19 ล้านบาท เท่านั้น
อนึ่ง สตง.ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2550 ให้เข้ามาเป็นผู้ตรวจสอบและรับรองมูลค่าทรัพย์สินที่แบ่งแยกให้กระทรวงการคลังดังกล่าวว่าเป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ตามคดีหมายเลขดำที่ ฟ.47/2549 และคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.35/2550 เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2550 หรือไม่ ซึ่งการตรวจสอบของสตง.ใช้วิธีการตรวจสอบตามมาตรฐานการสอบบัญชี รวมทั้งใช้วิธีทดสองหลักฐานประกอบรายการ ทั้งที่เป็นจำนวนเงินและการเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมซึ่งผู้บริหารของบริษัท ปตท. เป็นผู้จัดทำขึ้น
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิผู้บริโภค ในฐานะผู้ฟ้องคดี เปิดเผยว่า มูลนิธิฯ ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลปกครองสูงสุดไต่สวนเกี่ยวกับทรัพย์สินที่บริษัท ปตท. ต้องคืนกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 52 ที่ผ่านมา แต่ศาลปกครองสูงสุด ได้ยกคำร้องด้วยเหตุผลว่าไม่ใช่ผู้เสียหาย ซึ่งกรณีนี้ทางกระทรวงการคลัง ต้องทำหน้าที่ของตนเองในการติดตามทรัพย์สินจาก ปตท.คืนมาให้ครบถ้วนตามคำสั่งศาล ตามผลการตรวจสอบของ สตง.
โดย ASTVผู้จัดการรายวัน 11 มีนาคม 2552 01:03 น.