แผนผลิตไฟฟ้าพีดีพีผ่านฉลุย

ผ่านแผนผลิตไฟฟ้าพีดีพี 2009 หั่นงบลงทุน ร่นเวลาตามคาด เลี่ยงประชาพิจารณ์

นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบกับแผนผลิตกำลังไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2551-2564 หรือแผนพีดีพี 2009 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 ให้ดำเนินตามแผนเฉพาะในปี 2552-2558 โดยไม่ต้องทำประชาพิจารณ์รอบ 2

การปรับแผนครั้งนี้ จะทำให้ภาพรวมกำลังผลิตไฟฟ้าลดลง ทำให้การลงทุนลดลงเช่นกัน จากเดิม 2.1 ล้านล้านบาท เหลือ 1.6 ล้านล้านบาท

นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล

สำหรับแผนระยะยาวปี 2559-2564 ให้พิจารณาทบทวนการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศในครั้งต่อไป เมื่อประมาณการเศรษฐกิจรอบใหม่แล้วเสร็จ

ด้านนายพรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานจะร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่ง ชาติ (สศช.) ประมาณการเศรษฐกิจใหม่ โดยจ้างบริษัทที่ปรึกษามาประเมินใช้เวลา 8 เดือน ควบคู่กับการทำประชาพิจารณ์ คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวตั้งแต่ 0 ถึงติดลบ 1%

สาระสำคัญของแผนพีดีพี 2009 ปรับปรุงครั้งที่ 2 ได้กำหนดการรับชื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) เฉพาะประเภท Firm ให้เร็วขึ้นในปี 2557

ปรับลดการชื้อจากประเทศเพื่อนบ้าน และชื้อไฟฟ้าจากผู้ประกอบการภายในประเทศแทน ปรับเลื่อนการรับชื้อไฟฟ้า โรงไฟฟ้าของเอกชนรายใหญ่ (IPP) ที่ผ่านคัดเลือกแล้วออกไปอีก 1 ปี

กำหนดให้รับชื้อไฟฟ้าจากโรงงานไฟฟ้าใหม่ที่ อ.ขนอม ในปี 2559 ปรับเลื่อนโครงการโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการของกฟผ. และปรับลดกำลังผลิตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในปี 2563-2564 ให้เหลือปีละ 1,000 เมกะวัตต์ จากเดิมปีละ 2,000 เมกะวัตต์ เป็นต้น

ทั้งนี้ วาระพลังงานหมุนเวียนที่เกี่ยวกับระเบียบการรับชื้อไฟฟ้า จากผู้ผลิตรายเล็ก และผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ได้ปรับ ในส่วนกำหนดระยะเวลารับซื้อไฟฟ้า และปริมาณไฟฟ้าที่รับชื้อ จากเอกชน รวมถึงอัตราส่วนเพิ่มราคารับชื้อไฟฟ้าในบางประเภท เชื้อเพลิง

อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงอัตราส่วนเพิ่มราคารับชื้อไฟฟ้าให้ปรับส่วนเพิ่มสำหรับเชื้อ เพลิงบางประเภท ได้แก่ ชีวมวลที่กำลังผลิตติดตั้งน้อยกว่า 1 เมกะวัตต์ ปรับขึ้นจาก 30 สตางค์ เป็น 50 สตางค์ต่อหน่วย

ก๊าชชีวภาพน้อยกว่า 1 เมกะวัตต์ ก็ปรับขึ้นในอัตราเดียวกัน ขยะปรับขึ้นจาก 2.50 บาท เป็น 3.50 บาทต่อหน่วย พลังงานลมน้อยกว่า 50 เมกะวัตต์ ปรับขึ้นจาก 3.50 บาท เป็น 4.50 บาทต่อหน่วย และพลังน้ำ 50-200 เมกะวัตต์ ขึ้นจาก 40 สตางค์ เป็น 80 สตางค์ต่อหน่วย

พลังน้ำขนาดเล็กน้อยกว่า 50 เมกะวัตต์ ปรับขึ้นจาก 80 สตางค์ เป็น 1.50 บาทต่อหน่วย และพลังงานแสงอาทิตย์ 80 สตางค์ต่อหน่วย ตามเดิม

นอกจากนั้น ยังให้ส่วนเพิ่มพิเศษอีก 1 บาท สำหรับพลังงานหมุนเวียนที่ใช้ทดแทนน้ำมันดีเซล ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มี่การใช้ไฟฟ้า จากดีเซลของกฟภ. ยกเว้นพลังงานลมที่ให้เพิ่มขึ้นอีก 1.50 บาท ต่อหน่วย

ข้อมูลจาก นสพ.โพสต์ทูเดย์ 10-3-52

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน