Consumerthai - (16 มี.ค52) เวลา 11.00 น. นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมด้วยตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายด้านพลังงานทางเลือก และตัวแทนประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากจังหวัดสระบุรีและฉะเชิงเทรา จำนวนกว่า 100 คน ได้มารวมตัวกันที่บริเวณหน้ากระทรวงพลังงาน ถนนพระราม 1 เพื่อมายื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2551 – 2564 (PDP 2007 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2) ยุติสัญญาที่เซ็นต์ไว้กับโรงไฟฟ้าทุกโรง ยุติการขึ้นค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติของ บมจ. ปตท. และให้มีกระบวนการจัดทำแผน PDP ใหม่ โดยให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมทุกลำดับขั้นตอน
จากการที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) มีมติเห็นชอบแผน PDP 2007 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 โดยที่มีกำลังผลิตติดตั้งในปี 2551 อยู่แล้ว 29,140 เมกะวัตต์ให้มีกำลังผลิตเพิ่มขึ้นจากการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่อีก 30,155 เมกะวัตต์ และให้ปลดโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในปัจจุบันออกจากระบบ 7,502 เมกะวัตต์ ทำให้ ระบบพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทยจากปี พ.ศ. 2552 – 2564 จะมีกำลังผลิตสุทธิทั้งสิ้น 51,792 เมกะวัตต์นั้น
สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ต้องถือว่าแผนพีดีพีฉบับนี้เป็นแผนพลังงานอัปยศและเป็นผลงานชิ้นโบว์ดำที่นายกรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ ควรที่จะยกเลิกไปโดยเร็วที่สุด ในภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำขณะนี้แทนที่ กพช. จะปรับลดและเลื่อนโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ ๆ ออกไป กลับยืนยันที่จะให้มีการเซ็นต์สัญญาและสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ ๆ ใส่เข้าไปในระบบอีกโดยไม่มีความจำเป็น
“แค่โรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในระบบที่ 3 หมื่นเมกกะวัตต์ก็สูงกว่าความต้องการการใช้ไฟฟ้าสูงสุดอยู่แล้วถึง 7,300 เมกกะวัตต์ ผู้ที่ได้ประโยชน์จากแผนพลังงานอัปยศนี้คือ บริษัท ปตท. ที่จะมีรายได้จากการขายก๊าซธรรมชาติได้มากขึ้นเพราะถือเป็นเชื้อเพลิงหลักไม่น้อยกว่า 60-70% ของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด และด้วยความร่วมมือเป็นอย่างดีจากผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงานบางคนที่ไปนั่งเป็นกรรมการในบริษัท ปตท. และบริษัทผลิตไฟฟ้าเอกชนหลายแห่ง ที่จะผลักดันให้เกิดโรงไฟฟ้าใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นในแผนพีดีพีฉบับนี้ จึงมีการช่วยทำให้ค่ากำลังผลิตไฟฟ้าไม่สูงขึ้นอย่างที่ควรจะเป็นด้วยการปลดเอาโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ที่ใช้เงินภาษีของประชาชนสร้างขึ้นมา เช่น โรงไฟฟ้าพระนครใต้ โรงไฟฟ้าลานกระบือ โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี โรงไฟฟ้าหนองจอก โรงไฟฟ้าบางปะกง ออกจากระบบถึง 7,500 เมกกะวัตต์ โดยไม่มีการกล่าวถึงมูลค่าที่ต้องสูญเสียไปจากการปลดโรงไฟฟ้าเหล่านี้” นางสาวสารีกล่าว
นางสาวสารีกล่าวต่อว่า ก่อนหน้าที่แผนพีดีพีฉบับนี้จะได้รับความเห็นชอบ ได้มีการเร่งรีบเซ็นต์สัญญาอย่างลับ ๆ ในปี 2551 กับโรงไฟฟ้าใช้ก๊าซธรรมชาติของบริษัทสยาม อีเนอร์จี ที่ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา และโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติของพาวเวอร์ เจเนอเรชั่นซัพพลาย ที่ อ.หนองแซง จ.สระบุรี ซึ่งทั้งสองโครงการมีบริษัทกัลฟ์เจพีเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 99.9% ทั้ง ๆ ที่การใช้ไฟฟ้าชะลอตัวลงอย่างชัดเจนและประชาชนในพื้นที่โครงการแสดงตัวคัดค้าน ที่สำคัญทั้งสองโครงการยังไม่ผ่านการเห็นชอบรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA) และขณะนี้ได้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงขึ้นในชุมชนแล้ว แต่ กพช. ยังนำมาใส่ในแผนพีดีพีฉบับนี้ต่อไปและผลักเอาโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ซึ่งยังใช้งานได้ออกจากระบบ
“สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ การลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าใหม่จะทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าล้นเกินความต้องการ ในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศไทยไม่สามารถใช้ไฟฟ้าได้มากขนาดนั้นจะส่งผลให้โรงไฟฟ้าใหม่ที่สร้างขึ้นเป็นเพียงโกดังเก็บเครื่องปั่นไฟฟ้าเท่านั้น แต่ในขณะเดียวกัน กฟผ.ในฐานะผู้รับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนและรับซื้อก๊าซจาก ปตท.ยังต้องจ่ายค่าซื้อไฟฟ้าและค่าก๊าซธรรมชาติอยู่ต่อไป ทั้งนี้มาจากเงื่อนไขสัญญาค่าโง่แบบ “ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย” ซึ่งค่าโง่ที่ กฟผ. ต้องจ่ายทั้งหมดนี้จะถูกผลักมาอยู่ในค่าไฟฟ้าอัตโนมัติให้ประชาชนรับผิดชอบแทนในท้ายที่สุด”
นางสาวสารีกล่าวเพิ่มเติมถึงการขอขึ้นค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติของปตท.ซึ่งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)ได้มีมติเห็นชอบให้ขึ้นอีก 2.02 บาท / ล้านบีทียู เป็น 21.76 บาท / ล้านบีทียูว่า ความจริงแล้ว ปตท. ไม่มีสิทธิ์มาคิดค่าผ่านท่อก๊าซและราคาควรจะลดลงด้วยซ้ำ เพราะศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ ปตท. ต้องคืนท่อก๊าซทั้งหมดให้กับรัฐเนื่องจากได้มาด้วยการเวนคืนโดยอาศัยอำนาจรัฐถือเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน แต่ ปตท. ทำการคืนทรัพย์สินเพียงแค่ 16,000 ล้านบาท ในขณะที่ ปตท.ประเมินต้นทุนค่าท่อเพื่อใช้ในการคำนวณขอขึ้นราคาค่าผ่านท่อสูงถึง 90,000 ล้านบาทเป็นการประเมินที่เผื่ไว้สำหรับการต่อราคา การขึ้นค่าผ่านท่อครั้งนี้ส่งผลให้ประชาชนต้องรับภาระค่าไฟฟ้าสูงถึง 4,500 ล้านบาทต่อปี ในขณะที่ ก๊าซแอลพีจี ได้มีการกดดันอย่างต่อเนื่องจาก ปตท. เพื่อให้รัฐบาลปล่อยลอยตัวตามราคาน้ำมัน ส่วนก๊าซเอ็นจีวี นั้นมีการระบุอย่างชัดเจนในสูตรการคำนวณค่าผ่านท่อก๊าซ ที่จะทยอยปรับราคาขึ้นตามลำดับหากได้รับการอนุมัติ โดยจะให้ขึ้นจาก 8.50 บาทต่อกิโลกรัมเป็นปีละ 1 บาทต่อกิโลกรัม
นางสาวบุญยืน ศิริธรรม เครือข่ายผู้บริโภค ภาคตะวันตก กล่าวถึงกองทุนพัฒนาพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ที่จะให้อำนาจคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เป็นผู้บริหารจัดการกองทุนว่า ในขณะนี้กองทุนเป็นกองทุนอัปยศไปเสียแล้ว กองทุนนี้ได้เงินมาจากค่าไฟฟ้าที่เก็บจากประชาชนไปตั้งเป็นกองทุนฯเพื่อจัดสรรให้กับโรงไฟฟ้าของบริษัทเอกชนด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อนำไปเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับชุมชนรอบโรงไฟฟ้า แต่ปัจจุบันพบว่าถูกโรงไฟฟ้าใช้เป็นงบโฆษณาชวนเชื่อ สร้างภาพ สร้างความแตกแยก และจัดการกับผู้ที่คัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้า อย่างต่อเนื่อง อย่างเช่นที่ อ.หนองแซง จ.สระบุรี และที่มาบตาพุด จ.ระยอง ชาวบ้านกำลังเผชิญกับความแตกแยกจากการใช้เงินกองทุนที่ผิดวัตถุประสงค์ในลักษณะดังกล่าว
“ที่มาของเงินกองทุนไม่ควรอยู่ในค่าไฟฟ้า เพราะจะกลายเป็นว่าผู้ใช้ไฟฟ้าเป็นผู้สนับสนุนให้เกิดความแตกแยกร้าวฉานให้ชุมชนที่โรงไฟฟ้าไปตั้ง ในฐานะที่โรงไฟฟ้าไปก่อความเสียหายให้กับชุมชนก็ควรที่จะให้นายทุนโรงไฟฟ้าเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนนี้เอง ไม่ควรผลักภาระมาให้ประชาชน” นางสาวบุญยืนกล่าว
นายตี๋ ตรัยรัตนแสงมณี เครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม อ.หนองแซง จ.สระบุรี ในฐานะประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติของบริษัทพาวเวอร์ เจเนอเรชั่นซัพพลาย กล่าวว่า โรงไฟฟ้าที่กำลังเข้ามาในพื้นที่ได้สร้างความขัดแย้งให้กลับชุมชนมากมาย โดยในสถานการณ์ในพื้นที่ตั้งแต่ วันที่ 6 มีนาคม 2552 ที่ผ่านมาได้เกิดการปะทะกันระหว่างชาวบ้านที่คัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้ากับกลุ่มคนงานของโรงไฟฟ้าที่จะเข้ามาทำการปรับพื้นที่ ทั้ง ๆ ที่โครงการนี้ยังไม่ผ่านการอนุมัติรายงานสิ่งแวดล้อม (EIA) และความขัดแย้งยังคงยืดเยื้อจนถึงวันนี้ ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้ ยุติสัญญาที่ทาง กฟผ.เซ็นต์ต่อ โรงไฟฟ้าเอกชนดังกล่าว
นางสาวนันทวัน หาญดี เครือข่ายติดตามผลกระทบโรงไฟฟ้าถ่านหิน ต.เขาหินซ้อน จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือ มีไฟฟ้าเหลือจำนวนมากมาย ซึ่งทั้งหมดถูกผลักมาเป็นภาระของผู้บริโภค และประชาชนที่ต้องทนทุกข์ทรมานรอบ ๆ โรงไฟฟ้าที่ต้องรองรับมลพิษที่เกิดขึ้น มติ กพช. ที่ออกมาเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2552 โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ไม่มีความเป็นธรรม และขัดต่อความเป็นจริงที่เกิดขึ้น จึงขอให้ยกเลิกแผน พีดีพี 2007 ทุกฉบับ และจัดทำแผน พีดีพี ขึ้นมาใหม่โดยการนำเอาประชาชนทุกกลุ่ม เข้าไปมีส่วนร่วมในการทำแผนทุกขั้นตอน และให้กลายเป็นวาระแห่งชาติ รวมถึงให้ยกเลิกการสร้างโรงไฟฟ้า ที่ผ่านการประมูลในช่วงปี 2551 ทั้งหมด
นายสุพนัด ดวงกมล ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 ต.ชุมโค อ.ประทิว จ.ชุมพร กล่าวว่าในความเป็นจริงแล้วการที่จะมีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่กำลังจะเกิดขึ้น ถือว่าเป็นการสนับสนุนกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำตามที่ทางสภาพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติได้ระบุไว้ ซึ่งเป็นการพัฒนาที่สวนทางกับสภาพความเป็นจริงของอาชีพ ในชุมชน เพราะการพัฒนาดังกล่าว เป็นผลเสียต่อการเกษตร ต่ออาชีพการประมงและการท่องเที่ยวอย่างมหาศาล ตัวเลขทาง จีดีพี ของภาคใต้ในเรื่องของการเกษตรมีถึง 35 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงกว่าทุกๆภาค ถ้าหากมีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้นมาก็จะทำให้อาชีพของคนในชุมชนหายไป ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้ยกเลิก โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แต่ควรหันมาส่งเสริมทางด้านเกษตรกรรมซึ่งเป็นวิถีชีวิตหลัก ดั้งเดิมของชุมชนมากกว่า
นายสันติ โชคชัยชำนาญกิจ กลุ่มศึกษาพลังงานทางเลือกเพื่ออนาคต ให้ความเห็นเกี่ยวกับโรงฟ้านิวเคลียร์ที่เข้ามาอยู่ในแผนพีดีฉบับดังกล่าวว่า จากสภาพเศรษฐกิจ และความสามารถในการใช้ไฟฟ้าของคนทั้งประเทศนั้นไม่มีความจำเป็นในการสร้างโรงไฟฟ้าใด ๆ เลย ไม่ว่า จะเป็นถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ และนิวเคลียร์เลย ส่วนแผนการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้น มีการนำเงินจากกองทุนอนุรักษ์พลังงานมาใช้ในการประชาสัมพันธ์โครงการ เป็นจำนวน 1,300 กว่าล้านบาท ดูแลโดยสำนักงานพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งเป็นเงินที่เก็บมาจากค่าน้ำมัน ซึ่งไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะนับเงินในกองทุนนี้มาใช้ในการดำเนินการของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
สำหรับข้อเรียกร้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายด้านพลังงาน และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการโรงไฟฟ้าต่าง ๆ คือ 1. ยกเลิกแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2551-2564(PDP 2007 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2) 2. ให้ยุติสัญญาที่ทำไว้กับโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ทั้งหมด 3. ยกเลิกการอนุมัติขึ้นค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติของ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ที่ กกพ.มีมติเห็นชอบให้ปรับขึ้น 2.02 บาทต่อล้านบีทียู เป็น 21.76 บาทต่อล้านบีทียู 3.ให้ปฏิรูปการวางแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยใหม่ตามหลักธรรมาภิบาล โดยต้องเปิดให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนอย่างเป็นระบบ เนื่องจากที่ผ่านมามีเพียงกระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่ไม่โปรงใสและไม่มีส่วนร่วม ทำให้เกิดการวางแผนและการดำเนินงานที่ฉ้อฉล ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงและความต้องการของประชาชน
>> ข้อมูล เพิ่มเติม
ค่าไฟ ค่าก๊าซ ค่าน้ำมัน เตรียมขึ้นราคา ประชาชนตายแน่
ภาพบรรยากาศ
ข้อเรียกร้องให้ยกเลิกแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า(PDP 2007 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2)
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายพลังงานและประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ที่ถูกบรรจุอยู่ในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าฯ ไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าดังกล่าว และมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล , ประธานกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ , ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน โดยผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ดังต่อไปนี้
{mxc}