Fake News Alert! ชวนดูแนวทางการรับมือปัญหาข้อมูลข่าวลวง จากงานเสวนาแลกเปลี่ยนบทเรียนระหว่างประเทศ

news pic 180619 fakenewsalert

          ช่วงนี้ข่าวลวง ข้อมูลเท็จ มีมากเหลือเกิน บ้างก็อ้างว่าเจ้าบัตรที่มีหน้าตาเหมือนบัตรเครดิตสามารถรักษาโรคได้ บ้างก็นำรูปเก่ากึกตั้งแต่ก่อนนู้นมาลงใหม่แล้วบอกว่าเป็นเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น และแน่นอนว่าเมื่อข้อมูลหรือข่าวเหล่านี้ออกมาก็อาจทำให้เกิดการเข้าใจผิด และอาจมีการเผยแพร่ต่อไปเรื่อยๆ จากปัญหาเล็กๆ ก็กลับกลายเป็นปัญหาที่ใหญ่ขึ้นๆ

          ปัญหาข้อมูลข่าวลวงที่เพิ่มขึ้นมาอย่างไม่มีวันหยุดนี้เอง จึงทำให้กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ Friedrich Naumann Foundation for Freedom (FNF) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ม.ธรรมศาสตร์ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) จึงจัดงานเสวนา ‘International Conference on Fake News’ ซึ่งเป็นกิจกรรมต่อเนื่องจากการร่วมลงนามและประกาศปฏิญญารวมพลังขับเคลื่อนต่อต้านข่าวลวงข่าวปลอมขึ้น ด้วยเนื้อหาที่น่าสนใจนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงอยากชวนผู้บริโภคไปฟังข้อมูล และแนวทางการจัดการกับข้อมูลข่าวลวง หรือข้อมูลเท็จในงานเสวนา ที่เพิ่งจัดขึ้นไปเมื่อวันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมาnews pic 180619 fakenewsalert 1

          เริ่มจาก ช่วง Keynote Speech ‘Findings Fact in a World of Disinformation : The Search for Collective Solutions’ ที่ Audrey Tang รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัล ประเทศไต้หวัน จะมาบอกเล่าเกี่ยวกับการรับมือกับข้อมูลข่าวลวง เขากล่าวว่า การรับมือของรัฐบาลไต้หวันเกี่ยวกับข้อมูลลวง หรือข้อมูลเท็จ จะเน้นไปที่การหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ทั้งในฐานะของภาครัฐ และภาคประชาสังคม โดยมีมาตรการเชิงรับ คือ การจัดการกับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องให้สำเร็จภายใน 60 นาที

          “การรับมือกับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องนั้นจะต้องเป็นไปอย่างรวดเร็วทันท่วงที โดยจะต้องมีการแก้ไขให้เสร็จสิ้นภายใน 60 นาที หากใช้ระยะเวลาเลยไปจากนี้จะเป็นเรื่องที่ยากในการรับมือ” Audrey กล่าว

          นอกจากมาตรการที่กล่าวไปข้างต้น ยังมีการวมถึงการใช้กระบวนการตรวจสอบร่วมกัน (Collaborated Checking หรือ CoFacts) โดยใช้เพื่อร่วมตรวจสอบข่าวปลอมหรือข่าวลือต่างๆ เช่น มีการใช้สิ่งที่เรียกว่า bots หลักการ คือ เราสามารถพิมพ์ข่าวที่เราสงสัยลงไป จากนั้น bots จะตอบกลับมาว่าเป็นข่าวจริงหรือเท็จ เป็ นต้น นอกจากนี้ ยังมีการใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อใช้ในการต่อสู้กับข่าวปลอม นั่นคือ กฎหมายการเลือกตั้งและการลงประชามติ (Election and Referendum) ซึ่งมุ่งเน้นไปในด้านของการจัดให้มีการเปิดเผยแหล่งที่มาของเงินทุนบริจาค หรือค่าโฆษณาในการรณรงค์หาเสียงต่างๆ เพื่อให้คนทั่วไปสามารถเข้าไปตรวจสอบสืบค้นได้ ทั้งยังมีการตรวจสอบการเชื่อมโยงเกี่ยวกับการบริจาคกับพรรคการเมืองอยู่เสมอ
          และในส่วนของมาตรการเชิงรุก Audrey นำเสนอมาตรการมา 3 ข้อ ได้แก่

          1. ภาครัฐควรเปิดกว้างเรื่องการมีส่วนร่วมให้มากขึ้น โดยจัดให้มีช่องทางที่สาธารณชนสามารถส่งคำถามเข้ามายังหน่วยงานได้เพื่อที่คำถามนั้นจะได้รับการแก้ไขหรือได้รับคำตอบ ด้วยช่องทางนี้ทำให้คนทุกๆ วัยสามารถส่งคำถามเข้ามาได้ แนวทางดังกล่าวจึงไม่ใช่แค่การเปิดใจอย่างเดียวแต่ต้องเชื่อใจสาธารณชนไปในตัวด้วย ตัวอย่างเช่น ในระดับกระทรวง เมื่อประชาชนมีการเข้าชื่อหรือร่วมลงชื่อทุกๆ 5,000 คนในประเด็นใดๆ กระทรวงจะต้องรับเรื่องนั้นเข้ามาพิจารณา เป็นต้น นอกจากนั้นยังจัดให้มีการอบรมเรื่องความรู้เกี่ยวกับข่าวลวง ข่าวลือ ให้กับเยาวชน โดยเริ่มตั้งแต่สมัยประถมศึกษาเพื่อให้เด็กเหล่านี้เติบโตขึ้นมาอย่างรู้เท่าทันสื่อ

          2. การระบุหรือการบ่งชี้เนื้อหาที่เป็นข่าวปลอม มีการ Built - In Flagging และการ Clarification ที่ได้รับการพัฒนาจากแพลตฟอร์มเครือข่ายสังคม เช่น Line Messaging และ Line Today ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผู้คนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการบ่งชี้และดูแนวโน้มที่กำลังเป็นที่นิยมในขณะที่ใช้แพลตฟอร์มนั้นได้

          3. สร้างการตระหนักรู้แก่สาธารณชน โดยรัฐจะจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนา TV series ที่มีคุณภาพเพื่อส่งเสริมการตระหนักรู้ของสาธารณชน ตลอดจนส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อให้เป็นหลักสูตรของโรงเรียน

          นอกจากนั้น Audrey ยังได้ตอบคำถามถึงแนวคิดในการรับมือกับสื่อที่แพร่กระจายข่าวปลอมว่า จะไม่มีการปิดอะไรทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเลือกตั้งจะมีหลักเกณฑ์ในการสร้างความโปร่งใสในการบริจาคเงินให้กับพรรคการเมืองช่วงเลือกตั้ง (กฎหมายเกี่ยวกับการโฆษณาในช่วงเลือกตั้ง) นอกจากนั้นยังมีการส่งเสริม White Hacker เพื่อจูงใจไม่ให้เขาไปเป็น Black Hacker

          “แน่นอนว่าในการจูงใจให้ผู้คนเข้ามาเป็นแนวร่วมในกิจกรรมหรือระบบต่างๆ นั้น กิจกรรมหรือตัวระบบจะต้องมีความง่าย สะดวก ใช้เวลาน้อย รวมทั้งต้องมีการเชื่อมโยงกับหลายภาคส่วนให้มีความหลากหลาย”

          ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเปิดให้ผู้คนเข้ามาร่วมอีกด้วย สำหรับการพูดคุยกับสื่อสาธารณะ เช่น เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ ฯลฯ นั้น จะมีการพูดคุยถึงหลักจรรยาบรรณที่รัฐยึดถือและสื่อเหล่านี้จะต้องปฏิบัติตาม มิฉะนั้นอาจต้องใช้มาตรการที่รุนแรงยิ่งกว่า        

news pic 180619 fakenewsalert 2

          ส่วนอีกช่วงที่น่าสนใจ คือ ช่วงการอภิปราย ในห้อข้อ “Countering Fake News : Best Practices and Policy Implication” โดยมีการนำเสนอการจัดการกับข้อมูลข่าวลวงจากหลากหลายประเทศ

          Masato Kajimoto จาก University of Hong Kong กล่าวว่า ในการศึกษาเกี่ยวกับการต่อต้านข่าวปลอมนั้น เราจะต้องมีความเข้าใจในบริบทของแต่ละประเทศเสียก่อน โดยมุ่งเน้นไปที่การตอบคำถามว่า ใครเผยแพร่ข่าวปลอม ความตั้งใจในการปล่อยข่าวคืออะไร จะใช้เครื่องมือใดในการตรวจสอบ และจะมีวิธีการในการตรวจสอบอย่างไรเป็นสำคัญ ไม่ใช่มุ่งศึกษาแต่เฉพาะว่าจะต่อต้านข่าวปลอมอย่างไรแต่เพียงอย่างเดียว สำหรับการศึกษาและสอนเรื่องข่าวลือข่าวเท็จโดยมากนั้นมักเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ดังนั้นการจะพูดถึงข่าวลวง ข่าวเท็จ โดยไม่พูดถึงการเมืองจึงแทบเป็นไปไม่ได้ ตัวอย่างเช่น ในช่วงการเลือกตั้งจะมีการใช้เครื่องมือเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง เช่น First Draft ซึ่งเป็นการร่วมมือระหว่างองค์กรต่างๆ และมหาวิทยาลัย เป็นต้น    

          ด้าน Nur - Azng Sanusi จาก Reuters กล่าวว่า ในการเฝ้าระวังสื่อสังคมออนไลน์นั้น ข่าวลือหรือข่าวปลอมมักแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วในช่วงเวลาภัยพิบัติหรือเกิดวิกฤตขึ้น เหตุเพราะความตื่นตระหนกของผู้คนซึ่งปราศจากการตรวจทานข้อเท็จจริง โดยรอยเตอร์มีทีมงานระดับโลกในการตรวจสอบข่าวลวงร่วมกับ User Generated Content (UGC) ซึ่งถึงแม้จะช้ากว่าองค์กรอื่นๆ แต่ก็ต้องทำเพื่อการตรวจสอบข้อมูลที่ถูกต้องรอบด้าน โดยการทำงานเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของภาพและข้อเขียนนั้นมีหลักปฏิบัติที่มีความแตกต่างกัน รอยเตอร์มีการใช้ Image Search ในการตรวจสอบคลิปหรือรูปภาพ และมุ่งเน้นไปที่การใช้ภาพจริงที่ปราศจากการตกแต่งหรือตัดต่อเป็นหลัก ที่สำคัญผู้ตรวจสอบจะต้องมีสัญชาตญาณหรือทักษะในการตรวจสอบความผิดปกติของข้อมูล นอกจากนี้ยังต้องอาศัยการติดต่อกับแหล่งข่าว เช่น ดูข้อมูลจากดาวเทียม เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น หรือผู้คนในพื้นที่ ฯลฯ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนประกาศหรือเผยแพร่ข่าวนั้นออกสู่สาธารณชนด้วย ส่วนในกรณีของนักการเมือง ถ้านักการเมืองคนใดมีการโพสต์ข้อมูลที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิด ทางทีมงานรอยเตอร์จะทำการเกาะติดนักการเมืองคนนั้นทันที

          ขณะที่ Lucille S Sodipe จาก VERA Files กล่าวว่า สำหรับการต่อต้านข่าวปลอม ทางฟิลิปปินส์มุ่งเน้นไปที่การใช้ www.factcheck.ph ในการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งเครื่องมือดังกล่าวตั้งอยู่บนหลักการที่ว่าใครๆ ก็สามารถเป็นผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ และสำหรับประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ต่อวันมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้การตรวจสอบและรับมือกับปัญหาข่าวปลอมจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง โดยในการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ นั้นสามารถแบ่งข่าวลวงได้เป็น 4 ประเภท คือ

          1) False Claim : การกล่าวอ้างที่ผิด เช่น การกล่าวอ้างผิดบริบท

          2) Flip - Flops : การพลิกข้อมูลกลับไปกลับมา

          3) Fact Sheet : ข้อมูลของอะไรสักอย่างที่ระบุแต่องค์ประกอบสำคัญของสิ่งนั้น จะเป็นอย่างสั้น ๆ ไม่มีคำอธิบายอะไรยืดยาว

          4) Fake News : ข่าวปลอม

          ส่วน Eric Wishart จาก AFP กล่าวว่า ในการต่อสู้กับข่าวลือข่าวปลอมคือต้องสร้างความเชื่อมั่นในสื่อให้กลับมาใหม่ ผ่านการส่งเสริมการรู้เท่าทัน สื่อ การอบรม การให้การศึกษา การมุ่งเป้าไปที่ keywords เช่น การเลือกตั้ง ความขัดแย้ง การสร้างความโปร่งใสในกระบวนการทำงานของทีมบรรณาธิการ (AFP Stylebook online) การ edit ข้อมูล หรือการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือยืนยันข่าว (Cross Check) และถึงแม้จะได้เงินทุนสนับสนุนจากเฟสบุ๊ค แต่การทำงานจะมีความเป็นอิสระจากผู้ให้การสนับสนุน เมื่อ AFP ตั้งธงไว้แล้วว่าเนื้อหาไหนเป็นข้อมูลเท็จ ทางเฟซบุ๊กจะนำการตั้งธงนั้นเข้าระบบอัลกอริธึมเพื่อตรวจสอบข่าวลวง ข่าวลือ ในเพจของตน เมื่อพบข้อมูลเท็จ ระบบจะจำกัดการเข้าถึงข่าวนั้น

          และ Mario Brandenberg จาก German Bundestag (Parliament) กล่าวว่า ข่าวลือและข่าวปลอมในประเทศเยอรมนีเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่มีกรณีเรื่องผู้อพยพ โดยสื่อสังคมออนไลน์และเทคโนโลยีในการปลอมแปลงต่างๆ ล้วนมีส่วนสำคัญต่อการสร้างและแพร่กระจายข่าวปลอม เมื่อต้องเผชิญกับข่าวปลอมนั้น พวกเขาจะทำการตรวจสอบโดยแบ่งออกเป็น 3 ด้านกว้างๆ คือ 1. ข่าวปลอมนั้นมีการปรับเปลี่ยนหรือตกแต่งไฟล์มากน้อยเพียงใด 2. พิจารณาบริบทแวดล้อมที่เกิดหรือแพร่กระจายข่าวปลอมนั้น และ 3. จะต้องจัดหาและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อใช้ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างทันท่วงที ซึ่งควรจะต้องมีการจัดการตรวจสอบภายใน 24 ชั่วโมง

          สำหรับมาตรการในการต่อต้านข่าวปลอมนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ด้านหลัก คือ

          1) ความร่วมมือ : แพลตฟอร์มจะต้องมีการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย ซึ่งนั่นรวมถึงผู้ตรวจสอบในระดับท้องถิ่น โดยจะต้องไม่คำนึงถึงแต่เรื่องถูกผิดเท่านั้น แต่จะต้องคำนึงถึงความเหมาะสมและสภาพบริบทด้วย

          2) การตรวจสอบ : สร้างเทคโนโลยีอันทันใหม่เพื่อตอบโต้กับข่าวปลอม เช่น ระบบ AI

          3) การให้การศึกษา : จัดให้มีการสอนหรือฝึกอบรมว่าอะไรคือข่าวปลอมตั้งแต่ในระดับโรงเรียน ฝึกฝนและส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อในเด็กและเยาวชน โดยเปิดกว้างให้เยาวชนได้มีโอกาสเป็นผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริง นอกจากนั้นยังต้องให้ความรู้ว่าอะไรควรหรือไม่ควรที่จะโพสต์หรือเผยแพร่ออกไป ไม่เพียงเท่านี้ยังต้องให้ความรู้และอบรมนักข่าวหรือตัวแพลตฟอร์มให้รู้เท่าทันสื่อและสอนว่าอะไรคือข่าวปลอม

          4) กฎหมาย : เมื่อเกิดสิ่งผิดปกติขึ้นกฎหมายจะต้องตอบสนองอย่างทันท่วงที โดยสามารถฟ้องร้องดำเนินคดี เรียกค่าปรับ หรือสั่งใ  ห้นำข่าวปลอมนั้นออกได้ สำหรับการบังคับใช้กับแพลตฟอร์มนั้น มุ่งเน้นให้แพลตฟอร์มเกิดความโปร่งใสโดยจะต้องมีการรายงานแหล่งที่มาของข่าวปลอมให้กับเจ้าหน้าที่รัฐได้รับทราบ

Tags: ข่าวปลอม, ไต้หวัน, ข้อมูลลวง

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน