มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และอีก 3 องค์กร ชี้ กสทช. ควรสร้างความชัดเจนในแผนการประมูลคลื่นความถี่ 700 MHz และแผนพัฒนา 5G ก่อน พร้อมเสนอควรให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในการวางแผน และควรมีมาตรการกำกับดูแลคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเหมาะสม
จากการที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะนำคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) ออกมาเตรียมประมูลรอบใหม่ เพื่อรองรับการใช้งาน 5G ของค่ายโทรคมนาคมนั้น
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กสทช. และสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ จึงจัดเวทีเสวนา ‘NBTC Public Forum : ย้ายคลื่น 700 MHz ใครได้ใครเสีย และมีผลกระทบอย่างไรต่อผู้บริโภค’ โดยมีตัวแทนจากภาควิชาการ ผู้ประกอบการสื่อโทรทัศน์ ภาคประชาชน ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 13.30 - 16.00 น. ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารหอประชุม สำนักงาน กสทช.
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการ มพบ. กล่าวว่า ต้องการให้ กสทช. สร้างความชัดเจนในเรื่องการย้ายคลื่นความถี่ 700 MHz ไปทำ 5G และเชื่อว่าผู้บริโภคไม่ขัดข้อง หากจะมีการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล แต่ต้องมีหลักการที่ชัดเจนว่าจะทำอย่างไรในการคืนคลื่น ผู้ใดจะต้องคืนคลื่นบ้าง หรือจะต้องย้ายคลื่นอย่างไร
“กสทช. ควรต้องทำให้ชัดว่าหากจะพัฒนา 5G ผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์อย่างไรบ้าง และควรทำอย่างไรให้ไม่เกิดการผูกขาดในธุรกิจ 5G รวมทั้งควรต้องมีมาตรการกำกับดูแลคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเหมาะสมด้วย” นางสาวสารีกล่าว
ส่วนนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการ กสทช. และประธานคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ สภาการฯ กล่าวว่า หาก กสทช. ต้องการจะทำควรต้องมีการวางแผนที่ชัดเจนว่าเป็นการคืนคลื่นเดิมแล้วไม่ทำทีวีดิจิทัลต่ออีก หรือเป็นการย้ายไปใช้คลื่นใหม่เพื่อเอาคลื่นเดิมไปใช้ประมูล 5G หรือเป็นการบีบคลื่นลงเพื่อนำส่วนต่างที่ว่างอยู่ไปประมูล 5G ดังนั้น กสทช. ควรจะทำข้อเท็จจริงให้ชัดเจนก่อนจึงจะสรุปได้ว่าใครได้ใครเสียประโยชน์ และจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในระดับใดบ้าง รวมถึงขอให้ กสทช. เปิดเผยเรื่องนี้ให้โปร่งใส และให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในการวางแผนนี้ด้วย
ด้าน ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า กสทช. ควรเปิดโอกาสให้ทุกฝ่าย ทั้งภาคประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้นในการให้ความคิดเห็นเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง และหาก กสทช. ต้องการช่วยเหลือผู้ประกอบการจริงๆ ควรจะนำเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) มาสร้างเนื้อหาที่ดีแก่ประชาชนมากกว่า อีกทั้ง กสทช. ควรให้ความสำคัญกับทีวีชุมชนมากกว่านี้ เพราะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบที่ตกหล่นไป นอกเหนือจากมิติสิทธิแล้วพวกเขาก็มีศักยภาพที่ไม่ควรถูกละเลย
ส่วน ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การที่ กสทช. เร่งรัดจะนำคลื่นความถี่ 700 MHz มาประมูลเพื่อนำเงินไปเยียวยาความเสียหายของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลนั้นยังไม่มีความชัดเจนเท่าไร หากต้องการประมูลคลื่นดังกล่าวจริงควรต้องใช้เวลามากกว่านี้เพื่อเตรียมความพร้อมของทุกฝ่าย อีกทั้งควรแยกการประมูลคลื่นทำ 5G ออกจากการเยียวยาผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล
ดร.สมเกียรติ กล่าวอีกว่า หากจะประมูลคลื่นตอนนี้ถือว่าเร็วเกินไป กสทช. ควรทำแผนให้ครบว่าจะมีแผนเรื่อง 5G อย่างไร และไม่ควรทำเป็นส่วนๆ หากต้องการนำเอาคลื่นความถี่ 700 MHz ไปทำ 5G ควรมีแผนโยกย้ายที่ชัดเจน และเปิดช่องให้ผู้ประกอบการเดิมที่ไม่อยากทำต่อออกจากพื้นที่การทำธุรกิจได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าปรับ แต่จะไม่ได้รับเงินชดเชย ซึ่งขั้นตอนนี้อย่างน้อยต้องใช้เวลาประมาณ 2 ปี จากนั้นเมื่อเตรียมความพร้อมทุกส่วนแล้วจึงจะเหมาะสมสำหรับการเปิดประมูล
“ผมเห็นว่าควรต้องแยกสองเรื่องนี้ คือ การประมูลคลื่นทำ 5G กับการเยียวยาผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ออกจากกันอย่างชัดเจน ไม่ควรรวมกัน และเปิดโอกาสให้ทีวีดิจิทัลที่ทำไม่ไหวแล้ว สามารถออกจากตลาดได้โดยไม่เสียค่าปรับ” ดร.สมเกียรติกล่าว
ขณะที่นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า คลื่นที่ทำทีวีดิจิตัลในขณะนี้ อยู่ระหว่างคลื่นความถี่ 510 - 790 MHz รองรับทีวีได้ 48 ช่อง แผนในตอนนี้ คือ จะบีบช่วงคลื่นให้อยู่ระหว่างคลื่นความถี่ 510 - 694 MHz และจะเหลือคลื่นความถี่ 96 MHz ที่จะนำไปประมูลได้ ซึ่งเป็นคลื่นที่เตรียมจัดสรรให้ทีวีชุมชนแต่ยังไม่ดำเนินการ ส่วนเรื่องการประมูลคลื่น 5G และการเยียวยาผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาและรับฟังความคิดเห็นว่าควรจะรวมหรือแยกสองเรื่องนี้ออกจากกันหรือไม่ โดยจะมีกำหนดเปิดรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 22 กุมภาพันธ์นี้
“การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งผู้ใช้คลื่นฯ (ทีวีดิจิทัล) ผู้ให้บริการโครงข่าย (มัค) และผู้บริโภค กสทช. จะพิจารณาตามข้อกฎหมายต่อไป ส่วนคลื่นของทีวีชุมชนที่จะนำไปใช้ประมูลก็จะเตรียมคลื่นความถี่ 470 MHz เอาไว้รองรับในอนาคต” นายฐากรกล่าว
ส่วนนายฉัตรชัย ตะวันธรงค์ กรรมการสมาคมผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องการย้ายคลื่นความถี่ 700 MHz จึงเกิดคำถามเรื่องการทำหน้าที่ของผู้กำกับดูแล (Regulator) อาทิเช่น การเกิดขึ้นของ Facebook หรือ Google ทำให้เกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลอย่างมาก และเมื่อผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลไม่มีแผนรองรับจึงเกิดความผิดพลาดขึ้น รวมถึงเรื่องการแจกกล่องดิจิทัล แทนที่ผู้บริโภคจะได้รับกล่องที่ดีมีคุณภาพ กลับได้กล่องที่ไม่มีคุณภาพมา เป็นต้น
“การจะทำให้อุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลอยู่รอดได้ในระยะยาว ต้องขึ้นอยู่กับผู้กำกับดูแลอย่าง กสทช. ด้วย หากกสทช. ไม่เปลี่ยน เราก็ต้องเปลี่ยนเองเพื่อความอยู่รอด อีกทั้งเมื่อเกิดปัญหาขึ้น ขอให้ กสทช. แก้อย่างใดอย่างหนึ่งให้เสร็จไปทีละอย่าง รวมทั้งอยาก กสทช. มีความชัดเจนอย่างรวดเร็ว เพื่อผู้ประกอบการจะได้ตัดสินใจในแผนธุรกิจของตัวเอง” นายฉัตรชัยกล่าวและว่า อยากให้ตั้งหลักด้วยการมองในเชิงบวกเพื่อหาทางออกแก้ปัญหาร่วมกัน ตอนนี้ต้นทุนทุกช่องมีค่าใบอนุญาตชั่วโมงละประมาณสองหมื่นบาท รวมกับค่ามัค อีกหกพันกว่าบาท รวมเป็นประมาณสามหมื่นบาท ซึ่งเป็นภาระร่วมกันอยู่ (คิดจากเวลาการออกอากาศ 18 ชั่วโมง)
ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นในทิศทางเดียวกันว่าต้องการให้ กสทช. ทำให้เกิดความชัดเจนในแผนการประมูลคลื่นความถี่ 700 MHz และแผนพัฒนา 5G ควรมีการศึกษาความเป็นไปได้และความต้องการใช้อย่างครบถ้วนรอบด้าน นอกจากนี้กรรมการ กสทช. กล่าวปิดท้ายว่า เวทีเสวนาครั้งนี้ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากฝ่ายต่างๆ ซึ่งทำให้เกิดความชัดเจนขึ้น จากนั้นจะนำข้อมูลของทุกฝ่ายมาใช้ประกอบการตัดสินใจในการวางกรอบการกำหนดนโยบาย ซึ่งยังไม่มีข้อสรุปและยังอยู่ในขั้นตอนการส่งเรื่องให้อนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมาย
ติดตามรับชม Facebook LIVE เวทีเสวนา ‘NBTC Public Forum : ย้ายคลื่น 700 MHz ใครได้ใครเสีย และมีผลกระทบอย่างไรต่อผู้บริโภค’ ได้ที่ เฟซบุ๊กเพจ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค