ตามที่กสทช. ได้จัดแบ่งคลื่นความถี่ 3จี สำหรับใช้ประมูลที่มีอยู่ 45 MHz ออกเป็น 9 ชุด ชุดละ 5 MHz ราคาประมูลตั้งต้นชุดละ 4,500 ล้านบาท โดยผู้ประมูลแต่ละราย จะประมูลได้ไม่เกิน 3 ชุด หรือ มีเพดาน 15 MHz ต่อราย
ผลจากการประมูลในครั้งนี้ สังคมได้ตั้งคำถามสำคัญหลายประการถึง ประเด็นที่ว่าราคาประมูลชุดความถี่ที่ตั้งต้นที่ชุดละ 4,500 ล้านบาทนั้นต่ำหรือสูงเกินไปหรือไม่ทั้งที่ทราบว่าไม่มีการแข่งขัน รวมถึงวิธีการประมูล เป็นการจัดฉาก ‘ฮั้วประมูล’ หรือไม่ เพราะเมื่อมีผู้เข้าประมูลเพียงสามราย ทุกรายก็น่าจะได้คลื่นไปรายละ 3 ชุด (15 MHz) ลงทุนเริ่มต้นรายละ 13,500 ล้านบาท ซึ่งผลของการประมูลที่ออกมายังสร้างข้อกังขาให้กับสังคมมากมายและเกิดคำถามจากการประมูลครั้งนี้ ต่อราคาประมูลไม่ได้ขึ้นไปสูง และการประมูลจบลงอย่างรวดเร็ว
สังคมไทยต่างเฝ้ารอคอยการใช้ 3G ในคลื่นความถี่ 2.1 GHz โดยมี กสทช.เป็นแม่งานใหญ่ในการดำเนินการให้เอกชนเข้ามาประมูล คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ได้มีการจัดประชุมคณะกรรมการ ฯ และรับฟังความคิดเห็นจากองค์กรผู้บริโภคเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 ที่ผ่านมา รวมทั้งได้มีมติในการจัดทำความเห็นและการจัดทำชุดข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจกับสาธารณะและผู้บริโภคที่ยังมีความเข้าใจที่คาดเคลื่อน เพราะการจัดการประมูลและผลการประมูลจะต้องคำนึงถึง “ประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับท้องถิ่น ในด้านการศึกษา วัฒนธรรม ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะอื่น รวมทั้งการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมและต้องดำเนินการในลักษณะที่มีการกระจายการใช้ประโยชน์โดยทั่วถึงในกิจการด้านต่าง ๆ ให้เหมาะสมแก่การเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ”
ต้นทุนการประมูลกับการกำหนดราคามีผลหรือไม่
- หากประมูลแพงผู้บริโภคเสียประโยชน์จ่ายค่าบริการแพง – หากประมูลถูกผู้บริโภคจ่ายถูกหรือไม่
ความเห็นคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน
- กรณีการประมูล 3G ครั้งนี้อาจจะแตกต่างจากเรื่องอื่นๆ เพราะผู้ประมูลทั้งหมดเป็นผู้ให้บริการในกิจการโทรคมนาคมในระบบ 2G และมีการให้บริการ 3G ที่จำกัดในปัจจุบัน ซึ่งผู้ให้บริการทั้งสามมีค่าใช้จ่ายที่สำคัญคือการจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้กับรัฐจากการสัมปทานอยู่ไม่น้อยกว่า 40,000 ล้านบาทต่อปี นอกเหนือจากการลงทุน การทำการตลาด หรือค่าใช้จ่ายในการบริหารอื่นๆ ดังนั้นหากราคาการประมูลในครั้งนี้ไม่มากกว่าจำนวนนี้ย่อมไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อราคาค่าบริการของผู้บริโภค
- ซึ่งพบว่า ราคาประมูลของบริษัท AIS(14,625 ล้านบาท) DTAC(13,500 ล้านบาท) และ TRUE(13,500 ล้านบาท) รวมกันแล้วได้จำนวน 41,625 ล้านบาท ต่อระยะเวลา 15 ปี ซึ่งทำให้บริษัททั้งสามจ่ายเพียง 2,775 ล้านบาทต่อปีเท่านั้นจากเดิมที่จ่ายถึง 40,000 ล้านบาท ชี้ให้เห็นว่า บริษัทได้ประโยชน์จากราคาประมูลคลื่นครั้งนี้เกือบ 15 เท่า
คณะกรรมการ ฯ มีความเห็นว่า การประมูลครั้งนี้เกิดความเสียหายต่อสาธารณะ หรือรายได้อันควรพึงมีพึงได้ของประเทศอย่างชัดเจนจากข้อมูลข้างต้น และหากไม่มีการดำเนินการใดๆ ผลประโยชน์ที่ควรจะตกอยู่กับผู้บริโภคก็ไม่เกิดขึ้นจริง หรือไม่อย่างนั้นต้องปรับปรุงราคาขั้นต่ำในการประมูลตามข้อเสนอแนะของการศึกษาของจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยที่ราคา 6,440 ล้านบาทเป็นราคาตั้งต้น
การคุ้มครองผู้บริโภคในเงื่อนไขการประมูล
- การมีเงื่อนไขให้ผู้ใช้บริการใช้โครงข่ายร่วมกัน
- ถึงแม้จะมีเงื่อนไขแต่ไม่มีกติกาบังคับ จากบทเรียนเรื่องอัตราค่าเชื่อมต่อโครงข่ายทั้งที่มีการให้ใช้โครงข่ายร่วมกัน แต่ไม่มีกติกาใดๆ บังคับ ทำให้เกิดข้อตกลงของบริษัทในการใช้โครงข่ายร่วมกันในกรณีโทรศัพท์ข้ามเครือข่ายที่เอาเปรียบผู้บริโภค คืออัตรา 1 บาท ขณะที่การเชื่อมต่อภายในเครือข่ายนั้นอยู่ที่ 0.25-0.50 สตางค์
ความเห็นคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน
- ถึงแม้ที่ผ่านมา กสทช. ได้ประกาศที่จะกำกับอัตราค่าบริการ 3G ทั้งบริการเสียงและข้อมูลที่จัดเก็บจากผู้บริโภคให้ลดลงไม่น้อยกว่า 20% จากอัตราในปัจจุบันที่อยู่ในระดับเฉลี่ย 899 บาทต่อเดือน โดยจะกำหนดให้อัตราค่าบริการในปีแรกลดลง 10% ปีที่ 2 ลดลง 15% และปีที่ 3 ลดลง 20% นอกจากนี้ กสทช. ยังประกาศที่จะกำกับดูแลคุณภาพบริการและให้ผู้รับใบอนุญาตจัดทำแผน CSR และแผนคุ้มครองผู้บริโภค ตลอดจนประกาศว่าจะปรับปรุงกระบวนการของตนในการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภค และถูกคัดค้านจากบริษัทว่าไม่เห็นด้วยกับกสทช.
- การกำกับดูแล ผู้ประกอบการและคุ้มครองผู้บริโภคให้เข้มงวดขึ้น เป็นหน้าที่ตามกฎหมายซึ่งกสทช.ต้องทำเป็นปรกติอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมา รูปธรรมปัญหากรณีระบบโทรศัพท์ในบัตรเติมเงินที่ผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบและกสทช.ได้มีคำสั่งทางปกครองปรับวันละ 100,000 บาท แต่ถูกบริษัทฟ้องร้องต่อศาลปกครอง กลับไม่มีความคืบหน้าและมีการดำเนินการปรับทางปกครองแต่ประการใด
- การอ้างมีบริการในระบบ 2G ดังนั้นจะไม่มีผลกระทบต่อผู้บริโภค คงไม่เป็นจริง เพราะความเป็นจริงนั้นผู้ประกอบการพยายามที่จะย้ายผู้ใช้บริการบนคลื่นความถี่เดิมมาสู่ระบบคลื่นความถี่ใหม่ ระบบ 3G ไม่ว่าจะการใช้กลยุทธ์ทางการตลาด การให้สิทธิประโยชน์ แต่ที่สำคัญ เพราะระบบสัมปทานใน 2G นั้นมีอายุในการให้สัมปทาน และจะมีผู้บริโภคจำนวน 19.6 ล้านคนของบริษัทแรกจะหมดอายุสัมปทานในเดือนกันยายน 2556
- คณะกรรมการฯ จึงมีข้อเสนอต่อกทค.และ กสทช. ให้จัดการประมูลใหม่โดยเร็วและให้แล้วเสร็จภายใน 1 – 2 เดือน โดยให้ความสำคัญกับราคาตั้งต้นที่ไม่ทำให้ประเทศชาติเสียหายและรวมถึงมีการกำหนดมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคในการประมูลในครั้งใหม่นี้ด้วย
หมายเหตุ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน เป็นคณะกรรมการ ฯ ที่จำลองการมีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 61
มาตรา 61 สิทธิของบุคคล ซึ่งเป็นผู้บริโภค ย่อมได้รับการคุ้มครองในการได้รับข้อมูลที่เป็นความจริง และมีสิทธิร้องเรียนเพื่อให้ได้รับการแก้ไขเยียวยาความเสียหาย รวมทั้งมีสิทธิรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค
ให้มีองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนผู้บริโภค ทำหน้าที่ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานของรัฐในการตราและการบังคับใช้กฎหมายและกฎ และให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งนี้ ให้รัฐสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการขององค์การอิสระดังกล่าวด้วย