ลุ้นผลสอบการประมูล 3 จี หลัง กสทช. ตั้งคณะทำงานตรวจสอบเอกชนที่เสนอราคา พร้อมยึดกรอบ 3 หลักเดินหน้าตรวจสอบ ล่าสุดยังเลื่อนออกใบอนุญาตให้กับ 3 ค่าย มือถือ ขณะที่ บอร์ด กทค.
เดินหน้าการประมูลมีความถูกต้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน หลังมีผู้ร้องเรียนถึงอำนาจการรับรองผลประมูล
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ในขณะนี้ได้มอบหมายให้คณะทำงานตรวจสอบพฤติกรรมการเสนอราคาของผู้เข้าร่วม ประมูลคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์เพื่อให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3 จี ซึ่ง กสทช.ได้เปิดประมูลไปเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ที่ผ่านมา โดยคณะทำงานฯ จะใช้หลักเกณฑ์ในการพิจารณา ประเด็นผู้ประกอบการที่เข้าร่วมประมูลไม่มีการเสนอราคาประมูล และผู้ประกอบการมีพฤติกรรมการฮั้วประมูลหรือไม่นั้น โดยใช้องค์ประกอบหลัก 3 ข้อ ได้แก่ 1. พระราชบัญญัติ ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 , 2.ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 และ 3. ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อน ที่สากล (International Mobile Telecommunications - IMT) ย่าน 2.1 กิกะเฮิรตซ์ พ.ศ. 2555
อย่างไรก็ตามหากผลสอบออกมาในทางลบหรือผู้ประกอบการมีความผิดเข้าข่ายฮั้ว ประมูลจริงทุกอย่างคงต้องยุติในทันที แต่หากผลสอบออกมาเป็นบวก กสทช. ก็จะขอดูรายละเอียดในการพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง โดยการประมูลที่ผ่านมามีเพียง 2 รายเท่านั้นที่ไม่มีการเคาะราคาในการประมูล
นอกจากนี้นายฐากร ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า คณะทำงานชุดเดิม จะใช้เวลาในการตรวจประเด็นดังกล่าวภายใน 15 วัน โดยจะครบกำหนดในวันที่ 10 พฤศจิกายนนี้ แต่ล่าสุดคาดว่าจะไม่สามารถดำเนินการได้ทันเวลาจึงอาจจะขอขยายเวลากับทาง สำนักงานออกไปอีก
ทั้งนี้กำหนดการเดิมในการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สามให้แก่ ผู้ชนะการประมูลในครั้งนี้คือจะต้องออกภายหลังจากผู้ชนะการประมูลภายใน 90 วัน นับจากวันที่ได้รับหนังสือแจ้งเป็นผู้ชนะการประมูล หรือในวันที่ 16 มกราคม 2556 คาดว่าอาจจะไม่ทันเวลาดังกล่าวหากยังไม่ได้ผลสรุปจากหน่วยงานต่างๆที่กำลัง ตรวจสอบการประมูลเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2555
"กสทช. จะออกใบอนุญาตให้กับเอกชนได้ก็ต่อเมื่อรู้ผลจากผู้ตรวจการแผ่นดิน และผลจากป.ป.ช. รวมไปถึงผลจากคณะทำงานตรวจสอบจาก กสทช.แล้วว่าการประมูล3G ที่ผ่านมาโปร่งใสไร้ข้อกล่าวหาจริง"
นอกจากนี้ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) 4 คน นำโดย พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธาน กทค. นายสุทธิพล ทวีชัยการ นายประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร ได้เข้ายื่นเอกสารเพิ่มเติมต่อคณะผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อยืนยัน ความโปร่งใสกับอำนาจในการรับรองผลการประมูล ต่อนางผานิต นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายศรีราชา เจริญพานิช นายประวิช รัตนเพียร ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีมีการร้องเรียนขอให้ตรวจสอบการประมูลคลื่นความถี่ 3G ของคณะกรรมการ กสทช.
โดยได้ชี้แจงว่า กทค.มีอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 มาตรา 40 ที่ให้กทค.มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติการใดๆ แทนกสทช.ตามมาตรา 27 (4) ให้พิจารณาอนุญาตและกำกับดูแลการใช้คลื่นความถี่และเครื่องวิทยุคมนาคมในการ ประกอบกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม และกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตเงื่อนไขหรือค่าธรรมเนียม
นางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาส ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ระบุว่า สัปดาห์หน้าคาดว่าจะได้ข้อสรุปว่าจะส่งเรื่องไปให้ศาลไต่สวนหรือไม่ เพราะต้องนำเรื่องร้องเรียนอีก 3 เรื่อง ก่อนหน้านี้ ทั้งของกลุ่มนายสุริยะใส กตะศิลา กลุ่มอดีตสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท ทีโอทีฯ และคณะกรรมาธิการฯ ของนายไพบูลย์ มาพิจารณาร่วมด้วย โดยระหว่างที่ผู้ตรวจการฯยังไม่ได้ข้อสรุป อำนาจออกใบอนุญาต 3 จี ให้เอกชน จะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของ กสทช.
ข้อมูลจาก นสพ.ฐานเศรษฐกิจ
5 พ.ย. 55