กำลังกลายเป็นที่ถกเถียงอยู่ในขณะนี้กรณีที่ผู้ประกอบการค่ายมือถือ ไล่เลียงตั้งแต่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส, บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค
และบริษัทในเครือกลุ่มทรู ได้มีการยื่นหนังสือถึง กทค.(คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม) เกี่ยวกับการจัดเก็บค่าบริหารจัดการเลขหมายในระบบ จากผู้ใช้บริการไม่มีการใช้งานติดต่อกัน 30 วัน วันละ 1 บาทจนกว่าจะมีการใช้บริการ
ส่งผลให้คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม นำโดย นางสาวสารี อ๋องสมหวัง ประธาน คณะอนุกรรมการฯ และ นายศิริศักดิ์ ศุภมนตรี และคณะ ได้ยื่นหนังสือต่อ พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม หรือ กทค. เพื่อเสนอเงื่อนไขประกอบการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเรียกเก็บเงิน ล่วงหน้าระบบเติมเงิน (พรีเพด)
*** ย้อนรอยกินฟรี
เป็นเพราะผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบเติมเงิน หรือ พรีเพด มีการร้องเรียนถึง กสทช. กรณีที่ "เงินยังไม่หมด" แต่มือถือโดนตัด ส่งผลให้ กสทช. ได้ออกประกาศเรื่องมาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ว่า ไม่ว่าจะเติมเงินในราคาเท่าใด แม้กระทั่งต่ำสุด 10 บาท จะต้องมีวันใช้งานได้ไม่ต่ำกว่า 30 วัน และเมื่อเติมเงินไปแล้วจะเพิ่มกับจำนวนวันที่มีอยู่รวมถึงเพิ่มระยะเวลาการ สะสมวันสูงสุด 365 วัน
แต่ทว่าเรื่องการกำหนดวันหมดอายุ กสทช. ได้ออกประกาศไปแล้วตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปี 2555 แต่กว่าเรื่องนี้จะสรุปลากยาวถึงเดือนมกราคม 2556 ทั้ง ๆ ที่ กสทช. ขู่จะปรับวันละ 1 แสนบาท
ทั้งนี้ก่อนที่ กสทช.จะออกประกาศดังกล่าวทั้ง 3 ค่ายมือถือ คือ เอไอเอส-ดีแทค และ ทรูมูฟ ได้ชี้แจงถึงปัญหาทางด้านเทคนิคทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขของทาง กสทช. ได้ เนื่องจากต้องเสียเงินค่าธรรมเนียมเลขหมายโทรคมนาคมให้กับ กสทช. เดือนละ 1.07 บาทต่อเลขหมายต่อเดือน หากบัตรเติมเงินไม่มีการกำหนดวันหมดอายุแล้วผู้ใช้บริการหมายเลขนั้นไม่มี การใช้งาน ไม่มีการเติมเงินเลย ต้นทุนจะตกเป็นภาระของผู้ให้บริการ และ ถ้าไม่กำหนดวันหมดอายุจะไม่สามารถนำเลขหมายกลับไปหมุนเวียนใช้งานใหม่ได้ ทำให้ต้องจัดสรรหมายเลขใหม่เพิ่มเติมไปเรื่อยๆ
*** ค้ากำไรเกินควร
ก่อนหน้านี้ นายศิริศักดิ์ ศุภมนตรี อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม กล่าวภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม เมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมาว่า เอไอเอส จะขอเก็บค่าบริหารจัดการเลขหมายในระบบ จากผู้ใช้บริการไม่มีการใช้งานติดต่อกัน 30 วัน เอไอเอส จะเก็บค่าบริหารเลขหมายแก่ผู้ใช้บริการรายนั้นวันละ 1 บาทจนกว่าจะมีการใช้บริการ
*** ยกเลิกมติ 30 วัน
หลังจากอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม ของ กสทช. ออกมาเคลื่อนไหวไม่เห็นด้วยในเรื่องการจัดเก็บค่ารักษาเลขหมาย 1 บาท
ล่าสุด นางสาวบุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค เปิดเผยว่า ได้ส่งหนังสือต่อ กสทช. เพื่อทบทวน การกำหนดอายุระบบเติมเงิน เพราะเห็นว่าเป็นสิทธิของผู้บริโภค ที่ยังมีเงินเหลือในระบบ จึงยังใช้บริการต่อได้โดยเอกชนไม่ควรกำหนดระยะเวลาวันหมดอายุในระบบเติมเงิน ทั้งนี้บอร์ดสั่งห้ามไปแล้วและมีผลตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2555 แต่เมื่อต้นปีที่ผ่านมาคณะกรรมการบอร์ด กทค. กลับมีมติอนุมัติให้ผู้ประกอบการเอกชนกำหนดวันหมดอายุได้ใหม่ 30 วัน
*** 3 ค่ายตั้งท่าเช็กบิล
ขณะที่ นายปกรณ์ พรรณเชษฐ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายการตลาด ของ ดีแทค เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการทั้ง 3 รายได้ตกลงและเห็นพ้องร่วมกันเนื่องจากเลขหมายที่ผู้ใช้บริการไม่ได้มีการ ใช้งานทั้งโทร.เข้า-ออก และต้นทุนจากเลขหมายที่แต่ละผู้ให้บริการขอจัดสรรจาก กสทช.ราคาต้นทุนที่แท้จริง ไม่ใช่เลขหมายละ 2 บาท แต่ยังมีต้นทุนอื่นๆ ที่แต่ละผู้ให้บริการมี โดยต้นทุนของ ดีแทค จำนวน 1 เลขหมาย ราว 10-15 บาท ดังนั้น กสทช.ควรต้องคำนึงถึงค่าบำรุงรักษาเลขหมายในระบบด้วย
อย่างไรก็ตามการเก็บค่ารักษาเลขหมาย ดังกล่าว มีขึ้นเพื่อช่วยลดปริมาณหมายเลขในตลาด เพราะพฤติกรรมการใช้งานของผู้บริโภคชาวไทยจะนิยมเปลี่ยนซิมใหม่ ส่วนซิมเก่าก็ทิ้งไว้มีอยู่ประมาณ 10-20 ล้านเลขหมาย ดังนั้นในการคิดบริการค่ารักษาเลขหมายจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อไม่มีการใช้งาน เกิน 30 วัน หากลูกค้ายังมีการใช้งานอย่างต่อเนื่องก็จะไม่มีการคิดค่าบริการดังกล่าวแต่ อย่างใด
"ถ้าไม่มีการใช้งานเกิน 30 วัน โอกาสที่ลูกค้าจะกลับเข้าระบบมีน้อยมาก การขอเก็บค่ารักษาเลขหมายก็เป็นเหมือนข้อกำหนด ที่ช่วยให้ลูกค้าที่ไม่ใช้งานปิดเบอร์ และนำเบอร์กลับมาให้บริการลูกค้ารายอื่นต่อไปแทน เป็นการช่วยรักษาทรัพยากรของชาติด้วยเช่นเดียวกัน และเชื่อว่าท้ายที่สุดแล้วก็จะมีข้อยุติออกมา"
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,827 วันที่ 17 - 20 มีนาคม พ.ศ. 2556