นักวิชาการสวดกสทช. ไร้น้ำยาดูแลผู้บริโภค

คณะอนุกรรมการฯ จวก กสทช.ไร้น้ำยา ไม่เอาผิดผู้ประกอบการในหลายกรณี นักวิชาการฝากถาม กสทช. อยากให้ชี้แจง กรณีการแบ่งสัดส่วนทีวีดิจิตอล

ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม กล่าวภายในงานสัมมนา "2556 ปีทองการคุ้มครองผู้บริโภค และการเปลี่ยนผ่านสู่ทีวีดิจิตอล" ว่า จากที่ได้สำรวจและหาข้อมูลมานั้น พบว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ยังไม่สามารถบังคับใช้กฏหมายอย่างจริงจัง ทำเหมือนกฎระเบียบไร้ความหมาย ซึ่งมีตัวอย่างหลายกรณี อาทิ ตู้เติมเงินมือถือหลายราย ชาวบ้านเติมเงิน 12 บาท แต่ระบบเติมให้เพียง 10 บาท ประเมินความเสียหายของรายย่อยเหล่านี้นับหมื่นล้านบาทต่อปี และยังมีการบริการโรมมิ่งเครือข่าย เมื่อเดินทางไปต่างประเทศ เอกชนควรแจ้งเตือนว่าใช้เงินไปเท่าไร เช่น 5,000, 10,000 บาท แต่ไม่ใช่กลับมาแล้วเรียกเก็บนับแสนบาท ขณะที่การส่ง SMS เพื่อขายบริการ ขณะนี้ก็ยังมีการกระทำอยู่ไม่หายไป การจัดค่าบริการเกิน 99 สตางค์ต่อนาที ยังเห็นผู้ประกอบการให้บริการอยู่ โดย กสทช.ไม่ดำเนินการใดๆ เลย

ทั้งนี้การร้องเรียนจากประชาชนเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 4-5 พันรายต่อปี จากความเดือดร้อนในการใช้โทรศัพท์มือถือ ตามกฎหมายกำหนดให้เมื่อรับเรื่องร้องเรียนต้องแก้ไขให้เสร็จภายใน 30 วัน แต่การทำงานของ กสทช.ล่าช้ามาก เพราะมีเรื่องร้องเรียนค้างจำนวนมากนับพันเรื่อง และมีเรื่องค้าง 750 เรื่อง ที่ใช้เวลา 2 เดือน และบางเรื่องเกิน 6-7 เดือน นับว่าล่าช้ามาก

นอกจากนี้ ยังมีนักวิชาการบางส่วน ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกรณีที่ กสทช.มีการซื้อพื้นที่สื่อสาธารณะในการเผยแพร่ข่าวสาร ทั้งนี้ หลายฝ่ายมีความเห็นตรงกันว่า เป็นการบิดเบือนข่าวสาร เนื่องจากบางข่าวเสนอเพียงด้านเดียว ไม่ใช่ข้อเท็จจริงทั้งหมด

ด้าน รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า ทุกวันนี้ ยังหาคนที่อธิบายแบบง่ายๆ ไม่ได้ว่า ทำไมจะต้องเปลี่ยนจากระบบอะนาล็อกเป็นระบบดิจิตอล และสิ่งที่กังวลมากที่สุดตอนนี้คือ การจัดผังรายการในประเภทช่องบริการสาธารณะ ซึ่งหากจะต้องมีการประมูลช่องสาธารณะนั้น จะต้องมีบุคคลที่น่าเชื่อถือและเชี่ยวชาญ ทำไมไม่มีบุคคลเหล่านั้นในคณะอนุกรรมการการประมูล ส่วนตัวมีความเห็นว่า การจัดสัดส่วนดังกล่าว จะเป็นการเปิดช่องให้มีการคอรัปชั่นในรัฐบาลมากขึ้น อีกทั้งจะเป็นการทำให้เอกชนไม่สามารถมีสิทธิเข้ามาผลิตรายการที่มีความคิด สร้างสรรค์ และควรประชาสัมพันธ์พร้อมให้ความรู้กับประชาชนให้มากกว่านี้

ด้าน นางสุวรรณา สมบัติรักษาสุข ผู้อำนวยการสถานีวิทยุจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กสทช. ควรชี้แจงเหตุผลรวมถึงเรื่องการกำหนดสัดส่วนช่องต่างๆ ให้ชัดเจนด้วย.

ข้อมูลจาก นสพ.ไทยโพสต์ 22/3/56

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน