หมอลี่ปิดทางคลื่น1800ซิมดับ

"หมอลี่" แจงหลังสุดสัมปทานคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์  กสทช. ต้องเร่งจัดการประมูลคลื่นเพื่อให้เกิดบริการรายใหม่เข้าสู่ตลาด ควรเร่งรัดให้ผู้ประกอบการขยายขีดความสามารถการโอนย้ายค่าย รองรับผู้ใช้บริการที่ไม่ต้องการเสียสิทธิในเลขหมายเดิม

 

ส่วนการยืดสิทธิถือครองคลื่นโดยอ้างว่าเป็นการเยียวยาผู้บริโภคนั้นทำไม่ได้ เพราะผิดกฎหมายเต็มที่และขัดต่อหลักการเปลี่ยนผ่านจากยุคสัมปทานสู่ยุคการ ออกใบอนุญาต

นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา (หมอลี่)  กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ  (กสทช.) ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม เปิดเผยถึงกรณีที่สัญญาสัมปทานคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ในส่วนที่บริษัท ทรูมูฟ จำกัด และบริษัท ดิจิตอล โฟน จำกัด ให้บริการอยู่กำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 15 กันยายน 2556 ว่า ขณะนี้ กสทช. ได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมสำหรับการบริหารคลื่นความถี่วิทยุ คมนาคมระบบเซลลูลาร์ DIGITAL PCN (Personal Communication Network) 1800 ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิทั้งภายในและภายนอก กสทช. ซึ่งคณะอนุกรรมการก็ได้จัดทำข้อเสนอต่อ กทค. แล้ว โดยแนะนำให้เน้นเรื่องการประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลผู้บริโภคแต่เนิ่นๆ และการเพิ่มประสิทธิภาพการคงสิทธิเลขหมายเช่นเดียวกัน

พร้อมกันนั้น คณะอนุกรรมการฯ ยังได้เสนอให้ กทค. จัดหาและมอบหมายผู้รับผิดชอบในการดำเนินการสำหรับการประมูลคลื่นความถี่ ซึ่งจะต้องดำเนินการในสองส่วน ได้แก่ การจัดทำหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์และการประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ ซึ่งที่ประชุม กทค. เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบต่อข้อเสนอของคณะอนุกรรมการฯ แล้ว แต่ในทางปฏิบัติกลับพบว่า มีการสั่งการนอกรอบให้คณะอนุกรรมการฯ จัดทำแนวทางการโอนย้ายผู้ใช้บริการและแนวทางป้องกันซิมดับ โดยยังไม่ต้องคำนึงถึงประเด็นข้อกฎหมาย อันเป็นที่มาให้คณะอนุกรรมการเสนอว่า เห็นควรให้มีการขยายการให้บริการอย่างต่อเนื่องต่อไป ซึ่งอาจทำโดยบริษัท กสท ฯ (มหาชน) หรือโดยเอกชนคู่สัมปทาน นี่จึงเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับที่ บมจ. กสท หรือ CAT เรียกร้องมาโดยตลอด และคราวนี้ยังเริ่มเปิดช่องเพิ่มไปถึงทรูมูฟด้วย

แนวทางดังกล่าวคือการทำผิดกฎหมายและจะไม่ส่งผลดีต่อผู้ใช้บริการอย่างแท้ จริง โดยจะเป็นเพียงการยืดเวลาของเหตุการณ์ซิมดับออกไป แต่เมื่อไรที่การจัดประมูลคลื่นเสร็จสิ้นและมีการอนุญาตใช้คลื่นความถี่และ การอนุญาตประกอบกิจการแก่ผู้ชนะการประมูลแล้ว การให้บริการในระบบเดิมนั้นก็ต้องยุติลงอยู่ดี เนื่องจากสิทธิถือครองและใช้คลื่นความถี่ย่อมเป็นของผู้ชนะประมูลที่ไม่อาจ ล่วงละเมิดได้ ดังนั้นถึงอย่างไรก็ย่อมจะเกิดช่องว่างหรือภาวะซิมดับในช่วงเวลาระหว่างที่ รอผู้ชนะการประมูลเตรียมการจัดสร้างโครงข่ายและระบบต่างๆ สำหรับบริการใหม่


"ผมบอกได้เลยว่า การอ้างเรื่องป้องกันซิมดับเป็นเรื่องหลอกลวง เพราะถึงอย่างไรซิมก็ต้องดับ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง การขยายเวลาจึงไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไรแก่ผู้บริโภค แต่แน่นอนว่าจะช่วยผู้ประกอบการให้หารายได้กันต่อไป ปัญหาก็คือในการขยายเวลาบริการก็เท่ากับการไปขยายเวลาการใช้คลื่นความถี่และ ขยายอายุการอนุญาต รวมทั้งขยายอายุสัมปทานด้วย ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องขัดกฎหมาย ขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญที่กำหนดให้กิจการโทรคมนาคมไทยต้องหลุดพ้นจากยุค สัมปทาน" นายประวิทย์กล่าว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,827  วันที่  17 - 20  มีนาคม พ.ศ. 2556

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน