ศาลปกครองกลางพิพากษายกฟ้องคดีที่เอไอเอสเป็นโจทย์ฟ้อง กทช. ตุลาการผู้แถลงคดีชี้การออกคำสั่งห้ามเรียกเก็บค่าเชื่อมต่อสัญญาณโทรศัพท์ภายหลังถูกระงับบริการ จำนวน 107 บาท ชอบด้วยเหตุผลและกฎหมายแล้ว กสทช. ประวิทย์เรียกร้องผู้ให้บริการปฏิบัติตามคำสั่งที่ถูกต้อง
สืบเนื่องจากกรณีที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม หรือ กทช. ได้ออกคำสั่งที่ 08/2552 เรื่อง ห้ามมิให้ผู้รับใบอนุญาตเรียกเก็บค่าบริการการขอเปิดใช้บริการภายหลังถูกระงับการให้บริการ จำนวน 107 บาท ตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2552 และ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอส ในฐานะผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ของประเทศ เห็นว่าคำสั่งของ กทช. ออกโดยไม่ชอบ จึงฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ตั้งแต่เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 เป็นคดีดำที่ 1808/2552 ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา องค์คณะตุลาการศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาคดีดังกล่าวแล้ว โดยมีคำตัดสินเป็นที่สุดว่าให้ยกฟ้อง เนื่องจากโจทก์ยื่นฟ้องพ้นกำหนดระยะเวลา
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านั้น ตุลาการผู้แถลงคดีได้พิจารณาในส่วนเนื้อหาคดี และชี้ว่า คำสั่งของ กทช. ชอบทั้งเหตุผลและกฎหมายแล้ว
“นั่นหมายถึงว่า ตุลาการผู้แถลงคดีเห็นด้วยกับ กทช. ว่า ผู้ประกอบกิจการไม่มีสิทธิเรียกเก็บค่าเชื่อมต่อสัญญาณใหม่ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนเท่าใด ส่วนศาลนั้นไม่ได้พิจารณาเนื้อหา เนื่องจากเพียงพิจารณาประเด็นแรกเรื่องเงื่อนไขการฟ้องก็ไม่ผ่านแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ผมก็หวังว่า ผู้ประกอบการจะยอมรับและทำตามกติกา เพราะก่อนหน้าที่ กทช. จะมีคำสั่งนี้ออกมา ต้องถือว่าผู้ประกอบการเรียกเก็บเงินอันไม่ควรได้จากผู้บริโภคไปมากแล้ว” นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือ กสทช. กล่าว
นายประวิทย์ กล่าวถึงความเป็นมาของเรื่องนี้ว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาก่อนปี พ.ศ. 2552 นั้น ทางผู้ให้บริการโทรศัพท์ ทั้งประเภทพื้นฐานและเคลื่อนที่ ต่างมีการเรียกเก็บค่าเปิดบริการใหม่หลังระงับบริการ หรือค่า reconnection charge จากผู้ใช้บริการหรือผู้บริโภคมาอย่างต่อเนื่อง ในฐานะที่ทราบกันว่าเสมือนเป็นบทลงโทษสำหรับผู้บริโภคที่ชำระค่าบริการล่าช้าจนกระทั่งเกิดการระงับบริการหรือตัดสัญญาณโทรศัพท์ ดังนั้นเมื่อนำเงินไปชำระและขอต่อสัญญาณใหม่ ก็จะมีการเรียกเก็บเงินจำนวน 100 บาท หรือบางรายเรียกเก็บถึง 200 บาท รวมภาษีมูลเพิ่มแล้วเป็นจำนวน 107 บาท และ 214 บาท ตามลำดับ
ทั้งนี้ คำสั่งของ กทช. ที่ห้ามเก็บเงินดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากมีกรณีร้องเรียนจากผู้บริโภค ที่เห็นว่า การเรียกเก็บเงินนี้เป็นการทำผิดกฎหมาย เพราะอยู่นอกกรอบค่าบริการที่ กทช. อนุญาต อีกทั้งในข้อเท็จจริงแล้ว ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเปิดสัญญาณใหม่ให้ใช้บริการโทรศัพท์นั้นแทบไม่ต้นทุนใดๆ เนื่องจากเป็นการต่อผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ กทช. ต้องวินิจฉัยเรื่องนี้และออกคำสั่งห้ามดังกล่าวเป็นการทั่วไป