สัญญา 3G อย่าให้เป็นค่าโง่รอบใหม่

ในที่สุดคณะอนุกรรมการตรวจสอบสัญญาทำการตลาดรูปแบบใหม่เพื่อให้บริการ ระบบ 3G (สัญญา 3G) ที่มีคู่สัญญาเป็นบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) รัฐวิสาหกิจด้านโทรคมนาคมรายหนึ่งกับบริษัทผู้ให้บริการระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ ชุดที่มีนายเมธี ครองแก้ว ซึ่งเป็นกรรมการ ป.ป.ช. และเป็นประธานอนุกรรมการฯ ที่อยู่ภายใต้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็ได้สรุปข้อเท็จจริงเบื้องต้นพร้อมกับแจ้งข้อกล่าวหาต่ออดีตกรรมการผู้ จัดการใหญ่ของรัฐวิสาหกิจรายดังกล่าว ในฐานะที่เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการทำสัญญาดังกล่าว โดยถือว่าเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยมิชอบหรือโดยทุจริต ตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งทางฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาต้องดำเนินการแก้ต่างและหาพยานหลักฐานมาหักล้างข้อ กล่าวหาดังกล่าวต่อไป

การตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีสัญญา 3G นี้ นอกจากจะดำเนินการโดยคณะอนุกรรมการของ ป.ป.ช. ดังกล่าวแล้ว ยังมีหน่วยงานอื่นที่เข้ามาทำการตรวจสอบในเรื่องเดียวกัน ได้แก่คณะอนุกรรมการตรวจสอบชุดของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอซีที)

ซึ่งมี พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย เป็นประธาน ซึ่งในส่วนคณะอนุกรรมการชุดของกระทรวงไอซีทีก็ได้ทำการสรุปความเห็นทั้งหมด ตลอดจนรวบรวมรายละเอียดที่เกี่ยวข้องเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที ตัดสินชี้ขาด โดยเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2555 ที่ผ่านมาก็มีข่าวปรากฏว่ารัฐมนตรีกระทรวงไอซีทีได้สั่งการด้วยวาจาให้รัฐ วิสาหกิจคู่สัญญาชะลอการดำเนินการใด ๆ ที่ต่อเนื่องกับสัญญาออกไปก่อนจนกว่าจะมีความชัดเจนจากการตรวจสอบทั้งหมด สิ่งที่ต้องติดตามต่อไปก็คือรัฐมนตรีไอซีทีในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดผู้กำกับ ดูแลรัฐวิสาหกิจที่เป็นคู่สัญญาจะสั่งให้รัฐวิสาหกิจรายนั้นทำการยกเลิก สัญญาที่ทำกับบริษัทผู้ให้บริการ โดยอ้างเหตุว่าสัญญาดังกล่าวมีเนื้อหาที่ขัดต่อกฎหมายตามที่กล่าวข้างต้น หรือไม่

แม้โดยอำนาจหน้าที่รัฐมนตรีกระทรวงไอซีที ซึ่งกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจรายดังกล่าวอาจสั่งให้ยกเลิกสัญญาที่อาจเห็นว่าขัด ต่อกฎหมายได้ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงและคาดหมายได้ก็คือบริษัท ผู้ให้บริการซึ่งเป็นคู่สัญญาคงจะนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ หรือยื่นฟ้องศาลเพื่อให้วินิจฉัยว่าการเลิกสัญญาดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย พร้อมกับเรียกค่าเสียหายจากหน่วยงานของรัฐที่ทำการบอกเลิกสัญญา จนอาจทำให้รัฐต้องชดใช้ค่าเสียหายจำนวนมาก หรือที่เคยเรียกว่าต้องจ่าย “ค่าโง่” ให้แก่บริษัทเอกชนได้

เหตุการณ์ในทำนองนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ของรัฐหลาย ครั้ง ตัวอย่างเช่น คดีที่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ฟ้องการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ซึ่งเป็นคู่สัญญาโครงการสร้างทางรถไฟยกระดับ และเรียกค่าเสียหายกว่า 12,000 ล้านบาท โดยอ้างว่า ร.ฟ.ท. ยกเลิกสัญญาโดยไม่เป็นไปตามขั้นตอนของสัญญาและไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้ ร.ฟ.ท. อ้างว่าเหตุที่ต้องบอกเลิกสัญญากับโฮปเวลล์เป็นเพราะทำการก่อสร้างโครงการ ล่าช้าอย่างมาก และไม่เป็นไปตามสัญญา แต่ทางโฮปเวลล์ก็อ้างว่าเหตุที่ล่าช้าเนื่องจาก ร.ฟ.ท. ส่งมอบพื้นที่ล่าช้า จนในที่สุดคณะอนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัยให้กระทรวงคมนาคม และ ร.ฟ.ท. ชดใช้เงินคืนแก่โฮปเวลล์ถึง 12,388 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5

นอกจากนี้ยังมีกรณีของสัญญาสัมปทานทางยกระดับโทลล์เวย์ ซึ่งหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งกรมทางหลวงและกระทรวงคมนาคมยอมให้มีการ ทำบันทึกข้อตกลงจำนวน 3 ฉบับ มีเนื้อหาเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัมปทานฉบับเดิมไปในลักษณะที่ยอมให้บริษัท เอกชนคู่สัญญาได้ประโยชน์จากการสร้างทางยกระดับในบางช่วง โดยรัฐเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายและยอมให้บริษัทเอกชนคู่สัญญาได้ขยายระยะเวลา

ในการบริหารโครงการนานขึ้นอีก 20 ปี และที่สำคัญคือสามารถขึ้นราคาค่าผ่านทางได้ตามที่บริษัทเอกชนเป็นผู้กำหนด โดยไม่ต้องขออนุญาตจากหน่วยงานของรัฐ ต่อมาเมื่อรัฐบาลไม่ทำตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวเพราะเห็นว่าเป็นสัญญาที่รัฐ เสียเปรียบและทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนกลับถูกบริษัทคู่สัญญานำข้อ พิพาทเข้าร้องต่อคณะอนุญาโตตุลาการจนมีคำตัดสินให้รัฐบาลไทยชดใช้ค่าเสียหาย เป็นเงินประมาณ 30 ล้านยูโร หรือประมาณ 1,200 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยและค่าดำเนินการของคณะอนุญาโตตุลาการอีกเกือบ 80 ล้านบาท

จากกรณีตัวอย่างที่นำเสนอข้างต้น จึงเป็นสิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องกับกรณีสัญญา 3G ควรนำมาเป็นข้อพิจารณาในการดำเนินการใด ๆ ว่าต่อจากนี้ต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง แม้ในชั้นนี้อาจจะมีความเห็นในเบื้องต้นว่าเนื้อหาของสัญญาหรือสัญญาดัง กล่าวอาจไม่ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย แต่ความเห็นดังกล่าวก็ยังไม่เป็นที่ยุติ การที่ฝ่ายการเมืองมีคำสั่งให้รัฐวิสาหกิจในการกำกับดูแลกระทำการใด ๆ กับคู่สัญญา หากไม่พิจารณาให้ถี่ถ้วนก็อาจเกิดกรณีที่ทำให้รัฐต้องกลายเป็นผู้ชดใช้ค่า เสียหายจำนวนมากให้แก่บริษัทเอกชนได้ ซึ่งในกรณีของสัญญาการให้บริการ 3G ดังกล่าวเคยมีผู้ออกมาให้ข่าวว่าสำนักงานอัยการสูงสุดก็เคยให้ความเห็นถึง ความถูกต้องของสัญญาดังกล่าวมาแล้ว

ดังนั้นสิ่งที่กระทรวงไอซีทีควรดำเนินการหากเห็นว่าสัญญาดังกล่าวไม่ถูกต้อง ก็คือการนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการคณะอนุญาโตตุลาการหรือยื่นฟ้องศาลเพื่อให้ องค์กรฝ่ายตุลาการที่เป็นกลางได้มาเป็นผู้วินิจฉัยในสัญญาดังกล่าวจนกระทั่ง คดีถึงที่สุดเสียก่อน การดำเนินการในลักษณะหักด้ามพร้าด้วยเข่าด้วยความมั่นใจมากเกินไป ในที่สุดอาจเป็นการทำให้รัฐต้องสูญเสียเงินงบประมาณเป็น “ค่าโง่” ให้แก่บริษัทเอกชนโดยที่บริษัทเอกชนไม่จำเป็นต้องเสียเวลาดำเนินงานให้ครบ ระยะเวลาตามโครงการ ถึงตอนนั้นอาจไม่มีใครรวมทั้งผู้ที่สั่งการมีความสามารถมากพอที่จะรับผิดชอบ กับความเสียหายที่เกิดกับประเทศได้.

รุจิระ บุนนาค
http://www.dailynews.co.th/technology/137244
นสพ.เดลินิวส์  23/7/55

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน