++ ทีวีพูลเจรจาลิขสิทธิ์โอลิมปิกเพิ่ม
จากงานเสวนาดังกล่าวได้มีการพูดถึงการซื้อลิขสิทธิ์ของการถ่ายทอดสดการแข่ง ขันกีฬาโอลิมปิก 2012 และฟุตบอลโลก 2014 ซึ่งโอลิมปิกถูกจัดซื้อผ่านทีวีพูล หรือ โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทรท.) ประกอบด้วย ฟรีทีวีช่อง 3 ,5 ,7, 9 และฟุตบอลโลก 2014 ผู้ได้ลิขสิทธิ์มาคือ บมจ.อาร์เอส
สำหรับลิขสิทธิ์โอลิมปิก 2012 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ จะเริ่มแข่งขันระหว่างวันที่ 27 กรกฎาคม - 12 สิงหาคม 2555 ทีวีพูล และช่อง 11 เป็นสมาชิกของสหภาพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ภาคพื้นเอเชียและ แปซิฟิก (Asia-Pacific Broadcasting Union : ABU)
เอบียู เป็นตัวแทนสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีในเอเชีย ไปประมูลลิขสิทธิ์การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก จากคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (International Olympic Committee :IOC) แล้วนำมากระจายสิทธิให้กับสมาชิกเพื่อไปถ่ายทอดสด ซึ่งลิขสิทธิ์ที่ทีวีพูลและช่อง 11 ซื้อมาเป็นลิขสิทธิ์ฟรีทีวี อะนาล็อก ภาคพื้นดิน (Terrestrial television) เพียงอย่างเดียว รับชมได้ผ่านเสาก้างปลา หรือเสาหนวดกุ้ง เท่านั้น เช่นเดียวกับลิขสิทธิ์ยูโร 2012 ที่เกิดจอดำมาแล้ว
ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้เกิดการวิตกกันว่า โอลิมปิกปีนี้ จะเกิดเหตุจอดำอีกครั้งหรือไม่ ในขณะที่การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกถือเป็นกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ ที่คนไทยควรได้ดูแบบไม่มีข้อแม้หรือเปล่า
เรื่องนี้ นายสุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเมนต์ฯ ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 หนึ่งในสมาชิกทีวีพูล บอกว่า เลขาฯทีวีพูลได้เจรจากับเอบียูในเรื่องลิขสิทธิ์การออกอากาศการถ่ายทอดสด กีฬาโอลิมปิกเพิ่มเติม ในช่องทางการรับชมผ่านจานดาวเทียมและเคเบิลทีวี ซึ่งในการเจรจาทางเทคนิคแล้วไม่ได้ยุ่งยาก เพราะแต่ละประเทศจะเลือกดูเฉพาะกีฬาที่คนในประเทศสนใจ การที่จะมีสัญญาณล้นไปบ้าง ไม่น่ามีปัญหา เพราะคนไม่ได้อยากดูทั้งหมด
ล่าสุด พล.ท.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ประธานทีวีพูล จึงต้องออกมาทำหนังสือชี้แจงว่า การซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดกีฬาสำคัญๆ ที่ผ่านมา จะแบ่งลิขสิทธิ์เป็น 2 ประเภท คือ กลุ่มฟรีทีวีและกลุ่มนิวมีเดีย เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการรับชมของแต่ละประเทศ ในบทบาทกลุ่มฟรีทีวีจะได้รับลิขสิทธิ์เฉพาะภาคพื้นดิน (Terrestrial) เท่านั้น ไม่ได้รวมถึงนิวมีเดีย ได้แก่ อินเตอร์เน็ต, IPTV และอุปกรณ์ระบบมือถือ เนื่องจากลิขสิทธิ์ไม่ครอบคลุม
ส่วนของฟุตบอลโลก 2014 บมจ.อาร์เอส ยืนยันว่า ซื้อมาครบทุกลิขสิทธิ์ (All right) ดังนั้น การรับชมไม่มีปัญหาเรื่องจอดำแน่นอน โดยกล่องรับสัญญาณดาวเทียมที่มีการเข้ารหัส ที่สามารถป้องกันสัญญาณล้นนอกประเทศไทย จะสามารถรับชมการถ่ายทอดได้เช่นกัน
++ระเบียบ Must Carry แก้ปมปัญหา
ปัญหาจอดำที่ถูกหยิบยกมาประเด็นใหญ่ตั้งแต่การถ่ายทอดยูโร 2012 ทำให้มีการดึงประเด็นการวางระเบียบ Must Carry สำหรับฟรีทีวีขึ้นมาพูดถึง และเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ก่อนจบฤดูการแข่งขันยูโร 2012 และปัญหานี้ ยิ่งกลายเป็นประเด็นเร่งด่วนมากขึ้น เมื่อโอลิมปิกก็ส่อเค้าที่จะจอดำไปด้วย กับประเด็นของแพลตฟอร์มการออกอากาศของฟรีทีวี ที่ปัจจุบัน มีทั้งการออกอากาศผ่านระบบภาคพื้นดิน และผ่านสัญญาณดาวเทียม
กสทช.ได้เร่งเครื่องด้วยการเตรียมออกกฎระเบียบ Must Carry เพื่อทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงช่องรายการฟรีทีวีได้อย่างไม่มีข้อจำกัดใน การเข้าถึงในทุกแพลตฟอร์ม และทุกโครงข่าย ดังนั้น ผู้ประกอบการที่ไปเจรจาซื้อลิขสิทธิ์รายการต้องรับรู้ในเงื่อนไขว่า ถ้ามีการเผยแพร่ผ่านฟรีทีวีแล้ว จะต้องให้คนรับชมได้ทุกช่องทาง ไม่จำกัดว่าถ้ารับชมผ่านจานดาวเทียมแล้วจะดูไม่ได้ เหมือนครั้งยูโร 2012 ที่ผ่านมา โดยเดิมทีร่างกฎระเบียบดังกล่าว คาดการณ์ว่ากว่าจะผ่านประชาพิจารณ์ออกมาประกาศในราชกิจจานุเบกษา จะใช้เวลานานถึง 3 เดือน
ล่าสุดวันที่ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมา ร่างดังกล่าวผ่านประชาพิจารณ์ด่วนใน 7 วันแล้ว และรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งทันก่อนโอลิมปิกเริ่มแน่นอน เพราะฉะนั้น ปัญหาโอลิมปิกก็น่าจะจบเรียบร้อยไม่มีปัญหา ไม่มีจอดำแน่นอน
++ลิขสิทธิ์หรือจอดำที่ควรวิตก
ที่ผ่านมา ปัญหาจอดำของการถ่ายทอดฟุตบอลยูโร 2012 ทำให้ บมจ.จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ซึ่งถูกล็อกตัวเป็นจำเลยในคดีแพ่ง ร่วมกับฟรีทีวี 3, 5 และ 9 ผู้รับสิทธิถ่ายทอด ด้วยข้อหาร่วมกันทำละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภคตามกฎหมาย ประชาชนจำนวน 11 ล้านครัวเรือน ไม่สามารถรับชมฟรีทีวีในช่วงถ่ายทอดฟุตบอลยูโร ทั้งๆ ที่เป็นบริการสาธารณะเพื่อประชาชน ซึ่งศาลได้พิจารณา "ยกคำร้อง" ไปแล้วเมื่อวันที่ 29 มิถุนายนที่ผ่านมา
หากแต่ระหว่างความวุ่นวายที่เกิดขึ้น ทำให้ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ต้องเจรจากับสหพันธ์ฟุตบอลยุโรปหรือยูฟ่าถึง 2 ครั้ง เพื่อขอขยายสิทธิการรับชม และสำหรับลิขสิทธิ์การแข่งขันโอลิมปิก ก็เป็นอีกหนึ่งครั้ง ที่ไทยต้องเจรจาเพิ่มลิขสิทธิ์การถ่ายทอด ผู้อยู่ในวงการทีวีไทย รายหนึ่งกล่าวว่า การเจรจาซื้อลิขสิทธิ์ ก็เหมือนกันการเจรจาซื้อขายสินค้าทั่วๆ ไป ซึ่งอยู่ที่เงื่อนไข และวิธีการเจรจา ที่สามารถยืดหยุ่นกันได้ ก่อนหน้านี้ ประเทศไทยไม่เคยมีปัญหาจอดำ ทั้งๆ ที่รูปแบบการซื้อลิขสิทธิ์ไม่ได้แตกต่างไปจากเดิม แต่เนื่องจากแพลตฟอร์มการรับชมมันชัดขึ้น
เมื่อก่อนซื้อ All Right ก็เหมือนได้ลิขสิทธิ์ครอบคลุม แต่เมื่อแพลตฟอร์มชัด จึงต้องมานั่งทำความเข้าใจเรื่องของลิขสิทธิ์ และการเข้าถึงสื่อของผู้ชม มีผ่านแพลตฟอร์มไหนกันบ้าง อย่างฟรีทีวี ก็ควรขยายสิทธิการรับชมให้ครบทุกช่องทาง รวมไปถึงประเภทของกีฬา ที่ถูกเรียกว่า "กีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ" คือ กีฬาอะไรบ้าง แน่นอนคนส่วนใหญ่ของประเทศชื่นชอบกีฬาฟุตบอล แต่เกมการแข่งขันไหน ที่เรียกว่ากีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ และคนทั่วประเทศต้องการรับชมจริงๆ กันแน่
หากได้ข้อสรุปที่ชัดเจน อนาคตความขัดแย้งต่างๆ ก็น่าจะหายไป จัดระเบียบกฎที่ใช้กำกับดูแล จัดระเบียบกีฬา จัดระเบียบคนดู เพื่อไม่ให้ประเทศไทย กลายเป็นที่จับตาว่า มีปัญหาอะไรนักหนากับเรื่องลิขสิทธิ์
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,756 12-14 กรกฎาคม พ.ศ. 2555