กสทช.ไขปมประมูล3จี ฝันที่คนไทยอยากเห็น

การ เปิดประมูล 3 จี ที่เงื้อง่าราคาแพงมานานจนถูกเพื่อนบ้านแซงหน้า ล่าสุด "ผู้สื่อข่าวข่าวสด" ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ไขข้อข้องใจทุกประเด็นพร้อมเฉลยข้อสงสัยเมื่อไหร่บ้านเราจะมี 3 จี ดังต่อไปนี้


-การเปิดประมูล 3 จี ขั้นตอนไปถึงไหนแล้ว

เรื่อง การเปิดประมูล 3 จี ดำเนินการมาได้ครึ่งทางแล้ว กทค.ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการบริหารคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิร์ตซ์ ด้วยเทคโนโลยี 3 จี ดำเนินการในรายละเอียดทั้งหมดจนถึงขั้นการประมูล โดยขั้นตอนระหว่างนี้เป็นการกำหนดคุณลักษณะหลักเกณฑ์ต่างๆ ในการประมูล การเลือกวิธีการประมูล ซึ่งได้ดำเนินการเสร็จสิ้น เหลือประเด็นสุดท้ายคือ การประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ในลักษณะมาร์เก็ตไพรซ์ หรือราคาในตลาดว่าคลื่นความถี่ที่เปิดประมูลมีมูลค่าเท่าไหร่ หลังจากได้ค่าทางการตลาดแล้วก็จะคิดคำนวนค่ารีเสิร์ฟไพรซ์ (ราคาตั้งต้น) ความหมายคือ ถ้ารีเสิร์ฟไพรซ์เท่ากับมาร์เก็ตไพรซ์ก็จบเลย


แต่ ยังต้องมาคำนึงด้วยว่า รีเสิร์ฟไพรซ์ ที่เหมาะสมจะเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของมาร์เก็ตไพรซ์ ซึ่งขณะนี้ทางกสทช. ได้มอบหมายให้นายประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ กรรมการทางด้านเศรษฐศาสตร์ ร่วมกับนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคำนวณหาค่าดัง กล่าว คาดว่า ตัวเลขจะเสร็จในสัปดาห์หน้า แล้วจะนำค่ารีเสิร์ฟไพรซ์เข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการบริหารคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิร์ตซ์ เพื่อกำหนดค่า รีเสิร์ฟไพรซ์ว่ามีมูลค่าเท่าไหร่ และจะมีกระบวนการรับรองโดยบอร์ดกทค. หลังจากนั้นจึงจะเข้าบอร์ด กสทช. ซึ่งคาดว่าร่างหลักเกณฑ์ทั้งหมดจะผ่านกสทช.ปลายเดือนมิ.ย.นี้แล้วจึงนำไปรับ ฟังความคิดเห็นสาธารณะ ใช้เวลา 30 วัน เมื่อเรียบร้อยจะปรับปรุงร่างประกาศ เพื่อประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาบังคับใช้ต่อไป ประมาณเดือนส.ค.2555 น่าจะเสร็จ


นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินการเรื่องอื่นควบคู่ไปด้วยเนื่องจากการสร้างโครงข่าย 3 จี ต้องคำนึงถึงโครงสร้างพื้นฐานหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกันที่เราเรียกว่า อินฟาสตรักเจอร์แชริง ก็ได้ดำเนินการร่างประกาศในการใช้ทรัพยากรร่วมกันด้วย การใช้ร่วมกันจะทำให้การลงทุนต่ำลงประมาณ 20-30% ของการลงทุนทั้งหมดถ้าดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ


ยังมี ในเรื่องของการโรมมิ่ง หรือการโทร.ข้ามโครงข่ายในการสื่อสาร ก็มีการทำร่างประกาศเช่นกัน ทั้งหมดนี้จะทำคู่ขนานไปกับการเปิดประมูล 3 จี ซึ่งทุกอย่างจะไปจบลงในเดือนส.ค. หลังจากนั้นจะมีการประกาศเชิญชวนในการเข้าประมูล 3 จี ประมาณช่วงเดือนก.ย. และการประมูลจะเริ่มในเดือนต.ค.


ถ้าเป็นไปตามกำหนดในปลาย เดือนต.ค.นี้คงจะทราบผล และดำเนินการให้มีการใช้ใบอนุญาตคลื่นความถี่ จากนั้นจะเป็นการสร้างเครือข่าย ประมาณการแล้วจะสามารถสร้างเครือข่ายภายใน 6 เดือนในเมืองใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น หาดใหญ่ ซึ่งทาง กสทช.กำหนดไว้ว่า ผู้ประกอบการกิจการที่ได้รับใบอนุญาตจะต้องสร้างโครงข่ายครอบคลุมประชากร 50% ภายในเวลา 2 ปี และครอบคลุม 80% ภายในเวลา 4 ปี โดยปกติโอเปอเรเตอร์ที่ได้รับใบอนุญาตจะทำได้เร็วกว่านั้น เพราะเขาต้องการได้เงินคืนมาเพื่อลงทุนด้านอื่นต่อไป ขั้นตอนต่างๆ ไปตามกำหนดไม่ได้ดีเลย์แต่ อย่างใด


-วิธีการประมูลเป็นอย่างไร

มี การเปลี่ยนแปลงไปจากครั้งที่แล้ว เมื่อปี 2553 ซึ่งใช้วิธีเอ็นลบหนึ่ง (N-1) แล้วค่อยประมูลหากผู้เข้าร่วมประมูลเท่ากับใบอนุญาต แต่ครั้งนี้ไม่ได้ใช้วิธีเดิม N-1 แต่ใช้อีกวิธีซึ่งมีข้อดีข้อเสียต่างกัน แต่ในสถานการณ์ในวันนี้วิธีที่เลือกคือ การประมูลโดยการแบ่งคลื่นความถี่ 45 เมกะเฮิร์ตซ์ เป็น 9 ชุดความถี่ ชุดละ 5 เมกะเฮิร์ตซ์ โดยกำหนดการประมูลคลื่นสูงสุดไว้ที่ 20 เมกะเฮิร์ตซ์ และเลือกประมูลด้วยวิธีเพิ่มราคาการประมูลทุกสล็อตในเวลาเดียว (Simultaneous ascending bid auction) ซึ่งเป็นวิธีเก่าแก่ที่สุด เพื่อใช้เป็นรูปแบบประมูลคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิร์ตซ์ เหมือนกับเราแบ่งถนนเป็น 9 เลน ให้ผู้ร่วมประมูลเลือกว่าจะประมูลเอากี่เลน ใครมีเงินมากก็ประมูลหลายเลน มีเงินน้อยก็เลือกเลนได้น้อย


ขณะ นี้เรากำหนดว่า ผู้ประมูลมีสิทธิ์ที่จะยื่นประมูลได้สูงสุดไม่เกิน 20 เมกะเฮิร์ตซ์ หรือประมูลได้ 4 เลน หรือ 4 ชุดความถี่ เพื่อให้เกิดการแข่งขัน ซึ่งถ้าทั้ง 3 รายยื่นประมูลรายละ 4 เลน รวม 12 เลน ก็ต้องยื่นประมูลแข่งขันกันในชุดคลื่นความถี่ที่เลือกตรงกัน ซึ่งทำให้มีมูลค่าในการประมูลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนการแข่งขันยุติลง เนื่องจากมูลค่าสูงมากจนไม่มีใครมาแข่ง วิธีการดังกล่าวจะทำให้ฮั้วประมูลยากมาก ถามว่าการฮั้วเกิดขึ้นได้มั้ย ก็มีการฮั้วเกิดขึ้นเหมือนกัน แต่ความสลับซับซ้อนในการประมูลทำให้สมรู้ร่วมคิดกันยากขึ้น ถือเป็นประเด็นที่กสทช.ต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง


อีก ประการหนึ่งคือ การที่จะลดความเสี่ยงในการฮั้วประมูล คือการตั้งรีเสิร์ฟไพรซ์ในราคาที่เหมาะสม ไม่ต่ำเกินไป หรือเป็นตัวกำหนดไว้ว่าจะไม่มีการประมูลที่ต่ำกว่าราคารีเสิร์ฟไพรซ์ ซึ่งจะทำให้รัฐไม่เสียหายในเรื่องรายได้เข้ารัฐเงินจะเข้ารัฐหมด ไม่ใช่กสทช. โดยเชิญดร.พัชรสุทธิ์ สุจริตตานนท์ ผู้เชี่ยวชาญและให้คำแนะนำด้านการออกแบบประมูลมาให้ข้อมูล ส่วนรายละเอียดยังประชุมกันอยู่ทั้งเรื่องราคาเริ่มต้น สถานที่จัดการประมูล คาดว่าปลายเดือนมิ.ย.นี้ น่าจะรู้รายละเอียด หลังจากนำเข้าบอร์ดกทค. งบที่ใช้ในการประมูลเบื้องต้น 40 ล้านบาท ซึ่งจะพยายามประหยัดที่สุด


เรื่องนี้ถือเป็นภารกิจที่สำคัญ ของกสทช. เนื่องจากเป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ จะทำให้มีถนนทางด่วนข้อมูลของประเทศ ทำให้ติดต่อสื่อสารส่งผ่านความรู้ได้รวดเร็ว ทำให้ประเทศเรามีโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารที่ดี มีความเข้มแข็งที่จะต่อสู้กับโลก ซึ่งจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี) ในปี 2558


-มูลค่าที่รัฐจะได้จากการประมูล

มูลค่าการประมูลครั้งที่แล้วที่บอร์ดกสทช.ชุดเก่าประเมินไว้ คือ 15 เมกะเฮิร์ตซ์ จำนวน 12,800 ล้านบาทต่อ 1 ใบอนุญาต ซึ่งจะมีได้ 3 ใบ ซึ่งมีหลักในการคำนวณทางเศรษฐศาสตร์และปัจจัยต่างๆ รวมแล้วกว่า 3 หมื่นล้านบาท ได้กลับไปดูและเห็นวิธีคิดของบอร์ดชุดเก่า ก็เป็นวิธีการที่ถูกต้องอยู่แล้ว เพียงแต่ครั้งนี้จะมีปัจจัยบางอย่างเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่นี้ไม่ทำให้ตัวเลขเปลี่ยนแปลงไปมากหรือสุดโต่งไป คงบอกไม่ได้ว่าเท่าไหร่ แต่คงไม่เพิ่มมากขึ้นสุดขั้วไปจากครั้งที่แล้ว เนื่องจากครั้งที่แล้วก็คำนวณไว้ดีและถูกต้อง ตัวเลขก็สมเหตุสมผลเพียงแต่สถานการณ์เศรษฐกิจสังคม ความต้องการ ดีมานด์ ซัพพลาย เปลี่ยนแปลงไปบ้าง


ส่วนจะได้ใบอนุญาตกี่รายไม่ สามารถบอกได้ว่าใครจะเข้าร่วมประมูลบ้าง แต่วิธีการที่เรากำหนดไว้ไม่ว่ากี่รายก็เข้าร่วมประมูลได้ หากน้อยรายก็ต้องแข่งขันกันให้ได้ ถ้าถามว่าตัวเลขที่เราคาดหวังไว้ต่ำที่สุดเราอยากได้ 3 ราย ถ้าได้ 4 รายถือว่าดีมาก 5 ก็เกินความคาดหมาย ก็ต้องเข้าใจว่าอุตสาหกรรมโทรคมนาคมมันเป็นเรื่องปกติที่มีผู้เข้าร่วม ประมูลน้อยมาก เพราะต้นทุนการลงทุนสูงมาก อย่างราคาคลื่นความถี่เป็นหมื่นล้าน สร้างโครงข่ายอีก 4-5 หมื่นล้าน นักลงทุนที่มีทุนน้อยคงทำไม่ได้


นอกจากนี้ พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวกำหนดไว้ว่า การถือหุ้นของคนต่างด้าวในธุรกิจโทรคมนาคมไม่เกิน 49% โดย 51% เป็นของคนไทย จากที่ได้รับทราบจากนักลงทุนถือเป็นอุปสรรคอันหนึ่งเขาอยากให้เราเปิด เงื่อนไขข้อมูลมากขึ้น เราก็ต้องทำภายใต้กฎหมายที่มีอยู่ ขึ้นอยู่กับนโยบายของประเทศที่ต้องการจะเปิดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนหรือถือ หุ้นมากกว่านี้หรือไม่


ดังนั้น สิ่งที่ผมอยากเห็นคือ อย่างน้อยมีผู้เล่นในตลาดอย่างต่ำ 3 รายผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์จากการแข่งขันกัน ถ้าสองรายดูจะน้อยไปนิดนึง สุดท้ายมี 3 รายเกิดขึ้น ไม่ว่าด้วยวิธีใด แต่ต้องถูกกฎหมายถือว่า 3 รายแข่งขันในคลื่นความถี่นี้ได้อย่างสมบูรณ์ จะได้ประโยชน์ต่อประเทศและประชาชน

นี่คือ ความเคลื่อนไหวล่าสุดในการเปิดประมูล 3 จี
แต่จะเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

นสพ.ข่าวสด 17/6/55

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน