" กสทช." มองยาวล้อมคอกปัญหา "จอดำ" เตรียมเพิ่มเงื่อนไขใบอนุญาต ย้ำกติกา "ฟรีทีวี" คือบริการสาธารณะห้ามอ้างสิทธิ์ปิดกั้นคนดู คุมเข้มการนำเข้าจานและอุปกรณ์รับสัญญาณดาวเทียม ทั้งเพิ่มหน้าที่รับผิดชอบสังคม-ผู้บริโภคให้ผู้ประกอบการ ฝ่าฝืนมีโอกาสติด "แบล็กลิสต์" การอนุมัติต่อใบอนุญาต เร่งต้อนผู้ประกอบการเข้าระบบใบอนุญาต
พ.อ.นที ศุกลรัตน์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ (กสท.) กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ปัญหา "จอดำ" ในการรับชมฟุตบอลยูโร 2012 นอกจาก กสท.สั่งใช้มาตรการปรับทางปกครองวันละ 20,000 บาท กับบริษัท ทรูวิชั่นส์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 เนื่องจากขัดคำสั่งทางปกครองไม่ดำเนินการให้สมาชิกผู้รับบริการได้รับชม รายการโทรทัศน์ภาคปกติ รวมถึงการถ่ายทอดฟุตบอลยูโร 2012 ตามข้อกำหนดเงื่อนไขการ
ให้บริการ การโฆษณาของบริษัทที่แสดงต่อสาธารณะแล้ว ยังกำลังยกร่างหลักเกณฑ์เงื่อนไขใบอนุญาตและการกำหนดลักษณะการแพร่ภาพ
โดย จะระบุนิยามของบริการฟรีทีวีให้ชัดเจนว่า ต้องเป็นบริการพื้นฐานแบบทั่วไปที่ต้องดำเนินการตามหลักการ "Must-carry rules" ที่ผู้ชมต้องรับชมได้ทุกช่องทาง ไม่มีการปิดกั้นหรือมีข้อจำกัดในการเผยแพร่ เพื่อให้เจ้าของคอนเทนต์ทุกรายที่จะนำมาออกอากาศผ่านฟรีทีวี ยอมรับว่าจะไม่มีการอ้างสิทธิ์ใด ๆ หากเนื้อหาดังกล่าวจะมีการส่งผ่านไปสู่ระบบทีวีบอกรับสมาชิก
"เรื่อง ลิขสิทธิ์เป็นสิ่งที่เจ้าของสิทธิ์ดำเนินการได้ แต่ควรจำกัดอยู่ในวงใดวงหนึ่ง เมื่อขยายออกมาเผยแพร่ออกทางฟรีทีวีแล้วต้องยอมรับว่า ผู้บริโภคทุกคนเข้าถึงได้เป็นการทั่วไป เหตุการณ์นี้จึงเป็นบทเรียนสำคัญเช่นเดียวกับปัญหาการออกมาตรการทางปกครอง ที่ปัจจุบันยังจำกัดเฉพาะผู้ที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช.กรณีนี้มีแค่ฟรีทีวีกับทรูวิชั่นส์ที่ กสทช.ออกคำสั่งบังคับได้ แต่แกรมมี่หรือผู้ประกอบการทีวีดาวเทียม เคเบิลทีวียังไม่ได้รับใบอนุญาต กสทช.จึงไม่มีอำนาจเข้าไปบังคับ สิ่งที่ กสท.ต้องเร่งทำคือออกกฎกติกาเพื่อให้ผู้ประกอบการทุกรายเข้าสู่ระบบใบอนุญาต ให้เร็วที่สุด"
และต้องกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ที่ยังไม่ได้รับอนุญาตได้ ทราบด้วยว่า ถ้าวันข้างหน้าจะมาเป็นผู้ประกอบการทุกประเภทต้องมีความรับผิดชอบต่อสาธารณะ ไม่ใช่ใช้สิทธิ์จนกระทบต่อบริการทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อน และมีพฤติกรรมการใช้ช่องทางกฎหมายในการใช้ผู้บริโภคเป็นตัวประกัน เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทางธุรกิจโดยได้มอบหมายให้สำนักงาน กสทช.เร่งรัดดำเนินการจัดทำหลักเกณฑ์และแนวทางพิจารณาการออกใบอนุญาตประกอบ กิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ในอนาคตว่า ต้องมีปัจจัยที่คำนึงถึงพฤติการณ์หรือพฤติกรรมที่ผ่านมาของผู้ขอรับใบอนุญาต ที่มีผลกระทบต่อการแข่งขันในตลาด และผู้บริโภค ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เป็นสำคัญ ซึ่งจะเร่งรัดจัดทำหลักเกณฑ์ทั้งหมดเพื่อประกาศใช้ให้ได้ภายในส.ค.นี้
ด้าน น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. และ กสท.ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคกล่าวว่า หากตัดข้อจำกัดเรื่องลิขสิทธิ์ออกไป กรณีบอลยูโรมาจากระบบการรับสัญญาณทีวีภาคพื้นดินของไทย
ล้าสมัย และการเกิดขึ้นของทีวีดิจิทัลมาช้าเกินไป ทำให้มีแต่ไทย ลาว และพม่าที่ยังไม่ได้เปลี่ยนเข้าสู่ระบบทีวีดิจิทัล กสทช. จึงต้องเร่งแผนการเปลี่ยนผ่านเพื่อยกเลิกการแพร่ภาพระบบแอนะล็อก และต่อไป กสทช.อาจเข้าไปกำกับการนำเข้ากล่องรับสัญญาณ (set-top box) ทุกประเภท เพราะที่ผ่านมาไม่มีการกำกับดูแลใด ๆต่างจากอุปกรณ์โทรคมนาคมที่มีการตรวจสอบขึ้นทะเบียนทั้งหมด
นอกจาก นี้ ต้องดำเนินการออกกติกา "Must-carry rules" สำหรับฟรีทีวีในช่องเคเบิล และทีวีดาวเทียม พร้อมกำหนดเงื่อนไขว่า เนื้อหาใดที่มีลิขสิทธิ์เฉพาะ (exclusive rights) ได้ รวมถึงการออกประกาศเรื่องมาตรฐานสัญญาการให้บริการระหว่างผู้ประกอบการและ สมาชิก เพื่อคุ้มครองสิทธิ์ผู้บริโภคให้ชัดเจน ที่สำคัญภายในปีนี้ผู้ประกอบการช่องรายการทีวีดาวเทียม และเคเบิลทีวีท้องถิ่นทั้งหมดต้องมาลงทะเบียนรับใบอนุญาต เพื่อให้ กสทช.เข้าไปกำกับดูแลได้ หากเปิดให้บริการโดยไม่มีใบอนุญาตมีโทษทั้งทางแพ่งและอาญา
"ช่องฟรี ทีวีไม่มีใครลงทุนสร้างเสาสัญญาณที่มีคุณภาพ ผู้บริโภคเลยหันไปพึ่งดาวเทียม และช่องเคเบิล การให้บริการรายการต่าง ๆ ก็ไม่ทำให้ชัดเจนทางกฎหมาย ใช้สมยอมกัน จีเอ็มเอ็มฯ หวังรายได้จากการขายกล่อง ค่าโฆษณา บ้านเรามีช่องโหว่ทางกฎหมายจึงปั่นป่วน"
น.ส.สุภิญญากล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาเอกชนเห็นว่า กสทช.ควรออกกฎน้อย ๆ เพราะกลไกตลาดจะทำงานเอง แต่กรณีที่เกิดขึ้นเห็นชัดเจนว่า นอกจากกลไกการแข่งขันจะทำงานผิดเพี้ยนแล้ว ผู้บริโภคยังโดนจับเป็นตัวประกัน กสทช.จึงต้องออกกฎเพิ่มเติมเพื่อกำกับเอกชนให้เข้มข้นขึ้น
นสพ.ประชาชาติธุรกิจ 17/6/55